xs
xsm
sm
md
lg

“ราคาปิโตรเลียมลดลงทั่วโลก” รัฐบาลพลเอกประยุทธ์มี “วิสัยทัศน์”อะไรบ้างหรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์ โอชา ยังไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ให้ประชาชนได้ทราบว่า แล้วประเทศไทยควรจะขับเคลื่อนไปอย่างไร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศมีความขัดแย้งในลักษณะที่มีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมนั้น ราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติทั่วโลกมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องอย่างยาวนาน

ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศไทยควรจะมองประเด็นอะไรบ้าง? ที่ควรจะแสดงวิสัยทัศน์ต่อประชาชนให้ได้เห็น

1.ช่วงเวลานี้ไม่ใช่เวลาประเคนการให้ “สิทธิขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียม” ให้เอกชนต่างชาติ เพราะไม่ว่าจะเป็นระบบสัมปทาน (เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม) หรือระบบแบ่งปันผลผลิต(รัฐสำรวจเบื้องต้นและเอกชนผลิตปิโตรเลียม) หากราคาปิโตรเลียมอยู่ในระดับต่ำนั้น ย่อมไม่สร้างแรงจูงใจให้เอกชนเกิดการแข่งขันอย่างแน่นอน

นั่นหมายถึงว่าในความเป็นจริงแม้ต่อให้แหล่งปิโตรเลียมมีศักยภาพสูง และมีการเปิดประมูล ก็ไม่แน่ว่าจะมีผู้สนใจมากพอเข้ามาประมูลแข่งขันได้จริง ดังนั้นหากมีการเปิดให้มีการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ก็อาจอยู่บนเงื่อนไขที่เอกชนต้องได้รับประโยชน์หรืออำนาจต่อรองสูงผิดปกติ และรัฐบาลไทยก็ต้องยอมจำนนที่จะได้ผลประโยชน์หรืออำนาจต่อรองต่ำผิดปกติเช่นกัน ในจังหวะราคาปิโตรเลียมที่ต่ำเช่นนี้จึงไม่ใช่เวลาเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่อย่างแน่นอน

โดยเฉพาะในระบบสัมปทานนั้นเมื่อราคาปิโตรเลียมลดลง เอกชนก็สามารถลดกำลังการผลิตได้ ดังนั้นระบบสัมปทานเดิมที่ใช้กันอยู่นั้นจึงไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องความมั่นคงทางพลังงานและความต่อเนื่องในการผลิตและใช้พลังงานให้กับประเทศได้เช่นกัน

2.ช่วงเวลานี้เหมาะอย่างยิ่งกับการ “ลงทุนสำรวจ” ปิโตรเลียมโดยรัฐบาล เมื่อราคาปิโตรเลียมตกต่ำลงทั่วโลก เครื่องมือ เครื่องจักร และบุคลากรทั่วโลก ย่อมล้นตลาดไปด้วย เพราะราคาปิโตรเลียมต่ำลงทำให้แรงจูงใจที่จะขุดเพื่อมาผลิตปิโตรเลียมน้อยลง จึงย่อมส่งผลทำให้เครื่องมือ เครื่องจักร และบุคลากรด้านการสำรวจปิโตรเลียมย่อมมีราคาต่ำลงไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะอย่างยิ่ง หากรัฐบาลจะเดินหน้าเป็นเจ้าภาพใช้จังหวะที่ราคาปิโตรเลียมลดลงทั่วโลก เปิดประมูลให้เอกชนสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีศักยภาพ ทั้งพื้นที่ข้างเคียงแปลงสัมปทานเดิม และพื้นที่ซึ่งมีการสำรวจทางอากาศและทางธรณีวิทยาแล้วพบว่าน่าจะมีปิโตรเลียม เพื่อใช้ข้อมูลการสำรวจแล้วรอจังหวะเวลาเมื่อราคาปิโตรเลียมสูงขึ้นจนเกิดบรรยากาศการแข่งขันเกิดขึ้นจริงกว่านี้ แล้วจึงค่อยเปิดประมูลแข่งขันให้เอกชนเสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือเปิดประมูลแข่งขันให้เอกชนเสนอราคารับจ้างผลิตให้รัฐบาลในราคาที่ต่ำที่สุด

3.สำหรับแหล่งปิโตรเลียมไทยที่มีศักยภาพสูงควรจ้างผลิต เช่น แหล่งบงกช และเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมกำลังจะหมดอายุสัมปทานลง รวมถึงการรับทราบศักยภาพของปิโตรเลียมจากการลงทุนสำรวจโดยรัฐบาลตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว รัฐบาลควรเปิดประมูลให้เอกชนได้เข้ามาแข่งขันในระบบจ้างผลิต ซึ่งเป็นรูปแบบที่รัฐเป็นเจ้าของปิโตรเลียม 100 เปอร์เซ็นต์ และให้เอกชนประมูลเสนอราคารับจ้างผลิตปิโตรเลียมเป็นตัวเงินต่ำที่สุดโดยเพิ่มแรงจูงใจด้วยปริมาณปิโตรเลียมที่พบ เพราะเครื่องจักรและเครื่องมือสำหรับใช้ในการผลิตปิโตรเลียมมีราคาถูกลงทั่วโลก

อย่างไรก็ตามรัฐบาลก็อาจจะเสียเปรียบเพราะปิโตรเลียมที่ได้นั้นมีราคาต่ำไปด้วย ในเวลานี้จึงย่อมไม่เหมาะที่จะนำปิโตรเลียมไปแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ จึงควรส่งเสริมการนำเข้าปิโตรเลียมเพื่อรอจังหวะเวลาที่ปิโตรเลียมมีราคาสูงกว่านี้

แต่หากมีความจำเป็นเพื่อใช้เป็นสาธารณูปโภค เช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อมาผลิตไฟฟ้า และ ใช้หุงต้มในครัวเรือน และการขนส่ง ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ต้องจัดหาให้เพียงพออยู่แล้วนั้น การใช้ระบบจ้างผลิตในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีศักยภาพและราคาไม่สูงนั้น ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศโดยรวม ให้มีศักยภาพในการแข่งขันต้นทุนทางสาธารณูปโภคให้กับภาคธุรกิจได้

4. เป็นช่วงเวลาปฏิรูปกฎหมายปิโตรเลียมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน เพราะเมื่อความเร่งรีบไม่ใช่คำตอบในภาวะที่ปิโตรเลียมราคาลดลง ตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะทำการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อุดช่องโหว่และการรั่วไหลที่มีอยู่ ทำให้เกิดความโปร่งใส ข้ออ้างเรื่องความเร่งรีบจึงฟังไม่ขึ้น

ความเร่งรีบที่ใช้มาเป็นข้ออ้างก่อนหน้านี้ว่าไฟฟ้าจะดับนั้น ไม่สามารถฟังขึ้นได้แล้ว เมื่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 นั้นมีการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินไปอย่างมากมายมหาศาล จนรองปลัดกระทรวงพลังงานท่านหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะแก้ไขปัญหาการผลิตไฟฟ้าเกินด้วยการส่งออกไปต่างประเทศในระบบโครงข่ายเชื่อมโครงข่าย (Grid to Grid)

ดังนั้นเพียงแค่ประเทศไทยวางแผนเปลี่ยนให้การใช้ก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้ามากขึ้นแทนการใช้เพื่อผลิตปิโตรเคมี ทำการเปิดประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตหรือจ้างผลิตแหล่งปิโตรเลียม 5 แปลงที่มีศักยภาพในอ่าวไทย และเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีกปีละ 200 เมกะวัตต์ แม้ต่อให้เกิดรอยต่อในช่วงการโอนถ่ายแหล่งปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงนั้นในอีก 6-7 ปีข้างหน้า เพื่อนำแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งนั้นกลับมาเป็นของรัฐไทยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ประเทศไทยก็จะไม่ขาดแคลนการผลิตไฟฟ้าแต่ประการใด

ดังนั้นเมื่อการบริหารจัดการสามารถตอบโจทย์”ความต่อเนื่อง” เพื่อนำมาสู่ “ความมั่นคง”การได้แหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพกลับมาเป็นของชาติเป็นครั้งแรกได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่ควรมีข้ออ้างใดๆแล้วที่จะเร่งรีบผลักดันกฎหมายปิโตรเลียมที่ยังไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมดตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เพื่อผลักดันการเปิดสัมปทานอย่างเร่งรีบแต่ประการใด

5.เป็นจังหวะเวลาส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตปิโตรเคมีจากต่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขในสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศซึ่งมีการผูกสูตรไปกับน้ำมันเตานั้นมีราคาสูงกว่าวัตถุดิบเพื่อผลิตปิโตรเคมี เช่น โพรเพน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรปรับนโยบายโดยให้นำก๊าซธรรมชาติในเครือ ปตท.ที่เคยส่งให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มาสนับสนุนการผลิตไฟฟ้า ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมทั่วไปเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีก๊าซเพียงพอสำหรับกลุ่มดังกล่าวในประเทศไทยแล้ว และให้กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตปิโตรเคมีจากต่างประเทศซึ่งถูกกว่าเอาเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตปิโตรเคมีแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการใช้น้ำมันในภาคขนส่งไปด้วย

นอกจากนี้ปัญหาที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้ระบุว่ามลพิษในกลุ่มฝุ่นละออง 2.5-10 ไมครอน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดและโรคหัวใจนั้น จากงานวิจัยพบว่าสามารถลดลงได้ด้วยการให้ภาคขนส่งที่หันมาใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น

การดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดต้นทุนเกือบทุกฝ่าย (ยกเว้นธุรกิจพลังงานที่มีกำไรเกินสมควร)แล้ว ยังจะส่งผลช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงที่จะสามารถช่วยผู้ส่งออกและการท่องเที่ยวในภาพรวมได้อีกด้วย

6.เป็นจังหวะเวลาที่จะได้ทบทวนราคาปิโตรเลียมใหม่ให้ถูกลงกว่านี้ เมื่อราคาปิโตรเลียมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของไทยไม่ลดลงอย่างที่ควรจะเป็นตามราคาตลาดโลก บางปัญหาเกิดจากสูตรราคาพลังงาน (เช่น ราคาน้ำมันอิงราคาที่สิงคโปร์แล้วบวกเพิ่มอีกหลายอย่างที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ราคาก๊าซธรรมชาติที่ผูกสูตรกับราคาน้ำมันเตา ฯลฯ) บางปัญหาเกิดจากราคาวัตถุดิบ (เช่น ราคาเอทานอล) ที่ประกาศไม่สอดคล้องกับราคาตลาดจริง บางปัญหาเกิดจากกองทุนน้ำมันที่เก็บเงินมากเกินไปจนผิดวัตถุประสงค์เดิมในการรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน บางปัญหาเกิดจากค่าการตลาดสูงเกินไป ฯลฯ

ไม่ว่าจะพิจารณาในมิติใด ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศให้มีราคาถูกกว่านี้

มักจะมีคำกล่าวอ้างว่าถ้าราคาปิโตรเลียมลดลงแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่ประหยัด แต่ในความเป็นจริงแล้วปิโตรเลียมหลายประเภทไม่ได้อยู่ในฐานะสินค้าฟุ่มเฟือย แต่บางส่วนเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่ว่าถูกหรือแพง ประชาชนก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้ในปริมาณเดิม และบางส่วนก็เป็นต้นทุนพลังงานที่จะต้องผลิตเป็นสินค้า การขนส่ง และบริการที่จำเป็นต้องมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ด้วย การมองมิติเดียวว่าจะทำให้ประชาชนไม่ประหยัดนั้น จึงเป็นการมองไม่ครบถ้วนทุกมิติในทางเศรษฐศาสตร์

ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคืองทั่วโลกเช่นนี้ ราคาปิโตรเลียมจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นนโยบายปิโตรเลียมที่ยึดเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวตั้ง จะสามารถครองหัวใจประชาชนทั้งประเทศได้

อยู่ที่ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกที่จะครองหัวใจกลุ่มทุนพลังงาน หรือครองหัวใจคนทั้งประเทศ?


กำลังโหลดความคิดเห็น