xs
xsm
sm
md
lg

แนะปรับนโยบายประชารัฐ ควรเน้นวางรากฐานเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักเศรษฐศาสตร์ มธ. วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ชี้นโยบายประชารัฐ เป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจระดับจำกัด ขณะที่นักวิชาการทีดีอาร์ไอ มองนโยบายของรัฐบาล แทบไม่มีอะไรใหม่

นายภาวิน ศิริประภานุกูล นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยระหว่างแถลงข่าวโครงการติดตามนโยบายเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า นโยบายเศรษฐกิจชุดแรกของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างมาก และมีแนวโน้มสร้างภาระทางสังคม และภาระทางการคลังระยะยาว

ดังนั้น จึงมีคำถามกลับว่ามีลักษณะเหมือนกับนโยบายประชานิยม เพราะไม่แน่ใจว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ระยะยาวได้หรือไม่ ขณะที่รัฐบาลพยายามเน้นนิยามคำว่า “นโยบายประชารัฐ” หมายถึง นโยบายส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ใช่การหาเสียงสำหรับตนเอง เพื่อต้องการแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ จึงไม่ใช่นโยบายประชานิยม นโยบายประชารัฐจึงถูกนำมาใช้แทนนโยบายประชานิยม ขณะที่นโยบายประชารัฐต้องการวางรากฐานระยะยาว จากการติดตามการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพบว่าให้น้ำหนักกับการวางรากฐานเศรษฐกิจระดับจำกัด

ทั้งนี้ จากการศึกษาติดตามนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้น ทั้งการปล่อยสินเชื่อให้กองทุนหมู่บ้านระดับ A, B วงเงิน 60,000 ล้านบาท มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลละ 5 ล้านบาท วงเงิน 36,725 ล้านบาท มาตรการกระะตุ้นการลงทุนขนาดเล็กทั่วประเทศ วงเงิน 40,000 ล้านบาท การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 100,000 ล้านบาท จึงมีความกังวลว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมโดยไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐบาลให้น้ำหนักกับการวางรากฐานทางเศรษฐกิจมากขึ้น ด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลดความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจ การจัดการปัญหาคอร์รัปชัน การส่งเสริมวิจัยและพัฒนาของภาคการผลิต

นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สาธาณะสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า นโยบายของรัฐบาลแทบไม่มีอะไรใหม่ การช่วยเหลือภาคเกษตรไม่เปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลเดิม เพราะช่วยเหลือชาวสวนยางพาราลักษณะเดิม

ส่วนเกษตรแปลงใหญ่ ก็คล้ายกับระบบคอมมูนของจีน ด้วยการให้ข้าราชการตัดสินใจ การผลักดันให้เปลี่ยนจากข้าวมาปลูกอ้อย เป็นแนวคิดผลักดันมาจากภาคเอกชน เนื่องจากนายสมคิด เป็นนักการตลาด จึงถูกมอบหมายให้มาดูแลการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ มักจะใช้เครื่องมือเดียวเพื่อใช้แก้หลายปัญหา เช่น หวังโค่นยางพาราในป่าจะได้ทั้งทวงคืนผืนป่า และดันราคาให้สูงขึ้น

สำหรับการแก้ปัญหาราคาข้าว รัฐบาลยังให้เกษตรกู้เพื่อใช้การเก็บเกี่ยวข้าว 2,000 บาทต่อไร่ แต่มองว่าการเก็บเกี่ยวในปัจจุบันต้องจ้างรถเกี่ยวข้าว มีต้นทุนเพิ่มอีกหลายด้าน มาตรการช่วยเหลือของรัฐในปัจจุบันจึงเป็นนโยบายประชาไม่นิยม
กำลังโหลดความคิดเห็น