xs
xsm
sm
md
lg

ลมปากประยุทธ์เรื่องพอเพียง

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ทักษิณร่ำรวยมาจากสัมปทานผูกขาดเข้ามาสู่การเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจ เป็นการเอาทุนกับอำนาจทางการเมืองมาผูกเข้าด้วยกัน จนกระทั่งใช้อำนาจทางการเมืองแก้กฎหมายเพื่อให้ธุรกิจของตัวเองได้ประโยชน์

และดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจแบบกระตุ้นให้เกิดการบริโภคขึ้นในประเทศ มีการเอาเงินไปแจกจ่ายให้ประชาชนใช้สอยนำไปใช้จ่าย มีการปล่อยเงินกู้กระตุ้นให้ประชาชนกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินไปใช้ให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ

คนที่ได้ประโยชน์ก็คือ กลุ่มทุน และเมื่อกลุ่มทุนกับกลุ่มที่มีอำนาจทางการเมืองเป็นคนกลุ่มเดียวกัน นโยบายทางการเมืองของผู้มีอำนาจจึงเป็นการตอบประโยชน์ของกลุ่มทุนมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

ทักษิณอ้างอำนาจของระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่เขาเริ่มต้นด้วยการใช้อำนาจเงินในการซื้อตัว ส.ส. ซื้อหัวคะแนน ซื้อพรรคการเมือง ระบอบประชาธิปไตยนั้นอำนาจของประชาชนเป็นใหญ่มุ่งเน้นในการรับใช้ประโยชน์ของส่วนรวม แต่ธาตุแท้ของทักษิณเป็นนายทุนที่มุ่งกำไรเป็นสำคัญ

ประชาชนกลุ่มหนึ่งมองเห็นการฉ้อฉลของทักษิณทั้งการสร้างอำนาจทางการเมืองเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ จึงออกมาขับไล่และต่อสู้จนเป็นความขัดแย้งทางการเมืองมาเป็นเวลา 10 ปี ความขัดแย้งของประชาชนไม่ใช่มีพื้นฐานมาจากความไม่มีเหตุผลเหมือนที่นักเรียนช่างกลยกพวกตีกัน แต่เกิดจากกลุ่มหนึ่งมองเห็นความฉ้อฉลของทักษิณ แต่คนกลุ่มหนึ่งมองเห็นผลประโยชน์ที่ทักษิณหยิบยื่นให้

ในขณะที่โลกยึดมั่นในกระแสทุนนิยม เสรีนิยม และประชาธิปไตยเป็นใหญ่ ทักษิณจึงยืนอยู่ฟากเดียวกับกระแสโลก โดยไม่ได้สนใจว่าเมื่อมีอำนาจแล้วทักษิณใช้อำนาจอย่างไร ทำให้ทักษิณและพวกเอาไปอ้างได้ตลอดเวลาว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย โดยลืมไปว่าทักษิณเป็นกลุ่มทุนโดยจุดเน้นของทุนนิยมคือการแสวงหากำไร เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย

ประชาธิปไตยคือการรับใช้ประชาชน ทุนนิยมคือความมั่งคั่ง แต่เรามีผู้นำทางการเมืองและกลุ่มทุนเป็นคนเดียวกัน ในฐานะนักการเมืองทักษิณจึงต้องเอาใจประชาชนด้วยการเอาเงินไปแจกให้ประชาชนมีเงินใช้สอย ในฐานะนายทุนการใช้สอยของประชาชนคือประโยชน์ของกลุ่มทุนนั่นคือกำไร แต่ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีผู้ด้อยโอกาสและคนยากจนมากกว่าคนรวยพวกเขาพอใจสิ่งที่ทักษิณหยิบยื่นให้ โอกาสทักษิณที่จะสถาปนาตัวเองเป็นนักบุญและเทพเจ้าองค์ใหม่จึงมีมากขึ้น

เขาสร้างโอกาสให้ประชาชนที่เข้าไปเลือกตั้งในคูหาได้ประโยชน์มากกว่าการได้ ส.ส.ไม่ใช่แค่ถึงเวลาก็ออกมาเลือกกันครั้งหนึ่ง แต่ตอบแทนการมาเลือกตั้งด้วยนโยบายประชานิยมที่เอาเงินมาแจกสอนให้ประชาชนไม่ต้องดิ้นรนทำกิน จนเรียกกันว่าประชาธิปไตยที่กินได้ แต่เราก็ต้องโทษระบบการเมืองในอดีตด้วยที่มองประชาชนเป็นเพียงผู้ใต้อุปถัมภ์ ในขณะที่ทักษิณมองประชาชนเป็นกลุ่มลูกค้าที่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน

ระบบอุปถัมภ์ในอดีตนั้น นักการเมืองเป็นผู้อุปถัมภ์ในฐานะผู้ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ทั้งในอำนาจทางการเมือง ในการติดต่อกับทางราชการ การพึ่งพิงทางเศรษฐกิจ การหยิบยืมบารมีเพื่อเพิ่มสถานะทางสังคม เป็นทั้งที่พึ่งในทางวัตถุและในทางจิตใจ แต่ทักษิณสร้างระบบอุปถัมภ์ใหม่ขึ้นมาในฐานะคู่ค้าระหว่างอำนาจกับประชาชน โดยเอาเงินของรัฐไปให้ประชาชน แล้วประชาชนเอาเงินของรัฐไปจับจ่ายใช้สอยให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเกิดประโยชน์กับกลุ่มทุน

ทักษิณมองประเทศเป็นแหล่งผลประโยชน์ มองประเทศเป็นตลาดใหญ่ที่เขาจะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ไม่ผิดในแง่ของหลักการทุนนิยมและเสรีนิยม แต่ทักษิณมีอำนาจทางการเมืองด้วย เขาเป็นทั้งผู้กำหนดนโยบายประเทศและเจ้าของตลาดและสินค้า สิ่งที่ทักษิณคำนึงก็คือ ผลประโยชน์ของตัวเองต้องมาก่อน เขาใช้นโยบายเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง จนเรียกกันว่าทุนสามานย์และระบอบทักษิณ จนประชาชนต้องออกมาขับไล่

คนที่ทักษิณใช้ก็คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด

ไม่ต้องเล่าย้อนไปถึงความขัดแย้งทางการเมืองจนนำมาสู่การรัฐประหาร จนถึงยุคของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามายึดอำนาจและเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งบางครั้งเราก็ได้ยินพล.อ.ประยุทธ์พูดเหมือนกับเข้าใจว่า ระบอบทักษิณเป็นปัญหาของบ้านเมือง แต่บางทีก็พูดราวกับว่าความขัดแย้งของประชาชนนั้นเหมือนกับเด็กช่างกลยกพวกตีกัน

พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อครั้งเข้าร่วมการประชุม “POST 2015 Summit” ที่เป็นหนึ่งในการประชุมย่อยของสมัชชาใหญ่ยูเอ็น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ภายใต้หัวข้อ “Ending Poverty and Hunger” ตอนหนึ่งระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลชุดปัจจุบันของไทย ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาประเทศ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึงบนหลักของ “ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” เพื่อรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ การพัฒนาที่ประเทศไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนตามหลักดังกล่าวนี้ ยังมุ่งเน้นให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ด้วยการสร้างงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่เน้นวัตถุนิยม - บริโภคนิยม

ผมเข้าใจนะว่า พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องปฏิเสธระบบทุนนิยมซึ่งเป็นแนวทางของโลก แต่คงจะหมายถึงการยืนอยู่บนกระแสทุนนิยมด้วยการมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องเตือนสติ

แต่เราต้องไม่ลืมว่า ขุนพลเศรษฐกิจของพล.อ.ประยุทธ์ก็คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คนเดียวกับที่ทักษิณใช้

ถ้าจำกันได้พอเปลี่ยนตัวสมคิดมาดูแลด้านเศรษฐกิจ สิ่งที่สมคิดทำทันทีก็คือ การประกาศใช้นโยบายประชานิยมด้วยการปล่อยเงินกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้านวงเงินราว 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคือมาตรการให้ประชาชนเป็นหนี้ โดยอ้างว่านี่คือ ประชารัฐไม่ใช่ประชานิยม

ก่อนจะสิ้นปีที่ผ่านมา สมคิดก็ออกนโยบายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่เรียกกันว่า “ช้อปปิ้งช่วยชาติ” โดยอ้างว่า ประชาชนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ คนก็เฮกันไปแน่นห้างสรรพสินค้า ทั้งที่เข้าใจมาตรการที่แท้จริงบ้างไม่เข้าใจบ้าง บางคนนึกว่า ไปซื้อตู้เย็น 2 หมื่น เดี๋ยวรัฐจะให้คืนมาหมื่นห้า บางคนลืมว่า ตัวเองไม่อยู่ในฐานต้องเสียภาษีแต่คิดว่า เดี๋ยวจะได้เงินคืนจากรัฐหมื่นห้า ที่ตลกคือ หลังปีใหม่รัฐประกาศว่าคนเงินเดือน 3 หมื่นไม่ต้องเสียภาษีที่เก็บใบเสร็จไว้จะไปลดหย่อนภาษีก็ไม่ต้องใช้แล้ว

เสร็จแล้วสมคิดก็ตั้งกลุ่มนายทุนเข้าไปร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (แล้ววงเล็บว่าประชารัฐซึ่งไม่รู้ว่าประชารัฐตรงไหน) ตามรายชื่อแล้วเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ในประเทศนี้ทั้งนั้น

ดูแล้วเศรษฐกิจพอเพียงที่พล.อ.ประยุทธ์ชอบท่องเวลาไปต่างประเทศก็เป็นเพียงมธุรสวาจาที่พ่นออกมาให้โก้เก๋เท่านั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น