xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน-รัสเซีย’ บูรณาการแผนในการพัฒนา ‘ยูเรเชีย’

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The Sino-Russian entente in Eurasia
By M K Bhadrakumar
10/05/2015

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ปรากฏตัวเข้าร่วมการเดินสวนสนามที่มอสโกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมาในวาระครบรอบ 70 ปีของการมีชัยเหนือนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงย่างก้าวไปข้างหน้าอันสำคัญมากก้าวหนึ่ง ในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันระหว่าง 2 มหาอำนาจใหญ่ จีน-รัสเซีย ทั้งนี้ สี กับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังได้เจรจาทำความตกลงกัน โดยสิ่งที่น่าสนใจจับตาเป็นพิเศษ ก็คือคำแถลงร่วมของผู้นำทั้งสอง ที่จะบูรณาการ “แผนการริเริ่มแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” ซึ่งนำโดยจีน กับ “โครงการสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย” ที่นำโดยรัสเซีย

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ปรากฏตัวเข้าร่วมการเดินสวนสนาม “วันแห่งชัยชนะ” (ครบรอบ 70 ปีของการมีชัยเหนือนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2) ที่จัตุรัสแดง ของกรุงมอสโกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา นี่เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นถึงย่างก้าวไปข้างหน้าอันสำคัญมากก้าวหนึ่ง ในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันระหว่าง 2 มหาอำนาจใหญ่ จีน-รัสเซีย สื่อมวลชนจีนได้ตอกย้ำเรื่องนี้อย่างเอิกเกริกกึกก้อง ผมขออ้างอิงข้อความที่ปรากฏอยู่ในรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหวา (Xinhua news agency ของทางการจีน) ซึ่งได้ดึงเอากลิ่นรสของสิ่งที่อาจยังถูกซุกเอาไว้ในกรุงมอสโกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ออกมาให้ได้สัมผัสกันชัดๆ ดังนี้:

**การปรากฏตัวของสี ในกรุงมอสโก “สาธิตให้เห็นความมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวของจีนที่จะพิทักษ์ปกป้องระเบียบโลกที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

** “การปรากฏตัวของสี และการที่กองทหารจีนเข้าร่วมในการสวนสนามด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย เป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนออกไปว่า: จีนกับรัสเซียกำลังมีความคิดเห็นพ้องต้องตรงกันอย่างเต็มที่ ในการเชิดชูระเบียบระหว่างประเทศภายหลังสงคราม และในการพิทักษ์ปกป้องสันติภาพของโลก”

**การสวนสนามที่จัตุรัสแดงคราวนี้ “มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการอวดโอ่แสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ และเจตนารมณ์อันยังไม่สยบยินยอมต่อแรงบีบคั้นจากฝ่ายตะวันตก ของรัสเซีย รวมทั้งเป็นการอวดโอ่ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของรัสเซียในการคัดค้านความพยายามทั้งหลายที่จะเขียนประวัติศาสตร์เสียใหม่และที่จะท้าทายระเบียบโลกภายหลังสงคราม”

** “การสวนสนามคราวนี้มิใช่เป็นเพียงการโอ่อวดทางการทหารเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเหตุการณ์ทางการทูตอีกด้วย”


คำแถลงร่วมซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และ สี ภายหลังการเจรจาหารือกันในวังเครมลินของพวกเขาเมื่อวันศุกร์ (8 พ.ค.) สะท้อนให้เห็นถึงการมีทัศนะที่คล้ายคลึงกันในประเด็นปัญหาระหว่างประเทศสำคัญๆ เป็นต้นว่าเรื่องซีเรีย, ยูเครน, อัฟกานิสถาน, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ ทั้งนี้ในส่วนซึ่งพาดพิงถึงยูเครน ระบุเอาไว้ว่า มหาอำนาจทั้งสองเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำ หนทางแก้ไขในทางการเมืองที่มีความสมดุลและความยั่งยืน โดยเป็นหนทางแก้ไขซึ่งคำนึงอย่างเต็มที่ ถึง ผลประโยชน์อันชอบด้วยเหตุผลของทุกๆ ฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง” [การใช้ตัวหนาเน้นย้ำในที่นี้ เป็นการเน้นย้ำของผู้เขียน] ทั้งนี้ปักกิ่งได้แสดงให้เห็นว่ามีความเข้าอกเข้าใจในระดับสูงต่อความสนใจแก่นแกนของฝ่ายมอสโกในเรื่องวิกฤตยูเครน

