ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผ่านพ้นไปแล้วอีก 1 ขวบปี สำหรับปี 2015 หรือปีที่ 15 ของศตวรรษที่ 21 และแน่นอนว่าตลอดช่วงระยะเวลา 365 วันที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ ย่อมมีเหตุการณ์เด่น ตลอดจน ข่าวดัง ที่เรียกความสนใจของผู้คน เกิดขึ้นมากมายตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก ถึงแม้หลายเรื่องราวในจำนวนนี้จะเป็นเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตา หรือเป็นเรื่องราวแห่งความสูญเสียที่ไม่มีผู้ใดปรารถนาจะให้มันเกิดขึ้นก็ตามที
เปิดฉากศักราชใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ของปี 2015 ด้วยข่าวการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ของ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union EEU) ภายใต้การนำของรัสเซีย และมีชาติสมาชิกที่เข้าร่วมประกอบด้วยเบลารุส อาร์เมเนีย คาซัคสถาน และ คีร์กิซสถาน ซึ่งถือเป็นการสถาปนากลุ่มความร่วมมือแห่งใหม่ที่ประกาศจุดยืนสร้างความเป็นเอกภาพทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจได้อย่างน่าจับตามอง
ขณะที่ในวันเดียวกันนี้ ลิธัวเนีย อดีตดินแดนส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ที่ตั้งอยู่แถบทะเลบอลติก ได้กลายเป็นสมาชิกลำดับที่ 19 อย่างเป็นทางการของกลุ่ม “ยูโรโซน” หรือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรเป็นเงินตราสกุลเดียวร่วมกัน
ถัดมาในเดือนกุมภาพันธ์ ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council : UNSC) ออกมติที่ 2199 (Resolution 2199) ที่มีจุดประสงค์เพื่อการผนึกกำลังต่อต้านการก่อการร้าย ที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ถือเป็นการประกาศสงครามกับลัทธิก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบและเป็นทางการครั้งแรกของประชาคมโลก ถึงแม้ในอีก 1 เดือนให้หลัง คือ ในวันที่ 12 มีนาคม กลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ “โบโก ฮารัม” แห่งไนจีเรียที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ใหญ่ที่สุดของทวีปแอฟริกา ได้ประกาศตัวเข้าเป็นภาคีร่วมกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรียและอิรักที่ว่ากันว่า เป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่ใหญ่หลวงที่สุดของโลกในเวลานี้
ในวันที่ 24 มีนาคม ผู้คนทั่วโลกต่างก็ต้องตกตะลึง หลังเกิดโศกนาฏกรรมเครื่องบินโดยสารแบบแอร์บัส A320-211 ของสายการบิน “Germanwings” ประสบอุบัติเหตุตกในเทือกเขาแอลป์สของฝรั่งเศส เป็นเหตุให้ผู้โดยสารและลูกเรือรวม 150 ชีวิตบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด
ถัดมาเพียง 1 วัน คือ 25 มีนาคม ทางการซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นชาติผู้นำโลกมุสลิมฝ่ายสุหนี่ พร้อมด้วยพันธมิตรอาหรับอีกหลายประเทศเริ่มการเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในเยเมนร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องรัฐบาลเยเมนจากภัยคุกคามของกลุ่มกบฏฮูตีส์ที่เป็นพวกมุสลิมนิกายชีอะห์และได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน ซึ่งเป็นชาติผู้นำมุสลิมของฝ่ายชีอะห์และยังเป็นคู่แข่งสำคัญของซาอุดีอาระเบีย ในการแข่งขัน-แย่งชิง-แผ่ขยายอิทธิพล เหนือภูมิภาคตะวันออกกลางมาช้านาน
