ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็ได้ข้อสรุปในเรื่องอำนาจหน้าที่ และที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หลังจากใช้เวลาในการพิจารณากันอยู่นาน ซึ่งบางความเห็นถึงกับเสนอว่าให้กลับไปใช้ระบบสภาเดี่ยว ไม่ต้องมีวุฒิสภา
หากย้อนไปดูถึงประวัติความเป็นมาของวุฒิสภา จะพบว่าในระบบการเมืองไทยเรามีวุฒิสภา มาตั้งแต่ รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2489 ที่เริ่มใช้ระบบ 2 สภา คือมีสภาผู้แทนราษฎร ที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จำนวน 178 คน และ "พฤติสภา" ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วุฒิสภา" จำนวน 80 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม และลับ โดยสภาผู้แทนฯ เป็นคนเลือก จากนั้นเราก็มีวุฒิสภาเรื่อยมา ซึ่งทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งทั้งสิ้น สมาชิกวุฒิสภาจึงเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจเกษียณเสียเป็นส่วนใหญ่
จนกระทั่งมาถึง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยกำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ผู้สมัครต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง และไม่สามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ ซึ่งเรามีการเลือกตั้งวุฒิสภากันครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 จำนวน ส.ว. 200 คน วาระ 6 ปี
ส.ว.ชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่ใหญ่โต เพิ่มขึ้นมา คือ เป็นผู้แต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
แต่แล้วการมีส.ว.เลือกตั้ง ก็พบจุดอ่อนที่สำคัญคือ ส.ว.ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเครือข่าย ญาติโก โหติกา ของนักการเมืองในจังหวัด จึงถูกแทรกแซงจากพรรคการเมือง และฝ่ายบริหารที่กุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนได้อย่างเบ็ดเสร็จ วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 40 นี้ จึงถูกขนานนามว่าเป็น "สภาผัว-เมีย" และหนักข้อกว่านั้นคือ ในปี 2548 ซึ่งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ครองอำนาจ นายสุชน ชาลีเครือ เป็นประธานวุฒิสภา สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ถึงกับตั้งฉายาให้กับวุฒิสภา ว่า "สภาทาส"
หลังการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 ก็มีการปลี่ยนแปลงที่มาของส.ว.อีกครั้ง โดยกำหนดให้มีส.ว.150 คน มาจากการเลือกตั้ง 76 คน คือจังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหา 74 คน โดย ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง มีวาระ 6 ปี ส่วนส.ว. สรรหา มีวาระ 3 ปี แต่สามารถได้รับการสรรหากลับมาใหม่ได้
รัฐธรรมนูญปี 2550 มีการกำหนดคุณสมบัติที่สำคัญเพื่อแก้ปัญหา"สภาผัว-เมีย" คือ ผู้สมัครส.ว.ต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เป็น หรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าเคยเป็นก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้นมาแล้วเกินกว่า 5 ปี
แต่ถึงอย่างไร วุฒิสภาชุดนี้ ก็ยังคงจุดอ่อน ช่องโหว่ให้เห็น เช่น ส.ว.เลือกตั้งส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเครือข่ายนักการเมืองของจังหวัดนั้นๆ ส่วน ส.ว.สรรหาก็ไม่มีกลไกลรับรองความหลากหลายจากกลุ่มอาชีพ ไม่มีเครือข่าย ความใกล้ชิดกับประชาชน ส่วนมากจะเป็นอดีตขราชการ อดีตทหาร และ NGO ส.ว. สรรหาจากองค์กรอิสระ ยังมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ไม่สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้สำเร็จ
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557และให้มีคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ก็ได้กำหนดกรอบที่มาของวุฒิสภา ว่าให้มี ส.ว. 200 คน มาจาก 5 ช่องทางคือ
1)77 คนมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน แต่ผู้ลงสมัครจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการจังหวัดก่อน ให้เหลือ 10 คน แล้วจึงให้ประชาชนเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรม 2 ) ผู้เคยเป็นปลัดกระทรวง หรือเทียบเท่า 10 คน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ 10 คน โดยเลือกกันเองในแต่ละประเภท 3 ) ตัวแทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ เลือกกันเอง 15 คน 4 ) ผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น เลือกกันเอง 30 คน 5 ) ผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านต่างๆ มาจากการสรรหา 58 คน
แต่แล้วร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ถูกคว่ำในชั้นการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ก่อนที่จะได้ทำการประชามติ
เมื่อมาถึง ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดต่างๆ รวมทั้งในเรื่องของวุฒิสภา ก็ยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดทั้งหมด จะมีเพียงข้อสรุปคร่าวๆเท่านั้น คือ
