ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การจากไปของ”พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา”องคมนตรี ที่เสียชีวิตไปเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา หลายฝ่ายไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับ ถือเป็นการสูญเสียผู้ใหญ่คนสำคัญของบ้านเมืองไปอีกคนหนึ่ง ทิ้งไว้แต่ตำนาน"ปู่สิทธิ" อดีตนักการเมืองรุ่นลายคราม อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม ผู้เป็น รมว.ต่างประเทศ คู่บุญรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาตลอดในช่วงป๋าเปรม เป็นนายกรัฐมนตรีร่วม 8 ปี
สำหรับบทบาทของ"องคมนตรี" ในสังคมการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา ยังถือว่ามีบทบาทอยู่มากพอสมควร เป็นเสาหลักของบ้านเมือง อันจะเห็นได้จาก เกือบทุกครั้งที่องคมนตรีที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองออกมาให้แง่คิดเรื่องต่างๆ เช่น ปัญหาสังคมไทยที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เดินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงจนทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น หนี้สินของคนไทยจำนวนมาก หรือเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย ตลอดจนข้อเสนอและความเห็นในเรื่องต่างๆ ก็จะตกเป็นที่สนใจเกือบทุกครั้งไป
เช่นล่าสุดก็กรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ไปกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ประเทศไทยโปร่งใส…ได้อย่างไร”ที่จัดโดยสำนักงานป.ป.ช.เมื่อ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าปัญหาคอร์รัปชันยังน่าเป็นห่วงอยู่ แม้สถานการณ์ทุจริตในบ้านเมืองจะคลี่คลายดีขึ้น แต่ยังพบตัวเลขที่เกิดการทุจริตที่เป็นจำนวนมหาศาล จึงเรียกร้องให้คนไทยต้องไม่ยอมให้คนไม่ดีมานั่งปล้นชาติ โดยต้องหาวิธีขจัดให้ตัวเวร ตัวน่ารังเกียจให้หมดไปจากประเทศให้ได้
หรืออย่างก่อนหน้านี้ ก็กรณี "ธานินทร์ กรัยวิเชียร " องคมนตรีอีกคนหนึ่งได้ทำจดหมายส่วนตัวถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และมีการส่งต่อไปยังคณะกรรมการร่างรธน.ด้วย โดยองคมนตรีท่านนี้ได้เน้นย้ำว่า ควรมีการใช้ยาแรงจัดการกับพวกทุจริตคอร์รัปชันให้หนักหน่วงมากขึ้น เช่น การติดตามทรัพย์สินของคนที่ทุจริตกลับคืนมาให้ได้แม้คนๆ นั้นจะหนีความผิดไปต่างประเทศแล้วก็ตาม
โดยระบุว่า ไม่ควรให้ที่ยืนกับคนที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และไม่ควรให้มีพื้นที่ใดได้เป็นที่ซุกซ่อนทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริตคดโกง พร้อมกับมีข้อเสนอ เช่น ต้องตัดสิทธิการเมืองคนที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ไม่ให้กลับเข้าสู่การเมืองตลอดชีวิต อันเป็นข้อเสนอของ ธานินทร์ ที่ก็ได้รับการขานรับจากสังคมมากพอสมควร
การที่สังคมให้น้ำหนักเชื่อถือต่อความเห็นขององคมนตรี ในด้านต่างๆ จึงเป็นการยืนยันให้เห็นว่า บทบาทขององคมนตรี ในสังคมการเมืองไทยยังมีอยู่สูงพอสมควร แม้ตอนนี้ สภาพการณ์ต่างๆในสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่การที่คนในสังคม ยังให้การรับฟัง และให้น้ำหนักต่อบทบาทขององคมนตรีในทุกก้าวย่างที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองเขม็งเกลียว จึงเป็นคำตอบที่ไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆว่า บทบาทขององคมนตรี ยังมีความสำคัญต่อสังคมการเมืองไทยพอสมควร แม้สังคม-การเมือง-เศรษฐกิจ-เทคโนโลยี จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพียงใดก็ตาม ก็เชื่อว่า คณะบุคคลในกลุ่มองคมนตรี ก็จะยังคงมีบทบาทสูงในสังคมไทยเหมือนที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปี
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนี้ก็เพราะบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง องคมนตรีแต่ละคนในเวลานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดมากมาย รวมถึงได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในเรื่องผลงาน ประวัติการทำงานและประวัติส่วนตัว
ลำพังแค่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี คนเดียวก็บารมีมากล้นอยู่แล้ว ยังไม่นับองคมนตรีอีกหลายคน ที่ล้วนแล้วแต่มาจากหลายสาขารอบด้าน เช่น ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ มีอดีตนายกรัฐมนตรี เช่น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เรื่องกฎหมายก็ล้วนแล้วแต่ระดับ อดีตประธานศาลฎีกา เช่น อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ - ศุภชัย ภู่งาม - ชาญชัย ลิขิตจิตถะ