เมื่อพิจารณากันถึงเนื้อหาสาระแล้ว คำแถลงร่วมฉบับที่สอง (ซึ่งก็ลงนามโดย ปูติน และ สี) ว่าด้วยการเกี่ยวพันประสานกันระหว่าง สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union ใช้อักษรย่อว่า EAEU) ที่มีรัสเซียเป็นผู้นำ กับ แผนการริเริ่มแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Belt initiatives) ซึ่งมีจีนเป็นผู้นำ มีความโดดเด่นเตะตาถึงขั้นเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างจีน-รัสเซีย ให้ขึ้นสู่ระดับสูงออย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งในแง่ของการปฏิบัติและในแง่ของความหมายทางการเมือง

ในคำแถลงร่วมฉบับที่สองนี้ ประการแรก จีนกำลังกล่าวย้ำอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่า ตนให้การสนับสนุนกระบวนการบูรณาการที่รัสเซียหวังพัฒนาขึ้นมาภายในกรอบโครง EAEU ประการที่สอง มอสโกกับปักกิ่งเห็นพ้องต้องกันที่จะจัดตั้งกลไกการสนทนาขึ้นมา เพื่อการบูรณาการ (“การเชื่อมต่อ”) แผนการริเริ่ม 1 แถบเศรษฐกิจ 1 เส้นทาง (One Belt, One Road) ของจีน กับโครงการ EAEU ของรัสเซียเข้าด้วยกัน ประการที่สาม จีนจะเริ่มทำการเจรจากับ EAEU เพื่อจัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและทางการค้ากัน

คำแถลงร่วมฉบับนี้ แท้จริงแล้วบรรจุเอาไว้ด้วยแถลงการณ์ทางการเมืองอันสำคัญมาก ซึ่งมีผลทำให้มหาอำนาจสองรายนี้ จะร่วมมือประสานงานกันในการพัฒนาอย่างมั่นคงมีเสถียรภาพและในการบูรณาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยูเรเชียโดยองค์รวม ตลอดจนในความพยายามเพื่อ “พิทักษ์ปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพบนผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของยูเรเชีย” (ดูรายละเอียดจากรายงานของสำนักข่าวซินหวาได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2015-05/09/c_134222936.htm)

กล่าวโดยรวมแล้ว มหาอำนาจใหญ่สองรายนี้กำลังให้คำมั่นสัญญาที่จะร่วมมือประสานนโยบายต่างๆ ของพวกเขา ในส่วนซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อที่อันกว้างใหญ่ครอบคลุมอาณาบริเวณต่างๆ ของอดีตสหภาพโซเวียตตั้งแต่ยุโรปกลางไล่มาทางทิศตะวันออกจนกระทั่งถึงเอเชีย-แปซิฟิก การเป็นหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์และการร่วมมือประสานงานกันในขอบเขตขนาดนี้ เป็นสิ่งซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการระบุเจาะจงถึงมาตรการในทางเศรษฐกิจรวม 8 ด้านที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค เป็นต้นว่า การเห็นชอบร่วมกันที่จะ “ศึกษาถึงวัตถุประสงค์ระยะยาว ในการสถาปนนาเขตการค้าเสรีระหว่างจีนกับ EAEU”

มองในภาพรวมแล้ว การที่จีนให้การรับรองอย่างเหลือล้นต่อ EAEU และการที่จีนเข้าร่วมในโครงการที่นำโดยรัสเซีย (ซึ่งเป็นโครงการที่สัมพันธ์กับความเป็นผู้นำของปูตินอย่างใกล้ชิด) ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าร้ายของสหรัฐฯซึ่งได้ทำการคัดค้านโครงการนี้อย่างสุดฤทธิ์สุดเดช และติดฉลากแปะป้ายว่า EAEU เป็น “ความพยายามอย่างหนึ่งที่จะทำให้ภูมิภาคนี้กลับกลายเป็นแบบสหภาพโซเวียตอีกครั้งหนึ่ง” เท่านั้น (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.ft.com/intl/cms/s/a5b15b14-3fcf-11e2-9f71-00144feabdc0,Authorised=false.html?_i_location=http%3A%2F%2Fwww.ft.com%2Fcms%2Fs%2F0%2Fa5b15b14-3fcf-11e2-9f71-00144feabdc0.html%3Fsiteedition%3Dintl&siteedition=intl&_i_referer=http%3A%2F%2Fatimes.com%2F2015%2F05%2Fthe-sino-russian-entente-in-eurasia%2F#axzz3Zl6G7ZlE)

