xs
xsm
sm
md
lg

ขานรับ"ธานินทร์โมเดล"ปราบโกง วิษณุไม่ห่วงรธน.ถูกคว่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ (22ต.ค.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวก่อนเข้าประชุมถึงแนวทางการวางหมวด ว่าด้วยหน้าที่ของรัฐในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ก็ต้องมีสภาพบังคับว่า รัฐต้องดำเนินการสิ่งใดบ้าง ซึ่งเดิมที่เขียนไว้ เป็นสิทธิของประชาชน เนื่องจากอาจมีปัญหาภายหลัง อาทิ หากระบุว่า ประชาชนมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีกฎเกณฑ์บังคับไว้ ดังนั้นจึงคิดว่า ควรระบุให้เป็นหน้าที่ของรัฐดีกว่า จะได้ไม่ต้องกังวลว่าประชาชนจะมีสิทธิ์หรือไม่ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐ และรัฐต้องดำเนินการ หากปฏิเสธไม่ทำตาม ก็อาจจะถูกฟ้องฐานละเลยหน้าที่ ซึ่งจะมีความผิดทางอาญาได้
ทั้งนี้ จะต้องไม่เขียนอะไรที่เป็นการตายตัว อาทิ การศึกษาภาคบังคับ รัฐจะต้องจัดแจงให้ประชาชนเป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่ส่วนการศึกษาอื่นๆ ก็ต้องเป็นไปตามนโยบาย ส่วนแนวนโยบายของพรรคการเมืองนั้น จะทำหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองนั้นๆ ส่วนการรับฟังความเห็นของประชาชน ในเรื่องนี้ฟังได้ แต่ไม่สามารถเขียนความต้องการของประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากเป็นเพียงข้อเรียกร้องของประชาชน ไม่ใช่หน้าที่รัฐจะต้องจัดการให้ อาทิ ประชาชนเรียกร้องให้กำหนดราคาข้าว เป็นต้น ทั้งนี้ กรธ. มองว่า การบังคับรัฐให้ดำเนินการในสิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียน ไว้มีแนวโน้มว่าดีกว่า แต่จะไม่เขียนโทษในร่างรัฐธรรมนูญ
นายมีชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเข้าร่วมหารือกับอนุกรรมการปรองดองฯนั้น ตนไม่ได้มอบแนวทางใดๆ เนื่องจากต้องรอผลการพิจารณาของหน่วยงานดังกล่าวก่อน ทั้งนี้ การปรองดองหากจะต้องเขียนให้เป็นหน้าที่ของรัฐด้วยนั้นคงลำบาก เนื่องจากจะต้องระบุถึงวิธีการดำเนินการปรองดอง
อย่างไรก็ตาม การเขียนร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องคิดถึงความเป็นไปได้ด้วย ส่วนข้อเสนอของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี นั้น ขณะนี้ กรธ.แต่ละคนอยู่ระหว่างการศึกษาความเห็น ซึ่งข้อเสนอของท่านนั้นตรงกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 35 ดังนั้น คงไม่มีปัญหาใด เพราะเราก็คงต้องบัญญัติไว้ โดยสิ่งนี้ทำให้กรธ.รู้สึกอุ่นใจ เนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเห็นดีเห็นงามในการขจัดการทุจริตให้
ส่วนการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากทาง กรธ. มีระยะเวลาในการทำงานน้อย ทางกรธ. จึงได้ตกลงกับทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ว่า หากมีการลงพื้นที่เมื่อใด ให้แจ้งให้ทางกรธ.ได้รับทราบด้วย หาก กรธ.คนใดไม่ติดภารกิจ ก็จะได้มีโอกาสร่วมลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็นด้วย