ด้านการศึกษาก็มีนักการศึกษาอย่าง นพ.เกษม วัฒนชัย หรือด้านการเกษตรก็มี อำพล เสนาณรงค์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร-อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ด้านการทหาร ก็เช่น พล.อ.อ.ชลิต พุกภาสุข อดีต ผบ.ทอ. พล.ร.อ.ชุมพล ปัจจุสานนท์ อดีต ผบ.ทร. พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นต้น ส่วนด้านการปกครอง ก็มี พลากร สุวรรณรัฐ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
เครื่องยืนยันที่เป็นรูปธรรมชัดเจนว่าบทบาทขององคมนตรี ยังมีความสำคัญต่อการเมืองไทยก็คือ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแทบทุกฉบับที่ผ่านมา ก็จะมีการบัญญัติเรื่องเกี่ยวกับองคมนตรีไว้ทุกครั้งไป และเป็นบทบัญญัติที่แทบไม่มีผู้ร่างรัฐธรรมนูญกลุ่มไหนเข้าไปทำอะไรมากนัก เนื่องจากคงเห็นตรงกันว่าบทบัญญัติที่ผ่านมาในส่วนของเรื่องที่เกี่ยวกับองคมนตรีก็มีการเขียนกันไว้ดีแล้ว จึงไม่ควรต้องไปแก้ไขอะไร
อย่างในรธน.ฉบับ 2550 ที่ถูกฉีกทิ้งไปโดยคสช. เมื่อ 22พ.ค.57 ก็บัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี (มาตรา 12 วรรคหนึ่ง) - การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย (มาตรา 13 วรรคหนึ่ง) พร้อมกับบัญญัติคุณสมบัติขององคมนตรีไว้ว่า องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ (มาตรา 14) ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ (มาตรา 15 วรรคหนึ่ง)
โดยในช่วงการร่างรธน.ฉบับใหม่ ของคณะกรรมาธิการยกร่างรธน. ชุด ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ถูกสปช.ลงมติคว่ำไป ก็จะพบว่า มีการเขียนเรื่องเกี่ยวกับองคมนตรี อยู่ในมาตรา ที่ 12-16 ที่เนื้อหาใหญ่ใจความในร่างดังกล่าว ก็ยังคงให้เรื่องมาตราเกี่ยวกับองคมนตรีเหมือนกับรธน.ฉบับที่ผ่านๆมา ไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไร เช่นเดียวกับการร่างของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด มีชัย ฤชุพันธุ์ ในเวลานี้ ก็พบว่ายังไม่ได้มีข่าวออกมาว่ากรธ.จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไร ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่ององคมนตรี ทำให้เบื้องต้น จึงน่าเชื่อได้ว่าตัวร่างรธน.ฉบับใหม่ ที่จะออกมาในส่วนของมาตราที่เกี่ยวกับองคมนตรี ก็อาจจะเหมือนกับรธน.ปี 2550 เกือบทั้งหมดก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า พวกนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพวกเพื่อไทย-เสื้อแดง-นักวิชาการสายไม่เอามาตรา 112 ก็มีความพยายามจะออกมาสร้างข่าว หรือเคลื่อนไหวการเมืองเพื่อแสดงความเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มคณะบุคคลในองคมนตรีมาตลอดหลายปี โดยปรากฏการณ์ดังกล่าว เริ่มเกิดขึ้นอย่างจริงจังเห็นได้ชัด ก็หลังมีการตั้งกลุ่มเครือข่าย นปช.-คนเสื้อแดงขึ้นมาหลัง 19 ก.ย.49 แต่ก่อนหน้านี้ฝ่ายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยที่ก่อนหน้านี้คือ ไทยรักไทย-พลังประชาชน ก็มีออกมาก่อนแล้ว แต่ก็ยังไม่มากมายอะไร เห็นได้จากหลายต่อหลายกรณี เช่น การที่ทักษิณ ชินวัตร เคยพูดถึง “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ในช่วงปี 48-49 ที่ทักษิณ อ้างว่าเข้ามาแทรกแซงการบริหารประเทศของตัวเอง ซึ่งหลายคนก็ตีความว่าทักษิณ น่าจะหมายถึงพล.อ.เปรม นั่นเอง
หลังจากนั้น การท้าทายจากฝ่ายเพื่อไทย-เสื้อแดง ต่อกลุ่มบุคคลในองคมนตรีบางคนก็เริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบหลัง 19 ก.ย.49 มาจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรกับป๋าเปรม ที่มีบารมีสูงยิ่ง ได้มากนักแต่ศึกลักษณะเช่นนี้ เชื่อว่าคงดำเนินต่อไปเช่นนี้เรื่อยๆ ทั้งแบบบนดิน-ใต้ดินแน่นอน
ในการเพ่งมองอนาคตการเมืองไทยต่อจากนี้ หากต้องการให้ได้ข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อให้อ่านทิศทางได้ไม่มีอะไรผิดพลาดก็อย่าได้มองข้ามบทบาทของพล.อ.เปรม และคณะบุคคลบางคนในองคมนตรีเป็นอันขาด เพราะฝ่ายพล.อ.เปรม ยังถือเป็น"เสาหลักสำคัญของบ้านเมือง" อีกหนึ่งฝ่ายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในโครงสร้างระบบการเมืองไทย แม้ต่อให้ยุคสมัยจะแปรเปลี่ยนไปเพียงใดก็ตาม