หนึ่งในข่าวใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศในรอบปีนี้ คือ เหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในประเทศเนปาล ซึ่งสามารถวัดความรุนแรงได้ที่ระดับ 7.8 ตามมาตราแมกนิจูดเมื่อวันที่ 25 เมษายน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 9,018 ราย ทั้งในเนปาล อินเดีย จีนและบังกลาเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ถือเป็นผู้เสียชีวิตเฉพาะในเนปาลประเทศเดียวมากกว่า 8,857 ราย ยังไม่นับรวมกับผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 218 รายจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งที่ 2 ในเนปาล ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมและวัดความรุนแรงได้ที่ระดับ 7.3 ตามมาตราแมกนิจูด
วันที่ 30 มิถุนายน 2015 ผู้คนทั่วโลกต้องตกตะลึงอีกครั้งกับข่าวความสูญเสียของเครื่องบินลำเลียงแบบล็อคฮีด “C-130 Hercules” ของทางกองทัพอากาศอินโดนีเซียที่ประสบอุบัติเหตุโหม่งโลกในย่านที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นของเมืองเมดาน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 143 ราย (รวมถึง 22 ชีวิตบนพื้นดิน) และถือเป็นความสูญเสียที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ช่วงสันติ ของกองทัพอากาศแดนอิเหนา
เมื่อถึงวันที่ 1 กรกฎาคม ตลาดการเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกพากันผันผวนปั่นป่วนอย่างหนัก หลังจากที่กรีซได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ที่ไม่น่าจดจำด้วยการกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศแรกที่ “ผิดนัดชำระหนี้” ต่อทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ในรอบ 71 ปี นับแต่ที่มีการก่อตั้งองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศแห่งนี้ขึ้น
จากนั้นในวันที่ 14 กรกฎาคม อิหร่าน บรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ยอมจำกัดขอบเขตของโครงการพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ของตนกับชาติมหาอำนาจกลุ่ม “P5+1” เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่มหาอำนาจจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทั้งปวงต่ออิหร่าน รวมถึงการที่อิหร่านจะได้หวนคืนสู่ “ตลาดน้ำมันโลก” อย่างเต็มภาคภูมิ
ถัดมาในวันที่ 20 กรกฎาคม คิวบาและสหรัฐอเมริกา ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตเต็มรูปแบบระหว่างกัน ซึ่งถือเป็นการปิดฉากช่วงเวลาแห่งความเป็นปรปักษ์ต่อกันของรัฐบาลวอชิงตันและฮาวานา ตลอดระยะเวลา 54 ปี หรือเกินกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
หลังจากนั้นในวันที่ 5 สิงหาคม มีการค้นพบซากและชิ้นส่วนของเที่ยวบินมรณะ “MH370” ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส บริเวณนอกชายฝั่งของเกาะเรอูนียง ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของฝรั่งเศสในมหาสมุทรอินเดีย หลังจากที่เที่ยวบินนี้หายไปอย่างเป็นปริศนาตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2014
สำหรับในเดือนกันยายน ปี 2015 ถือเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญระดับโลกเกิดขึ้นพร้อมกันถึง 2 เหตุการณ์ คือเรื่องอื้อฉาวที่ค่ายรถดังจากเยอรมนีอย่าง “โฟล์คสวาเกน” ยอมรับเมื่อ 18 กันยายนว่า ใช้กลโกงด้านเทคนิคในการปกปิดค่าการทดสอบไอเสียของยานยนต์ในสังกัดจำนวนกว่า 11 ล้านคันที่ส่งจำหน่ายไปทั่วโลก