เป็นที่ชัดเจนว่า การกล่าวร้ายอย่างเย็นชาต่อ EAEU ของกระแสโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายตะวันตก ประสบความล้มเหลวไม่ได้ทำให้จีนเกิดความประทับใจอะไร พวกศาสดาพยากรณ์ที่เที่ยวเทศนาถึงอนาคตอันดำมืดทั้งหลาย (ดูรายละเอียดได้ที่ http://emergingequity.org/2015/01/13/the-rise-and-fall-of-the-eurasian-economic-union-oped/) ต่างก็ต้องหน้าม้านไปอย่างไม่เป็นท่า การที่จีนยินดีที่จะบูรณาการกับ EAEU มีความหมายในทางปฏิบัติว่า เครื่องจักรแห่งการเติบโตอันแท้จริงเครื่องหนึ่งกำลังถูกผูกโยงเข้ากับโครงการของรัสเซียโครงการนี้แล้ว ในทางเป็นจริง จีนคือกุญแจสำคัญที่สุดต่ออนาคตของ EAEU เรื่องหนึ่งที่พึงสังเกตก็คือ ในทริปเยือนมอสโกของสีคราวนี้ เขายังพ่วงด้วยการเดินทางเยี่ยมเยียนคาซัคสถานและเบลารุส อันเป็นอีก 2 ประเทศซึ่งเป็นสมาชิกก่อตั้งของ EAEU

ถ้าหากมองจากมุมมองของฝ่ายจีนบ้าง เวลานี้มอสโกก็เข้าร่วมกับแผนการริเริ่ม 1 แถบเศรษฐกิจ 1 เส้นทางอย่างเต็มตัวแล้ว เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนการริเริ่มนี้ ซึ่งจะต้องผ่านรัสเซียและเอเชียกลาง ตอนนี้ สี ย่อมสามารถบังเกิดความสบายอกสบายใจว่าภารกิจสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว เพราะอันที่จริงแล้ว “วาระทางธุรกิจ” ของเขาในการตระเวนเยือนคาซัคสถาน-รัสเซีย-เบลารุสเที่ยวนี้ ก็คือการผลักดันให้แผนการริเริ่ม 1 แถบเศรษฐกิจ 1 เส้นทาง กลายเป็นความจริงมากขึ้นอีก ด้วยการส่งเสริมให้มีการเชื่อมต่อกันระหว่างยุโรปตะวันออก, ยุโรปกลาง, และยุโรปตะวันตก (ดูรายละเอียดได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2015-05/05/c_134210837.htm)

การที่จีนประกาศรับรองสนับสนุน EAEU อย่างเต็มที่เช่นนี้ ยังเป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ที่ EAEU จะร่วมมือกับสหภาพยุโรป (EU) –แน่นอนว่า ทางบรัสเซลส์ก็จะต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างเพียงพอในเรื่องนี้ด้วย ในสมรภูมิแห่งการต่อสู้ที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างอิทธิพลและอำนาจในยูเรเซียนั้น ฝ่ายมอสโกมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นมากจากการที่จีนหนุน EAEU

ในอีกด้านหนึ่ง การปรากฏตัวของจีนย่อมจะเป็นการดุนหลังให้ EAEU คำนึงถึงหนทางที่ปฏิบัติได้จริงในประเด็นปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจ ผลลัพธ์ก็คือ EU ไม่สามารถที่จะเพียงแค่เมินเฉยไม่แยแสต่อโครงการบูรณาการในยูเรเชียที่นำโดยรัสเซียนี้ได้อีกต่อไป ความพยายามในการสำรวจหาลู่ทาง อาจจะต้องเริ่มต้นขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อระบุออกมาว่า สหภาพทั้งสองแห่งนี้ (EU และ EAEU) มีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ตรงส่วนไหนบ้าง รวมทั้งบรัสเซลส์ก็รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องครุ่นคิดว่าจะสามารถร่วมมือกับ EAEU ในรูปแบบใดได้บ้าง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า วอชิงตันจะต้องพยายามหาทางหยุดยั้ง ไม่ให้กระบวนการแห่งการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างบรัสเซลส์กับมอสโกนี้สามารถก้าวคืบหน้าได้ ด้วยเหตุนี้ เราย่อมคาดการณ์ได้ว่า กระบวนการนี้ซึ่งเต็มไปด้วยเสียงก้องกังวานในทางยุทธศาสตร์ น่าที่จะเป็นกระบวนการซึ่งดำเนินไปอย่างช้าๆ และยาวนาน

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
กำลังโหลดความคิดเห็น