**ไม่หวั่นมีคปป.จะทำประชามติไม่ผ่าน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีหนังสือมายังรัฐบาลให้ทำความเห็นข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญ ส่ง กรธ. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมครม.ที่ผ่านมา และ ครม.มีมติเห็นชอบให้ตนเป็นผู้รวบรวมความในส่วนของครม. ส่งไปยัง กรธ. และตนจะรวบรวมความเห็นที่องค์กรต่างๆ ส่งผ่านมายังรัฐบาล คัดกรองส่งให้ กรธ.ด้วย โดยจะเป็นการทยอยส่งไป ซึ่งตอนนี้นึกได้ 1-2 ประเด็นแล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่ ครม.ประสบปัญหาอย่างมากในการบริหารราชการ แผ่นดิน และเชื่อว่ารัฐบาลชุดต่อๆไป จะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่ขอตอบว่าเรื่องอะไร
เมื่อถามว่า รัฐบาลพยายามหาวิธีแก้ปัญหาประเทศ 10 ปีที่ผ่านมา คิดว่าจากนี้ปัญหาจะซับซ้อนไปมากกว่านี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อนาคตปัญหาต้องซับซ้อนขึ้นแน่ ปัญหาต่างๆ ทำให้คนทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อน ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญ ต้องคิดถึงส่วนนี้ด้วย เพราะมีโอกาสเกิดความขัดแย้งขึ้นได้อีก ต้องคิดมาตรการอะไรหลายๆ อย่าง ถึงให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.)ขึ้นมา
เมื่อถามย้ำว่า คปป. คือตัวเลือกในการแก้ไขปัญหา นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ขอตอบ เมื่อถามว่า หวั่นหรือไม่ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันใหม่ มี คปป.แล้วร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ นายวิษณุ ตอบว่า ไม่หวั่น เมื่อถามต่อว่า เริ่มคิดไว้แล้วหรือยัง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จะดำเนินการอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า นึกทางออกไว้ในใจแล้ว แต่ยังไม่มีการหารืออย่างเป็นทางการ
นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณี แกนนำพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตในหลายโครงการของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก็สร้างความเสียหาย เช่น โครงการประกันราคาสินค้า ผลผลิตทางการเกษตร ข้าว และยางพารา แต่รัฐบาลไม่ดำเนินคดี เหมือนโครงการรับจำนำข้าว ว่า โครงการรับจำนำข้าว รัฐบาลต้องดำเนินการ เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมายังรัฐบาล โดยมีหนังสือลงวันที่เรียบร้อย และระบุว่า หากรัฐบาลไม่ทำ ก็จะมีความผิด ส่วนโครงการอื่นๆไม่มีการส่งเรื่องมายังรัฐบาลเลย รัฐบาลจึงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้น
จากตรงไหน รัฐบาลจึงไม่มีสิทธิพิจารณา และการที่พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเป็นนโยบายแถลงผ่านสภา และไม่มีที่ใดในโลกประเมินผลจากกำไร และขาดทุนนั้น ตนรับทราบ แต่ตนไม่ใช่คณะกรรมการสอบในเรื่องนี้

**"มาร์ค"ย้ำไม่ควรใส่คปป.ในร่างรธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ทำหนังสือถึงพรรค เพื่อขอให้สรุปความเห็นเกี่ยวกับหลักการต่างๆ ที่เห็นควรจะบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตนจะประมวลประเด็นต่างๆ แต่ก็คงจะไม่แตกต่างจากที่เคยเสนอให้กับ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไปแล้ว
ส่วนประเด็น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป. ) นั้น ตนคิดว่า จะเอามาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเหมือนเดิม คงไม่ได้ เพราะเป็นปมปัญหาที่ทำให้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ซึ่งตนเคยย้ำว่า หลักการที่จะต้องมีกลไก หากเห็นว่ารัฐบาลที่จากการเลือกตั้งไปทำอะไรที่ไม่สมควร หรือไม่มีหลักประกันในการปฏิรูปเลย หรือ เกิดสถานการณ์วิกฤติ จนกลายเป็นรัฐล้มเหลว การจะมีกลไกตรงนี้ มันไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่มีคำถามว่า ที่ทำเรื่องพวกนี้ หรือมีเรื่องอื่นด้วย เช่น ประชานิยม ควรจะมีกลไกตามที่นายมีชัย ระบุว่า ต้องอธิบายได้ว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร และ จะต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุล แต่ คปป. เดิมไม่มีตรงนี้ จึงปัญหาขึ้นมา
" ดังนั้นไม่ควรคิดว่า มีหรือไม่มี คปป. แต่ต้องพูดว่า เราเป็นห่วงอะไรบ้าง แต่ละเรื่องจะเอาอะไรมาเป็นตัวช่วยไม่ให้สถานการณ์ของบ้านเมืองเจอกับปัญหาเหล่านี้ ถ้าจำเป็นจะต้องมีคณะบุคคล องค์กร เก่า หรือใหม่ ว่ากันแล้วองค์กรที่จะมาทำแต่ละเรื่องนี้ทำไมถึงเหมาะสมที่จะทำในเรื่องนั้นๆ และถ้าทำแล้ว จะต้องมีการรับผิดชอบ หรือได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างไร ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะไม่เชื่อว่าจะมีใครมาค้าน แต่หากจะไปบอก คปป. ๆ ก็จะมีการถกเถียงกันเหมือนเดิม"
ส่วนข้อเสนอของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เป็นหลักการที่ดี เพราะปัญหาใหญ่ที่สุดของระบบ คือการทุจริต คอร์รัปชัน ฉะนั้นใครที่ถูกศาลตัดสินว่า มีการทุจริตแล้วก็ไม่ควรจะมีคุณสมบัติในการที่จะเข้ามาสู่การเมืองได้ ถือเป็นหลักการทั่วไป

