xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“มาร์ค–เทือก”งัดข้อ ไม่มีศึกนอกเลยซัดกันเอง !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เริ่มไปกันใหญ่สำหรับศึกในที่เริ่มระอุกันมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งจะว่าไปเอาจริงๆ คนพรรคประชาธิปัตย์ร้าวลึกกันมาตั้งแต่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มากบารมีพรรคสะตอ นำลูกกรอก 9 คน ลาออกจากพรรคไปสู้กับสมุนทักษิณ ชินวัตร บนถนน ต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย จนโค่นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงจากอำนาจได้สำเร็จ

แต่ผ่านไปเกือบสองปีแผลบาดลึกที่ซ่อนอยู่ข้างในเริ่มเน่าใน และคละคลุ้งออกมาให้คนเห็นว่า พรรคที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไม่ได้มีความเป็นเอกภาพตามที่เห็นในฉากหน้า

สุเทพ กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยรักกันมา สู้ม็อบเผาเมืองมาด้วยกัน ชนิดทิดเทือก อาสาติดคุกแทนหากการสลายการชุมนุมครั้งนั้นมีความผิด แต่มาถึงชั่วโมงนี้ น้ำผึ้งที่เคยหวานกลับกลายเป็นขมปี๋ อดีตนายกรัฐมนตรี กับอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เคยรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันมา กลับต้องหยิบอาวุธเข้ามาห้ำหั่นกันเองแบบต้องตายกันไปข้าง เพื่อยึดอำนาจนำภายในพรรคประชาธิปัตย์ ให้ได้

เหตุก็เพราะอภิสิทธิ์คนที่สุเทพเคยไว้ใจ กลับทำลายความไว้ใจของสุเทพ ตั้งแต่เมื่อครั้งปอดแหก ไม่นำส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากพรรค ยกกำลังตามมาสู้ศึกนิรโทษกรรม เพียงเพราะอภิสิทธิ์เชื่อ "แก๊งไอติม" ที่รายล้อมอยู่ข้างกายมากกว่า ซึ่งหากย้อนไปดูบนเวที กปปส. อภิสิทธิ์แทบจะไม่เคยปรากฏตัวบนเวทีเลย ทำได้แค่แสดงบทบาทโดยการไปเยี่ยมเยียน เฉี่ยวๆ อยู่ข้างเวที

ผิดกับบรรดาลูกกรอกที่เคลื่อนขบวนนำเต็มที่ สู้หมดหน้าตัก หนำซ้ำ เด็กพรรคประชาธิปัตย์ก๊วนอภิสิทธิ์บางคน เช่น กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ก็ไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์เคลื่อนพลไปยึดกระทรวงการคลัง ถึงขั้นโพสต์เฟซบุ๊กด่าพ่อล่อแม่กันมาแล้ว จนเกิดวาทะเชือดเฉือนว่า “กูก็ไม่เอามึง”

ลิ่มความขัดแย้งเริ่มปรากฏ เมื่อแผลในใจที่ถูกปิดมาแรมปีหลัง“กำนันเทือก”ตัดสินใจบวชและลาสิกขาออกมา ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าจะไม่กลับมาสวมเสื้อพรรคประชาธิปัตย์อีก พร้อมตั้งมูลนิธิมวลมหาประชาชนขึ้น เพื่อใช้เป็นฐานเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เดินเกมทั้งบนดินและใต้ดิน ติดต่อเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ ให้มาร่วมสืบทอดอำนาจต่อจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยการวางกลยุทธ์ทางการเมืองไว้หลายทาง แม้กระทั่งสูตรตั้งพรรคใหม่ แต่สุดท้ายบวกลบคูณหารแล้วว่าไม่เวิร์ก เพราะมีบทเรียนในอดีตให้เห็นมาแล้ว

สูตรของสุเทพไม่มีทางอื่น นอกจากจะต้องยึดพรรคประชาธิปัตย์จากอ้อมอกของอภิสิทธิ์ ที่ถูกคนนินทาหมาดูถูกว่า ไม่เคยชนะการเลือกตั้ง แถมยังเป็นผู้นำฝ่ายค้านยาวนานที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่การจะยึดได้ จะต้องรื้อโครงสร้างพรรคใหม่ พร้อมเขี่ยอภิสิทธิ์ ที่ถูกมองว่าช้ำแล้วในทางการเมือง ไม่สามารถนำกลับมาเล่นใหม่ได้ออกไปก่อน แล้วส่งแคนดิเดตผู้นำคนใหม่เข้าประกวด ซึ่งกำหนดสเปกไว้ว่า ไม่ต้องหล่อ ไม่ต้องดูดี ไม่ต้องมีหลักการ ขอแค่ทำตามใบสั่ง ซ้ายหัน ขวาหัน ได้เป็นพอ

