xs
xsm
sm
md
lg

“ปริญญา” ชี้ ส.ว.ลากตั้ง ทำ คสช.ถูกมองเข้ามาเพื่อประโยชน์ตัวเอง “เสรี” บอกดีกว่าตั้ง คปป.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปริญญา” ระบุเลือกตั้งแบบปั่นสวนผสมของ กรธ.ทำพรรคใหญ่คะแนนหด พรรคขนาดกลางแฮปปี้ ขณะที่การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวทำสิทธิของประชาชนหาย ส่วน ส.ว.ลากตั้งหวนสู่ยุคสภาขุนนาง ทำให้ถูกมอง คสช.เข้ามาเพื่อประโยชน์ตัวเอง ด้าน “เสรี” บอก ส.ว.สรรหา 5 ปี ตามเจตนารมณ์ คสช.ดีกว่าตั้ง คปป.ขึ้นมา

สมาคมแห่งสถาบันพัฒนการเมืองและการเลือกตั้ง (สพต.) ได้จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “รัฐธรรมนูญใหม่กับการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง” โดยนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ระบบเลือกตั้งแบบปันส่วนผสม พรรคขนาดใหญ่คะแนนลดลง พรรคขนาดกลางจะได้มากขึ้น แต่พรรคขนาดเล็กต้องส่งผู้สมัครทุกเขตเลือกตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่ได้คะแนนมาคำนวน ส.ส.ที่พึงได้ จึงถือว่าเสียเปรียบมาก เหมือนเป็นการบังคับให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครทุกเขต ซึ่งผู้สมัครบางคนเป็นผู้สมัครที่ไม่ได้หวังชนะเลือกตั้ง แต่พรรคก็ต้องส่งเพื่อให้ได้คะแนนมาคำนวนจำนวน ส.ส.ที่พรรคควรได้ นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด และแม้ว่าจะยังมีเวลาที่จะปรับแก้อยู่ แต่เชื่อว่า กรธ.จะไม่ปรับแก้ในเรื่องนี้

ส่วนเรื่องการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ที่ กรธ.ให้เหตุผลว่าเพื่อให้เลือกง่าย แต่ตนคิดว่ายิ่งจะเป็นปัญหาทำให้ประชาชนสับสน เพราะประชาชนคุ้นเคยกับการใช้กาบัตรสองใบมาพอสมควร อีกทั้งมีปัญหาว่าถึงเวลาเลือกตั้ง ประชาชนชอบ ส.ส.จากพรรคหนึ่ง แต่ไม่อยากเลือกนายกฯ ที่อีกพรรคหนึ่งเสนอมา จะทำอย่างไร สิทธินี้ของประชาชนหายไปจะทำอย่างไร

นายปริญญากล่าวว่า ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.บอกว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพแม้ไม่ได้เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริงแล้วร่างของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้ทำลายระบบประกันสิทธิเสรีภาพที่มีการพัฒนาให้มีความทันสมัยเรื่อยมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ลงอย่างสิ้นเชิง มีการเพิ่มเรื่องของความมั่นคงเข้าไป ซึ่งไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนใส่คำพวกนี้ลงไปเพื่อจำกัดสิทธิของประชาชน และสามารถจำกัดสิทธิของประชาชนได้หากมีเหตุผล

ส่วนที่มา ส.ว.นั้น เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า ต้องคิดก่อนว่าจะมีส.ว.เพื่อให้มาทำอะไร ที่ คสช.ให้เหตุผลว่าต้องการให้ ส.ว.มาขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปประเทศ แล้วเสนอที่มาของ ส.ว.ให้ กรธ.พิจารณาจนเป็นที่มาของ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล ส่วนตัวก็เห็นว่าดี ไม่ต้องมาเหนียมกัน เป็นการขอกันตรงๆ ซึ่งก็ดีกว่าการไปมี คปป. แต่เป็นห่วงเรื่องอำนาจถ้าจะให้มีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจด้วย แต่เชื่อว่าคงไม่มี อย่างไรก็ตามพัฒนาการของ ส.ว.ทั่วโลกเริ่มต้นจากการสรรหา สู่การมาจากการเลือกตั้ง แต่ของประเทศไทยนั้นย้อนยุคกลับไป การได้ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลเรียกได้ว่านี่คือ “สภาขุนนาง”

“อย่าลืมว่าความชอบธรรมของ คสช.ในการเข้ามามีอยู่เพียงประการเดียว คือ เพราะความชอบธรรมของฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งต่ำ ซึ่งพวกเราจะต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง และคนที่คิดว่า คสช.จะเข้ามาอย่างสั้นๆ ขอพูดด้วยความเคารพว่า ถ้าเขียนให้ คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. คสช.จะกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง เพราะ คสช.จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และดูเหมือนเข้ามาเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายตนเสียงเอง”

