“พาณิชย์” ลุยนโยบายเร่งด่วน 4 ด้าน เน้นดูแลค่าครองชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร ผลักดันการส่งออก และเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการภาครัฐและแก้กฎหมาย มั่นใจ 3 เดือนเห็นผลชัดเจนขึ้น “สุวิทย์” เผยจะเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในก่อน รับนโยบายประชานิยมจำเป็นต้องใช้ แต่ควรใช้ให้เหมาะ ให้พอดี
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงนโยบายการทำงานเร่งด่วนของกระทรวงพาณิชย์ ภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ว่า ได้กำหนดงานเร่งด่วนที่จะดำเนินการจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาค่าครองชีพประชาชน โดยจะดูว่าภายหลังจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงแล้ว เหตุใดราคาสินค้าที่มีต้นทุนเกี่ยวกับน้ำมันยังไม่ลด ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่มีใครเอารัดเอาเปรียบใคร ส่งเสริมให้มีร้านขายสินค้าราคาถูกที่เพียงพอ และจัดกิจกรรมขายสินค้าราคาถูกอย่างทั่วถึง
2. สร้างรายได้เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น จะเร่งยกระดับราคาสินค้าเกษตรด้วยการผลักดันการส่งออก เพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปสินค้า รวมถึงการพัฒนาธุรกิจท้องถิ่น โดยพัฒนาสินค้าโอทอป สินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพราะมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าสินค้าเกษตรทั่วไป
“รายได้เกษตรกรไทยตกต่ำจากราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกที่ตกต่ำ กระทรวงฯ จะเร่งยกระดับราคาสินค้าด้วยการมุ่งส่งออกให้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าว และยางพารา จะเร่งเจรจากับประเทศต่างๆ ให้ซื้อสินค้าจากไทย รวมถึงเร่งรัดการส่งออกข้าว และยางพารา ที่ได้เจรจากับประเทศคู่ค้าใหญ่ๆ ไปแล้ว เมื่อมีการส่งออกได้มากขึ้น ราคาในประเทศก็จะสูงขึ้นได้ตามความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น”
3. การเร่งผลักดันการส่งออก จะทำงานร่วมกับภาคเอกชน และบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นให้ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกอย่างทันที และเร่งแก้ปัญหาอุปสรรคด้านการส่งออก โดยคาดว่าคณะกรรมการพัฒนาการส่งออกที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเริ่มประชุมนัดแรกในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ปัญหาคอขวดของการส่งออกไทย รวมถึงเจรจากับประเทศและภูมิภาคต่างๆ เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคทางการค้า ขณะเดียวกัน จะทำยุทธศาสตร์การค้าอาเซียนแบบเจาะลึกเป็นรายประเทศ เร่งพัฒนาการค้าบริการให้มีมูลค่าเพิ่ม และพัฒนานักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้เข้มแข็ง และส่งเสริมการทำธุรกิจผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
“การขายสินค้าไทยแทบถึงจุดอิ่มตัวแล้ว แต่เรายังมีบริการอื่นๆ ที่ยังมีศักยภาพส่งออกได้อีกมาก ในอนาคตภาคบริการจะเป็นหัวใจสำคัญของการส่งออก แต่เรายังไม่ได้ผลักดันอย่างจริงจัง ต่อไปเราจะเน้นส่งออกแบบคลัสเตอร์ เช่น อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้ง post และ pre production ที่ไทยเข้มแข็งมาก และต่างชาติเข้ามาใช้บริการในบ้านเรามาก หรือุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ค้าปลีกและแฟรนไชส์ เป็นต้น”
4. การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการภาครัฐ การปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย โดยในเร็วๆ นี้จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าที่กระทรวงฯ ได้จัดทำเสร็จแล้ว ส่วน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 คงต้องพิจารณาก่อนว่าจะปรับปรุงใหม่อย่างไร
นางอภิรดีกล่าวว่า การทำงานภายใต้ทีมเศรษฐกิจ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าทีม ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์คาดว่าภายใน 3 เดือนจะเห็นการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้อง ยกระดับราคาสินค้าเกษตร และการส่งออก แต่คงไม่สามารถชี้วัดได้ว่าเกษตรกรจะขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงขึ้นเท่าไร หรือกินดีอยู่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ แต่น่าจะเห็นภาพชัดในด้านการหาตลาดส่งออก การผลักดันการส่งออก
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ภารกิจของทีมเศรษฐกิจชุดนี้ คือ การสร้างสมดุลระหว่างปัจจัยภายในกับภายนอกประเทศให้แก่เศรษฐกิจไทย เพราะปัญหาขณะนี้คือ ไทยพึ่งการส่งออกมาก เมื่อโลกเกิดปัญหา เศรษฐกิจไทยก็เกิดปัญหาตาม หากสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายใน ทั้งในภาคประชาชน ภาคธุรกิจขนาดเล็ก แม้โลกจะเกิดปัญหา แต่เศรษฐกิจไทยจะยืนหยัดอยู่ได้ ขณะเดียวกัน ไทยต้องส่งออกสินค้าบริการให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีการส่งออกน้อยทั้งที่ภาคบริการของไทยเข้มแข็งมาก
“ระยะสั้น จะมุ่งให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีเงินใช้จ่ายก่อน จากนั้นจะหันมาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากไม่ทำ แม้คนไทยอยู่ดีกินดีแล้ว เศรษฐกิจก็ยังน่าเป็นห่วง ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น จะต้องทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน และการใช้จ่ายภายในท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลชุดนี้ปฏิเสธนโยบายประชานิยมมาโดยตลอด แต่เหตุใดนายสมคิดจึงหันมาใช้กองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นนโยบายประชานิยม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก นายสุวิทย์กล่าวว่า ตามตำราเศรษฐศาสตร์มีเรื่องนโยบายประชานิยมทั้งสิ้น เพียงแต่จะมีระดับการใช้เงินต่างกัน มีทั้งประชานิยมแบบอ่อน แบบกลาง แบบเข้ม ไม่มีรัฐบาลใดในโลกไม่ใช้นโยบายประชานิยม เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกจังหวะ ไม่ใช้เงินมากเกินไป และต้องใช้ในระยะสั้นเท่านั้น อย่างเงินกองทุนหมู่บ้านไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเอาเงินไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แต่เพื่อให้นำไปใช้ทำประโยชน์ เช่น ลงทุนในท้องถิ่น เพื่อให้ออกดอกผลเพิ่มขึ้น