ตัวเลือกแรกจิ้มไปที่“ชายหมู”ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ครั้งหนึ่งเคยโดนแก๊งไอติมเลื่อยขาเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.มาแล้ว แต่กลับเป็นสุเทพ ที่ขณะนั้นยังเป็นผู้มากบารมีในพรรคออกหน้ามาอุ้ม เพื่อให้ได้ลงสมัครผู้ว่าฯกทม. เบียดเด็กในคาถาอภิสิทธิ์ กระเด็นกระดอนไปหมด พร้อมทั้งช่วยหาเสียงเพื่อให้ได้เป็นผู้ว่าฯกทม. สมัยสอง

เรื่อง "แผนล้มมาร์ค" รู้ถึงหู อภิสิทธิ์ต้องแจ้นมาฟ้องสื่อเพื่อให้ช่วยเซฟเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้ แถมไฟเขียวให้ “คู่หู 2 ว.” วิลาส จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. และ วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแฉปมทุจริตในกทม. โดยพุ่งเป้าไปที่ความโหลยโท่ยของ “ชายหมู”เพื่อเป็นการดิสเครดิต นอกจากนี้ ยังมีขบวนการปล่อยข่าวตั้งพรรคใหม่ พร้อมทุน 3 พันล้านบาท เล่นงานจน“ชายหมู”เสียหลัก

เป็นที่รู้กันว่า การถล่ม“ชายหมู”ครั้งนั้นเป็นเหมือนสกัดดาวรุ่ง และเป็นการส่งสัญญาณไปยังสุเทพว่า การฮุบพรรคประชาธิปัตย์ และโค่นอภิสิทธิ์ลงจากหอคอยงาช้างไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะที่สุเทพเองก็ยังไม่หยุดความพยายาม ลุยควานหาตัวเลือกใหม่ที่จะมาเบียด อภิสิทธิ์ ปล่อยข่าวไปเรื่อยๆ ซึ่งช่วงปีใหม่ก็มีการปล่อยข่าวจาก ส.ส.ภาคใต้ว่า จะมีการผลักดัน "สุรินทร์ พิศสุวรรณ"อดีตเลขาธิการอาเซียน ขึ้นมาเป็นตัวชูโรงในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ปรากฏว่า ผลตอบรับออกมาไม่แย่เท่า“ชายหมู” เพราะแม้จะมีแรงต้านออกมา แต่ก็มีแรงหนุนจากภายในพรรคไม่น้อยเหมือนกัน เพราะทุกคนในพรรคก็รู้ดีว่า หากยังดันทุรังส่งอภิสิทธิ์ที่ ช้ำแล้วช้ำอีกจนขายไม่ออกเข้าแย่งชิงผู้นำประเทศในศึกเลือกตั้งครั้งหน้าอีกหน ก็เตรียมผ้าเช็ดหน้าไว้เช็ดน้ำตาเหมือนที่แล้วๆ มาได้เลย สู้รีแบรนด์ เปลี่ยนผู้นำ ปรับภาพลักษณ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ดีกว่า หากปล่อยไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน มันจะไม่ทันการณ์

เมื่อเวลาเหลือน้อย ปัญหาของอภิสิทธิ์ และสุเทพ จึงต้องรีบเคลียร์กันให้จบว่าจะยึดแนวทางไหนในการนำพรรค หากจะยึดแนวทางเดิมตามสไตล์อภิสิทธิ์ ก็ต้องรีบสงบศึก คัดคนลงพื้นที่ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ยังพอเพิ่มจำนวนส.ส.ให้พรรคได้ แต่หากจะรีแบรนด์ เปลี่ยนผู้นำ ต้องทำแต่เนิ่นๆ ต้องรีบชูนโยบายใหม่ ผู้นำใหม่ ให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่เช่นนั้นจะตกที่นั่งลำบาก ยิ่งรูปแบบของรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดที่มานายกฯ ยังไม่ชัดเจน คนพรรคประชาธิปัตย์ก็ ไม่มีทางไว้ใจอะไรได้ทั้งนั้น

สูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เอื้ออำนวยให้พรรคสีฟ้า สามารถจับมือกับพรรคเล็ก พรรคขนาดกลาง ที่อาจเป็นเงาของพรรคทหารจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้เก้าอี้นายกฯสูง เพราะในพรรคไม่มีความเป็นเอกภาพ นอกจากนี้ อาจพลาดกระทรวงเกรดเอ ถูกเฉือนไปให้พรรคหรือกลุ่มการเมืองอื่นได้ง่ายขึ้น กลายเป็นพรรครองบ่าให้เขาเหยียบไหล่ขึ้นเถลิงอำนาจแทน

อภิสิทธิ์กับสุเทพ ก็เหมือนน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า วันใดหากอภิสิทธิ์ขาดสุเทพ ก็ไม่สามารถต่อติดกับทหารได้ วันใดที่สุเทพไร้อภิสิทธิ์ ก็เหมือนไม่มีตัวตนในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะผู้ใหญ่ในพรรค ยังหนุนหล่อใหญ่สุดลิ่มทิ่มประตู หากจะครองอำนาจพรรคประชาธิปัตย์ ต้องจบศึกขัดแย้งให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยให้ถึงขั้นแยกพรรค แยกกอ แยกเหล่าออกกันไป จนกลายเป็นพรรคเน่าหนอนที่ไม่มีใครเอา


กำลังโหลดความคิดเห็น