โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สรุปที่มา ส.ว.มี 200 คนจาก 20 กลุ่ม มีหน้าที่ให้นำความรู้ช่วยบริหาร ไม่ต้องจบปริญญาตรี เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ผูกพันในพื้นที่ เป็นผัวเมียลูก ส.ส.ได้ ต้องมีหลักฐานเสียภาษีย้อนหลัง 1 ปี เป็นได้ 5 ปีครั้งเดียวตลอดชีวิต หลังพ้นตำแหน่งจะลงเลือกตั้งนั่ง รมต.ไม่ได้ 5 ปี ส่วนอดีต ส.ส.สมัครได้หากพ้นเก้าอี้ครบ 5 ปี ห้ามติดคดีเลือกตั้งแม้ยังไม่สิ้นสุด กั๊กไฟเขียว สปช.-สปท.-สนช.สมัครได้ เชื่อไม่เชื่อมโยงนักการเมือง แถมถอดถอนใครไม่ได้
วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 15.00 น. นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าในการประชุม กรธ.ซึ่งได้พิจารณาหลักการของร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภา (ส.ว.) สรุปสาระสำคัญดังนี้ ส.ว.มีจำนวน 200 คน โดยมีที่มาจาก 20 กลุ่ม โดยวุฒิสภาไม่ได้ทำหน้าที่ “สภาพี่เลี้ยง” เหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่ให้ทำหน้าที่โดยให้นำความรู้ความสามารถในประสบการณ์มาช่วยในการบริหารบ้านเมือง โดยกำหนดคุณสมบัติของวุฒิสภา ที่สำคัญ 1. ไม่กำหนดวุฒิการศึกษาว่าต้องจบระดับปริญญาตรี 2. มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในกลุ่มอาชีพนั้นๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยผู้ที่จะลงสมัคร ส.ว.จะต้องมีความผูกพันกับพื้นที่นั้นๆ ประกอบไปด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ การเกิด ที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ประวัติการศึกษาในพื้นที่ และประวัติการทำงานในพื้นที่ 3. ไม่จำกัดสิทธิคู่สมรส หรือบุพการี และบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ 4. สามารถสมัครได้โดยตรง โดยไม่ต้องมี “นิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไร” มารับรองเพื่อไม่ให้ผู้สมัครผูกพันกับนิติบุคคลนั้นๆ
โฆษก กรธ.กล่าวต่อว่า 5. ผู้สมัครต้องเปิดเผยหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 1 ปี 6. ส.ว.มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และเป็นได้เพียงวาระเดียวตลอดชีวิต ไม่สามารถกลับมาเป็นส.ว.ได้อีก 7. ส.ว.หากจะออกไปดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือรัฐมนตรี จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ว. แล้วเป็นเวลา 5 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ไปผูกพันกับผลประโยชน์ทางการเมือง ในทางกลับกันหากอดีตส.ส.หากต้องการมาสมัคร ส.ว.ก็ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.มาแล้ว 5 ปีเช่นกัน 8. คุณสมบัติของวุฒิสภา ห้ามไม่ให้มีคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้นและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจากองค์กรอิสระหรือศาล แม้คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุดเนื่องจากมีการอุทธรณ์ก็ไม่สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้
นายอุดมกล่าวถึงกรณี อดีต ส.ว.ที่พ้นจากตำแหน่งยังไม่ครบ 5 ปี รวมถึงอดีต สปช., สปท. และสนช.จะสามารถลงสมัคร ส.ว.ตามหลักเกณฑ์ของ กรธ.ได้หรือไม่นั้นว่า ที่ประชุม กรธ.ยังไม่ได้พิจารณาในเรื่องนี้ แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่าน่าจะสมัครได้ เนื่องจากระบบของ ส.ว.เป็นรูปแบบใหม่ รวมไปถึง สปช., สปท., สนช.ล้วนมาจากการแต่งตั้ง ยังไม่เคยใช้หลักเกณฑ์ตามร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ส่วนตัวจึงเชื่อว่าคนเหล่านี้น่าจะสมัคร ส.ว.ได้
เมื่อถามว่า ทำไม กรธ.ถึงเปิดช่องให้ “คู่สมรส-บุพการี-บุตร” ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาสมัคร ส.ว.ได้ ซึ่งเปรียบเหมือนกับ “สภาผัวเมีย” นายอุดมกล่าวว่า กรธ.เล็งเห็นว่าหากปิดช่องดังกล่าวไว้ ก็จะเป็นการตัดสิทธิส่วนบุคล อีกทั้งหน้าที่ของ ส.ว.เน้นเรื่องความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการเข้ามาทำงาน จึงเชื่อว่าคนที่จะเข้ามาเป็น ส.ว.ย่อมเป็นที่ยอมรับจากคนในกลุ่มที่เลือกเข้ามาอยู่แล้ว ประกอบกับรูปแบบการเลือกตั้งทางอ้อมที่มีระบบคัดกรอง 3 ชั้น ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ ก็เชื่อว่าจะได้บุคคลที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองได้น้อยลงและหน้าที่ของวุฒิสภาก็ไม่มีเรื่องการถอดถอนนักการเมืองแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะไปจำกัดสิทธิคนเหล่านั้น
สำหรับการจัดกลุ่มบุคคลด้านต่างๆ 20 กลุ่ม ที่จะบรรจุไว้ในกฎหมายลูก (อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้) ในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มี 20 กลุ่ม ดังนี้ 1. ด้านการบริหาร ความมั่นคง หรือการต่างประเทศ 2. ด้านกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรม 3. ด้านการบัญชี การเงิน การคลัง หรืองบประมาณ 4. ด้านการศึกษาหรือวิจัย 5. ด้านการสาธารณสุข 6. ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 7. ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม วรรณกรรม การแสดง หรือการกีฬา 8. ด้านกสิกรรม หรือป่าไม้ 9. ด้านปศุสัตว์ หรือประมง 10.ด้านลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน องค์กรลูกจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง 11.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสาร สื่อสารมวลชน 12. ด้านผู้ประกอบการธุรกิจ การค้า หรือการธนาคาร 13. ด้านผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 14. ด้านผู้ประกอบวิชาชีพ 15. ด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง ที่อยู่อาศัย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 16. ด้านทรัพยากรธรรมชาติ หรือพลังงาน 17. ด้านองค์กรชุมชน18.ด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือสตรี 19. ด้านอาชีพอิสระ 20. ด้านประชาสังคม
ทั้งนี้ โดยเป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ ตามข้อ 1-19 หรือบุคคลธรรมดาผู้ทำงานหรือเคยทำงานในองค์กรตามข้อ 20