ขณะที่เหตุเหยียบกันตายอย่างน้อย 2,200 ศพเมื่อ 24 กันยายนของเหล่าผู้แสวงบุญพิธีฮัจญ์ ที่นครเมกกะของซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและความเชื่อ ที่นำมาซึ่งความสูญเสียมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา โดยนอกจากยอดผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกราว 900 ราย ขณะที่ผู้แสวงบุญที่ยังคงสูญหายจากเหตุสลดระหว่างพิธีฮัจญ์นี้ยังคงมีจำนวนมากกว่า 650 ราย
ย่างเข้าสู่ช่วงเดือนตุลาคม ได้เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายระหว่างการเดินขบวนเรียกร้องสันติภาพที่กรุงอังการาเมืองหลวงของตุรกี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 รายและได้รับบาดเจ็บมากกว่า 400 รายเมื่อ 10 ตุลาคม ขณะที่ในวันที่ 31 ตุลาคม เที่ยวบิน “KGL9268” ของสายการบินสัญชาติรัสเซียจากเมืองตากอากาศชาร์ม เอล-ชีคห์ของอียิปต์ ตกในคาบสมุทรไซนายขณะมุ่งหน้าสู่ปลายทางในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นำมาซึ่งการเสียชีวิตของผู้โดยสาร 217 รายและอีก 7 ลูกเรือ โดยที่ทั้งสองเหตุการณ์นี้ ทางกลุ่มติดอาวุธที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ต่างออกมาอ้างความรับผิดชอบ
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญส่งท้ายปี 2015 ที่ต้องกล่าวถึงคือ เหตุก่อวินาศกรรมอย่างน้อย 6 จุดกลางกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 130 ราย รวมถึงผู้เสียชีวิต 89 รายที่โรงละครบาตากล็องเพียงแห่งเดียว จากฝีมือของกลุ่มผู้ก่อเหตุที่เป็นสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่มีเครือข่ายในยุโรป และสมาชิกกลุ่มสุดโต่งนี้ที่แฝงตัวมากับคลื่นผู้อพยพจากซีเรีย ผ่านทางกรีซ ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ นำมาซึ่งการทบทวนนโยบายเปิดประตูรับผู้อพยพลี้ภัยสงครามจากตะวันออกกลางของหลายประเทศทั้งในยุโรปและทวีปอเมริกา
จากนั้น ได้เกิดวิกฤตทางการทูตครั้งเลวร้ายระหว่างตุรกีกับรัสเซีย หลังจากที่กองทัพตุรกียิงเครื่องบินขับไล่ของรัสเซียตกในเขตแดนของซีเรียเมื่อ 24 พฤศจิกายน นำมาซึ่งการออกมาตรการตอบโต้กันไปมาระหว่างมอสโกและอังการา และนี่ยังถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ที่เครื่องบินรบของรัสเซียถูกทำลาย โดยน้ำมือของกองทัพชาติที่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ
ปิดท้ายปี 2015 ด้วยข่าวน่ายินดีที่ผู้นำจากมากกว่า 147 ชาติทั่วโลก ที่ตบเท้าเข้าร่วมการประชุมสุดยอดขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือการประชุม “COP 21” ที่ย่านชานกรุงปารีสของฝรั่งเศส สามารถบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์ได้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันแบบ “สมัครใจ”ได้เป็นครั้งแรก ทำให้เกิดความคาดหวังถึงโลกในอนาคตที่สดใสกว่า หรือในยุคหลัง “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ที่กำลังจะกลายเป็นอดีต
จากเหตุการณ์เด่น-ข่าวดังรอบโลก ประจำปี 2015 ที่นำมาสรุปไว้ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในรอบ 1 ขวบปีที่ผ่านพ้นไปนี้ ได้เกิดเรื่องราวใหญ่ๆขึ้นในหลากหลายแง่มุม แม้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวแห่งความสูญเสียที่ไม่มีผู้ใดปรารถนาจะให้เกิดขึ้นแต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2015 ที่ผ่านมา ต่างก็ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างดีที่สุดแล้วในฐานะของการเป็น “บทเรียนเตือนใจ” ให้แก่ผู้คนทั่วโลกให้ได้ตระหนัก ยั้งคิดและวางแผนชีวิตในการก้าวเดินผ่านปี 2016 ได้อย่างมีสติและมีเหตุผลอันสมควร ท่ามกลาง “ความไม่แน่นอน” ที่พร้อมอุบัติขึ้นได้เสมอบนโลกใบนี้