ส่วนคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่นั้น นายปริญญากล่าวว่า เท่าที่ฟังจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เหมือนมีการคุยกันแล้ว อย่าลืมว่า คสช.มีไพ่อีกใบหนึ่ง คือ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็สามารถนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ได้ขึ้นมาใช้ กว่าจะถึงจุดนั้นคงต้องรอดูคำถามพ่วงของ สนช.ว่าตัวคำถามจะสามารถจูงใจให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านหรือไม่ด้วย แต่ทั้งนี้เชื่อว่า คสช.จะเลือกทางที่มีผลให้คนมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการไม่รับจะเกิดปัญหามากกว่า

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า รูปแบบของวิธีการเลือกตั้งนั้นมีหลายรูปแบบ แต่เมื่อนำวิธีการนับคะแนนมาเปรียบเทียบกันทำให้เป็นปัญหา และเกิดคำถามเยอะว่าวิธีการต่างๆ ใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ช่วยพรรคใดหรือไม่อย่างไร ขณะนี้ประเทศต้องการความปรองดอง แต่หากเราเอาผลคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 ก.ค. 2554 มาคำนวนด้วยรูปแบบการเลือกตั้งของนายมีชัย พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ลดลงมาก เขาคงไม่พอใจ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ลดลงเล็กน้อย ก็อาจจะพอใจบ้าง ส่วนพรรคขนาดกลางจะพอใจมากจากการใช้บัตรใบเดียว แต่ถ้าดูภาพรวมแล้ว ผลที่ออกมาแบบนี้คือความขัดแย้งแตกแยก

ก่อนหน้านี้ กรธ.การเมืองได้มีข้อเสนอไปยัง กรธ.ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของ คสช.เรื่องให้ใช้บัตร 2 ใบ และเป็นเขตใหญ่เรียงคะแนน คือ เขตมี ส.ส.ได้ 3 คน แต่ประชาชนกาได้เพียงคนเดียว ซึ่ง คสช.เสนอเช่นนี้ก็คงคิดเหมือน กรธ.ว่าวิธีนี้จะทำให้ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนของกลุ่มอาชีพตนเองในพื้นที่ได้ ทำให้ได้ ส.ส.ที่มีความหลากหลาย และหากคิดมุมดี จะทำให้เกิดความปรองดอง เช่น ในภาคอีสานที่พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าของพื้นที่ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะได้ผู้แทนบ้าง ส่วนภาคใต้ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้าของพื้นที่ พรรคเพื่อไทยก็จะได้ผู้แทนบ้าง

ส่วนกรณี ส.ว.เราก็มีมาหลายแบบแล้ว อยู่ที่ว่าเราต้องการอะไร ในสถานกาณ์ปัจจุบัน คสช.ต้องการใช้ ส.ว.เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาประเทศ บอกแบบนี้ก็ทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งดีแบบนี้ตนว่าดีกว่าตั้ง คปป.ขึ้นมา แล้วเอาอำนาจไปสอดไปแทรก แต่เอากันตรงๆ แบบนี้เลย

“คือถามว่าจะมี ส.ว.แบบนี้จะว่าอย่างไร ตอนนี้เราต้องการได้ ส.ว.มาช่วยงาน ก็ต้องดูว่างานนั้นคืออะไร เป็นแบบไหน ซึ่งก็อยู่ที่เราจะออกแบบว่าจะให้ ส.ว.ทำหน้าที่อะไร ไม่มีอะไรถูกอะไรผิดหรอก แต่อยู่ที่ว่าเราต้องการอะไร เรื่อง ส.ว.5 ปีนั้นเป็นระยะเวลาที่เขากำหนดไว้ ก็ดูว่าภารกิจจะแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าพรรคการเมืองคุยกันรู้เรื่อง ไม่เอาประชาชนมาสู้กัน ทุกอย่างสงบเรียบร้อย ถ้าตกลงกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปสร้างอะไรมาก แต่ก็อยู่ที่ว่าเราจะตกลงกันได้ไหม”

สำหรับเรื่องการปรองดอง กมธ.ก็ทำอยู่ สิ่งที่เรากำลังดำเนินการเสนอข้อเสนอในทางเสนอกฎหมาย ว่าคดีความที่มีอยู่จะดำเนินการอย่างไร แต่จะไม่ใช่กฎหมายนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม ทุกๆ ด้านอย่าไปทำนาน อย่าไปคิดถึง 5 ปี 10 ปี แต่ให้ดูว่าการปฏิรูปที่จะทำนั้นเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่

นายเสรียังให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการเสนอความเห็นคำถามพ่วงการประชามติของ กมธ.การเมืองว่า เบื้องต้นในชั้น กมธ.ได้มีการหารือกันแล้วเห็นว่าในส่วนของ สปท.นั้น ควรจะเสนอเป็นความเห็นเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ทั้งทางด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน การขับเคลื่อนการปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อ มากกว่าการเป็นคำถามโดยตรง เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวล่าสุด ได้ให้อำนาจ สนช.เป็นผู้เสนอคำถาม ส่วน สปท.จะเป็นเพียงผู้เสนอความเห็นเพื่อให้ สนช. พิจารณา


กำลังโหลดความคิดเห็น