**โทษตัดสิทธิชั่วชีวิตไม่ควรมีผลย้อนหลัง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวกรณีที่ กรธ. จะตัดสิทธิผู้ทุจริตเลือกตั้งตลอดชีวิต ว่า กรธ. คงเห็นว่าผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าว ไม่สมควรเข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งก็เป็นการส่งเสริมคนดีเข้าสู่ระบบการเมือง แต่กระบวนการตัดสิน ต้องเป็นธรรมกับคนเหล่านั้น ถ้าการตัดสิทธิดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบได้ ก็อาจไม่เป็นธรรม ซึ่งมองว่าไม่ได้เชื่อมโยงกับใบแดง ของกกต. เพราะใบแดงของ กกต.จะตัดสิทธิเป็นครั้งคราว หรือตัดสิทธิคราวละ 1 ปี การตัดสิทธินี้ ควรให้ศาลเป็นผู้พิจารณาชี้ขาด และการตัดสิทธิควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนตัวยังเห็นว่า ถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา ควรนับจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ไม่ควรนำไปใช้ย้อนหลัง เพราะคนที่เคยทำผิด ไม่คิดว่าจะต้องโดนแบบนี้ ส่วนจะสามารถปราบการทุจริตเลือกตั้งได้หรือไม่นั้น อาจมีส่วนช่วยทำให้นักการเมืองที่ตั้งใจจะซื้อเสียง ยั้งคิดมากขึ้น เป็นการปรามเบื้องต้น แต่คงไม่ได้ผล100 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีบางส่วนคิดว่า เมื่อเข้าสู่การเมืองได้ ก็สามารถฟอกผิดเป็นถูกได้
เมื่อถามถึงกระแสข่าว หากกรธ. อาจจะให้กกต.แจกใบแดง และใบเหลืองได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยไม่ต้องส่งศาลพิจารณา อาจถูกครหา ตัดสินไม่เป็นธรรมหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าจะได้อำนาจอย่างนั้นหรือไม่ แต่ กกต.ต้องมีการปรับปรุงองค์กร กลไกสืบสวนสอบสวนให้มีความโปร่งใส ประชาชนเกิดความเชื่อถือ และหาคนผิดมาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการครหา กกต.จังหวัด ใกล้ชิดนักการเมืองท้องถิ่นกกต.กลาง ก็พร้อมที่จะดำเนินการให้โปร่งใส เพื่อให้เกิดความเชื่อถือ

** ตปท.ขอใช้สิทธิ ผ่านอินเตอร์เน็ต

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะตัวแทนสำนักงาน กตต. พร้อมด้วย ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง ตัวแทน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ นายธงชัย ชาสวัสดิ์ อธิบดีกรมการกงสุล ตัวแทนกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในโครงการจัดทำระบบลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทางอินเตอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ให้กับคนไทยที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศ
ภายหลังการลงนาม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือของทั้ง 3 หน่วยงาน ถือเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาระบบลงทะเบียน ขอใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยเป็นการเพิ่มช่องทางลงทะเบียน และตรวจสอบสิทธิในการเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร
นอกจากนั้น ยังช่วยแก้ปัญหากรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงมีรายชื่อตกค้างอยู่ในระบบทะเบียน หลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว รวมทั้งกรณีแจ้งย้ายถิ่นพำนักในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาระบบดังกล่าว จะทำให้สามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวจะเสร็จและสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าลงทะเบียนได้ ภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ และหลังจากนั้น จะมีการให้ความรู้ในการลงทะเบียนในระบบดังกล่าวแก่ประชาชน และจะเปิดให้ประชาชนเข้าลงทะเบียนไปจนกว่าจะถึงช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้ง ที่คาดว่าจะมีขึ้นช่วงกลางปี 2560
สำหรับการพัฒนาระบบลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้ จะเป็นการแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกเพราะเนื่องจากที่ผ่านมามีคนไทยอยู่ในต่างประเทศทั่วโลกประมาณ 1 ล้านคน และมีการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 1.5 แสนคน แต่มีผู้มาใช้สิทธิจริงเพียง 7 หมื่นคนเท่านั้น และยังพบว่า การดำเนินการดังกล่าวสิ้นเปลืองไปกับระบบธุรการ เพราะจากงบประมาณในการจัดเลือกตั้งต่างประเทศประมาณ 70 ล้านบาท เป็นค่าธุรการประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งจะพบว่า ผู้มาใช้สิทธิต่อ 1 หัว จะใช้งบประมาณ 1-1.5 หมื่นบาทต่อคน ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีที่คนไทยจะต้องออกเงินเองในค่าพาหนะในการเดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น