ผ่าประเด็นร้อน
หลังจากมีจดหมายเปิดผนึกจาก ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ส่งไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีชัย ฤชุพันธุ์ เรียกร้องให้ใช้ “ยาแรง” กับนักการเมืองโดยห้ามคนที่เคยต้องคดีทุจริต เคยถูกถอดถอนสิทธิทางการเมือง เคยถูกยึดทรัพย์ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว คนพวกนี้ต้องถูกห้ามลงสนามตลอดชีวิต
ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากสังคมกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งยังมีการขยายความไปถึงข้าราชการ เอกชนที่ร่วมมือกันทำความชั่วแบบนี้ก็ให้รับโทษอย่างหนักอย่างสาสมถึงกับเสนอให้ประหารชีวิตกันไปเลย นี่คือความรู้สึกร่วมของสังคมส่วนใหญ่ที่หงุดหงิดรำคาญกับเรื่องทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันมาเกือบชั่วชีวิต จนทำให้ฉุดรั้งการพัฒนาบ้านเมือง เป็นต้นเหตุของความล้าหลัง กลายเป็นการแบ่งแยก เป็นเครื่องมือของกลุ่มการผลประโยชน์ทางการเมืองอย่างน่าเศร้า
อย่างไรก็ดี ยังมีบางพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการออกมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มข้นดังกล่าว ก็คือ ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ที่อ้างว่านี่คือแผนกำจัดพวกเขาออกไปให้พ้นทาง พร้อมทั้งขู่ว่าจะกลายเป็นชนวนความวุ่นวายเกิดขึ้นมาอีกในอนาคตข้างหน้าไปเสียอีก
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากความรู้สึกร่วมอีกอย่างที่ผ่านมาจากการชุมนุมของมวลชนที่เรียกว่า กปปส.เมื่อปีที่ผ่านมาก็คือ ความต้องการให้ “ปฏิรูปตำรวจ” เพราะถือว่านี่คือปัญหาสำคัญในลำดับต้นๆ ของบ้านเมือง และยังกระทบต่อการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านประจำวันอีกด้วย แม้ว่าการปฏิรูปตำรวจอาจไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงในการเขียนระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถือว่าเป็นความต่อเนื่องกันโดยตรง ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากมาตรการในการป้องกันการทุจริต ที่ต้องกำหนดเป็นลำดับถัดไป
อย่างไรก็ดี การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเดินตามกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในมาตรา 35 อยู่แล้ว โดยเฉพาะมาตรการในการป้องกันนักการเมืองทุจริต โดยในมาตรา 35 (4) มีการกำหนดถึงคุณสมบัติต้องห้ามของนักการเมืองที่ห้ามลงสนามตลอดชีวิต โดยก่อนหน้านี้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เคยออกมาระบุอย่างชัดเจนแล้วว่าต้องเดินตามกรอบดังกล่าว ประกอบกับเขาเคยให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของนักการเมืองทุจริตจะต้อง “ห้ามเข้าตลอดชีวิต”
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว แนวโน้มของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องออกมาในรูปนี้ นั่นคือต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มงวดแน่นอน เนื่องจากเป็นความเห็นที่สอดคล้องต้องกันในสังคมส่วนใหญ่
สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความต้องการของชาวบ้านในเวลานี้ หากพิจารณาจากความเห็น จากผลสำรวจที่ออกมาจะเน้นไปในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ มีผลในทางปฏิบัติอย่างได้ผลมากกว่าการพร่ำพูดถึงเรื่อง
“ประชาธิปไตย หรือเผด็จการ” แต่จะพูดถึงคำว่า “รัฐธรรมนูญแบบไทยๆ” ซึ่งความหมายก็น่าจะเป็นแบบที่ผสมผสานกันระหว่างรัฐธรรมนูญในประเทศตะวันตก มาปรับใช้กับวิถีชีวิตของคนไทย แทนที่จะลอกทุกอย่างมาใช้ ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันล้มเหลว หรือไม่เหมาะสมกับคนไทย
อีกด้านหนึ่งเมื่อเห็นแนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาในแนวเน้นใช้ “ยาแรง” กับการทุจริต แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นสัญญาณป่วนออกมาเช่นกัน เพราะจะว่าไปแล้ว แม้ว่าหากพิจารณากันตามหลักการการพูดถึงเรื่องการปราบปรามทุจริต ทุกคนก็น่าจะเห็นด้วย แต่ในความเป็นจริงก็คือ การมีคุณสมบัติที่เข้มข้นดังกล่าว ดันไปกระทบเข้ากับบางคนเข้าจังเบอร์ พูดกันตรงไปตรงมาก็คือ ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว รวมไปถึงคนในพรรคเพื่อไทยด้วย ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่คนพวกนี้กำลังรณรงค์ต่อต้าน โดยยกเอาจุดอ่อนของ “เผด็จการ” ขึ้นมาอ้าง
แน่นอนว่าที่มาของคณะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาจากการรัฐประหาร ในสายตาของตะวันตกถือว่าไม่ถูกต้องจนบางประเทศลดระดับความสัมพันธ์ แต่ขณะเดียวกันก็มีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้น นั่นคือเป็นรัฐบาลในรูปแบบเผด็จการรัฐบาลแรกที่ยังรักษาความศรัทธาจากประชาชนได้อย่างคงเส้นคงวา กลายเป็นว่าชาวบ้านไม่เน้นในเรื่องประชาธิปไตย หรือเผด็จการมากนัก โดยสิ่งที่ชาวบ้านต้องการก็คือ กลไกในการปราบปรามทุจริต รวมถึงเรื่องประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากภาพรวม และสำรวจจากความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่เท่าที่จับความรู้สึกได้ ทำให้มั่นใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับการป้องกัน และลงโทษคนทุจริตอย่างเข้มข้น รวมไปถึงกระแสความต้องการให้มีการปฏิรูปตำรวจให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าตกผลึกไปแล้ว ส่วนประเด็นเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิเสรีภาพก็ต้องมีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าต้องจับต้องได้ และน่าจะออกมาแบบไทยๆ ซึ่งอธิบายยากแต่เข้าใจได้อะไรประมาณนั้น!