เอเอฟพี – ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย เชิญชวนชาติพันธมิตรซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียตมาร่วมใช้สกุลเงินตราเดียวกันวานนี้ (20 มี.ค.) หลังจากที่มอสโกเผชิญพิษเศรษฐกิจจนสายสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในภูมิภาคเริ่มสั่นคลอน
ผู้นำรัสเซียซึ่งพยายามดิ้นรนต่อสู้กับมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตก และปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ เรียกร้องให้สภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) ซึ่งประกอบด้วย รัสเซีย, เบลารุส, คาซักสถาน และอาร์เมเนีย กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
“เราคิดว่าถึงเวลาอันสมควรแล้วที่จะหารือความเป็นไปได้ในการใช้สกุลเงินร่วมกัน” ปูติน กล่าวระหว่างการประชุมซัมมิตร่วมกับผู้นำคาซักสถานและเบลารุส ที่กรุงอัสตานา เมืองหลวงของคาซักสถาน
“การเดินเคียงบ่าเคียงไหล่จะช่วยให้เราตอบสนองภัยคุกคามทางการเงินและเศรษฐกิจจากภายนอกได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการปกป้องตลาดของเราเองด้วย”
มาตรการคว่ำบาตรที่บั่นทอนเศรษฐกิจ ตลอดจนความไม่พอใจที่เห็นรัสเซียส่งทหารเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งในยูเครน ส่งผลให้ความร่วมมือเชิงเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างมอสโกกับ 2 ชาติผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย เริ่มส่อแววไม่ราบรื่น
สหภาพยูเรเชียซึ่งเกิดจากความคิดริเริ่มของ ปูติน ที่จะส่งเสริมการค้าเสรีและสร้าง “ระบบการเงิน” ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาค ถูกตะวันตกวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามสร้างอาณาจักรโซเวียตที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาใหม่
วิกฤตการเมืองที่ยูเครนกำลังประสบอยู่มีประเด็นสำคัญอยู่ที่กรุงเคียฟจะเลือกเอียงข้างสหภาพยุโรป หรือจะยอมรวมกลุ่มกับสหภาพเศรษฐกิจที่รัสเซียบุกเบิก
ประธานาธิบดี นูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ แห่งคาซักสถาน กล่าวสรุปการประชุมวานนี้(20)ว่า คาซักสถาน, รัสเซีย และเบลารุส “ปรารถนาที่จะเห็นยูเครนเป็นรัฐที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และคงบูรณภาพแห่งดินแดนเอาไว้ได้”
การประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้เดิมทีจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. แต่ต้องถูกเลื่อนออกมา เนื่องจาก ปูติน หายหน้าไปจากสื่อนานถึง 10 วัน จนเกิดกระแสข่าวลือร้ายๆ เกี่ยวกับสุขภาพของเขา