ให้มี ส.ว.จำนวน 200 คน มาจาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพ โดยวุฒิสภาไม่ได้ทำหน้าที่ "สภาพี่เลี้ยง" เหมือนในอดีต แต่ให้ทำหน้าที่ โดยให้นำความรู้ ความสามารถ ในประสบการณ์มาช่วยในการบริหารบ้านเมือง และไม่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้ยกอำนาจถอดถอนไปให้ศาลแทน
ส่วนคุณสมบัติอันเป็นที่มาของส.ว. ที่สำคัญๆ มีดังนี้
1. ไม่กำหนดวุฒิการศึกษาว่าต้องจบปริญญาตรี 2. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในกลุ่มอาชีพนั้นๆไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยผู้ที่จะลงสมัครส.ว.จะต้องมีความผูกพันกับพื้นที่นั้นๆ ประกอบไปด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ การเกิด ที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ประวัติการศึกษาในพื้นที่ และ ประวัติการทำงานในพื้นที่ 3. ไม่จำกัดสิทธิคู่สมรส หรือบุพการี และบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ 4. สามารถสมัครได้โดยตรงโดยไม่ต้องมี "นิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร" มารับรอง เพื่อไม่ให้ผู้สมัครผูกพันกับนิติบุคคลนั้นๆ
5. ผู้สมัครต้องเปิดเผยหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 1 ปี 6. มีวาระการดำรงตำแหน่ง5 ปี และในชีวิตนี้ เป็นได้เพียงวาระเดียว 7. ส.ว.หากจะออกไปดำรงตำแหน่งส.ส. หรือรัฐมนตรี จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แล้วเป็นเวลา 5 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ไปผูกพันกับผลประโยชน์ทางการเมือง และหากอดีตส.ส.ต้องการมาสมัครส.ว.ก็ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.มาแล้ว 5 ปีเช่นกัน 8. คุณสมบัติของวุฒิสภา ห้ามไม่ให้มีคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากองค์กรอิสระ หรือศาล แม้คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด เนื่องจากมีการ อุทธรณ์ ก็ไม่สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้
สำหรับ 20 กลุ่มสาขาอาชีพที่จะมีสิทธิสมัครส.ว.ก็ประกอบด้วย 1. ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ 2. ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม 3. ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรืองบประมาณ 4. ด้านการศึกษาหรือวิจัย 5. ด้านการสาธารณสุข 6. ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 7. ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดง หรือ การกีฬา 8. ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้ 9.ด้านปศุสัตว์ หรือประมง 10. ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือ องค์กรนายจ้าง 11. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน 12. ด้านผู้ประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร 13. ด้านผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 14. ด้านผู้ประกอบวิชาชีพ 15. ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 16. ด้านทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงาน 17. ด้านองค์กรชุมชน 18. ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี 19. ด้านอาชีพอิสระ และ20. ด้านประชาสังคม
ส่วนกรณี อดีต ส.ว. ที่พ้นจากตำแหน่งยังไม่ครบ 5 ปี รวมถึง อดีต สปช. - สปท. และ สนช. จะสามารถลงสมัครส.ว. ในครั้งนี้ได้หรือไม่นั้น ที่ประชุมกรธ.ยังไม่มีข้อสรุป
ตามกรอบคุณสมบัติ ที่มาของส.ว. ที่สรุปมานี้ ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ และมีคำถามถึงกรธ. มากที่สุดคือ ทำไมถึงเปิดช่องให้ "คู่สมรส-บุพการี-บุตร" ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาสมัครส.ว.ได้ เพราะภาพ "สภาผัว-เมีย" ยังตามมาหลอนอยู่
ซึ่งเรื่องนี้ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. บอกว่า ที่ประชุมกรธ.เห็นว่า หากปิดช่องนี้ ก็จะเป็นการตัดสิทธิส่วนบุคล อีกทั้งหน้าที่ของส.ว.ชุดนี้ จะเน้นเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ในการเข้ามาทำงาน จึงเชื่อว่าคนที่จะเข้ามาเป็น ส.ว. ย่อมเป็นที่ยอมรับจากคนในกลุ่มที่เลือกเข้ามาอยู่แล้ว ประกอบกับรูปแบบการเลือกตั้งทางอ้อม ที่มีระบบคัดกรอง 3 ชั้น ตั้งแต่ ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ จึงเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า จะได้บุคคลที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองน้อยลง และ หน้าที่ของวุฒิสภา ก็ไม่มีเรื่องการถอดถอนนักการเมืองแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะไปจำกัดสิทธิคนเหล่านั้น
นี่เป็นเพียงบทสรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับที่มาส.ว.ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรธ.จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ในช่วงต้นปี 2559 นี้ ก่อนนำความคิดเห็น ข้อติติงไปพิจารณาปรับปรุงให้เป็นร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับจริง ที่จะนำไปทำประชามติ
ต้องวัดใจว่า กรธ. ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะเป็นผู้ปลุกผี ให้ "สภาผัว-เมีย" ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหรือไม่