xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ไม่สนประชามติคว่ำร่างรธน. เดินหน้านายกฯคนนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณี นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่องการเปิดชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นการปูทางให้อำนาจนอกระบบเข้ามานั้น
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขอให้กลับไปอ่านคำชี้แจงของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่ชี้แจงสื่อมวลชนโดยละเอียด เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่มีสาระว่า
1. กรธ.ไม่ได้เป็นผู้เสนอชื่อของบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ แต่ที่ให้ระบุชื่อ ก็เพื่อเป็นการบอกกล่าวให้ประชาชนได้รับทราบว่า แต่ละพรรคการเมือง จะเสนอให้ใครขึ้นเป็นนายกฯ เสนอได้ไม่เกิน 5 ชื่อ 2. หากพรรคการเมืองต่างๆ เห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่เสนอชื่อคนนอก หรือผู้ที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะไม่มีคนนอกขึ้นไปเป็นนายกฯ 3. เป็นเรื่องของสภาฯ ที่จะเลือกบุคคลใดขึ้นเป็นนายกฯ ซึ่งไม่เกี่ยวกับกรธ. เราเพียงทำหน้าที่ตอบโจทย์ให้ประชาชนรู้ตามสิทธิว่า ใครจะขึ้นเป็นนายกฯ หากพรรคการเมืองนั้นชนะเลือกตั้ง ฉะนั้น หากพรรคการเมืองเสนอชื่อคนที่ได้รับเลือกตั้งทั้ง หมดเป็นนายกฯ ก็ไม่มีใครแทรกแซงได้ ขอให้ดูให้ครบถ้วนก่อน
ส่วนที่แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุในลักษณะขู่ว่า จะรณรงค์ให้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านการทำประชามตินั้น ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน ตนคงไม่ตอบโต้ใดๆ แต่อยากถามกลับว่า ถ้าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการบัญญัติให้มีการนิรโทษกรรมทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกคน ถามว่า เขายังคิดจะคว่ำ หรือไม่
เมื่อถามย้ำว่า ที่ระบุเช่นนี้เหมือนจะชี้ให้เห็นว่า ถ้าพรรคการเมือง หรือนักการเมืองได้ประโยชน์ ก็จะรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ นายนรชิต กล่าวว่า ต้องให้สังคมคิดเอง แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าถ้าพรรค หรือตัวเองได้ประโยชน์ ก็จะไม่มีใครคัดค้านในการออกกฎหมายต่างๆ ใช่หรือไม่ และที่ออกมาค้านนี้ ก็อยากให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม ระบบเดิมๆ หรือไม่ ขอให้ดูผลสำรวจโพลต่างๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นด้วย กับการปฏิรูป การวางระบบ เพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น ส่วนคำตอบนั้น ขึ้นอยู่ที่ประชาชนต้องคิดกันเองว่าจะเลือกอย่างไร

** หนุนร่างรธน.ให้เหมาะสมสังคมไทย

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงกรณี ที่มีนักการเมืองออกมาเอะอะโวยวายเกี่ยวกับเรื่องระบบการเลือกตั้ง และที่มานายกรัฐมนตรี ว่า เป็นเพราะนักการเมืองเหล่านั้นเห็นว่าวิธีการที่ กรธ.เสนอ จะทำให้พรรคตัวเองเสียเปรียบ ได้รับเลือกตั้งน้อย เป็นการมองแต่ประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นความเห็นแก่ตัวทางการเมือง
" ผมเห็นว่าการร่างรธน. ครั้งนี้ ต้องไม่เกรงใจใคร ต้องไม่ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ เอาประเทศชาติ และประชาชนเป็นตัวตั้ง ใครจะได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ อย่าไปสนใจ มุ่งหน้าดำเนินการตามกรอบที่รธน.ชั่วคราว กำหนดไว้ โดยเฉพาะประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพของสังคมไทยในขณะนี้ก็คือ ต้องมีความมั่นคงทั้งทางการเมือง ทั้งความสงบเรียบร้อยของประเทศ และการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ นี่คือเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญที่ กรธ. จะต้องร่างรธน.ให้เกิดความมั่นคงดังกล่าวให้จงได้"
นายวันชัย กล่าวว่ารัฐธรรมนูญในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ต้องมีบทมาตราที่กำหนดเวลาของการสมานแผลแห่งการแตกแยกแตกสามัคคี อย่าเพิ่งรีบเร่งเป็นประชาธิปไตยจ๋า เพราะไม่เช่นนั้นมันก็ไม่ต่างอะไรกับแหน ที่โยนหินเข้าไปตูม แตกกระจาย สักพักก็กลับมารวมกันใหม่ ก็เหมือนให้มีการเลือกตั้งในระยะที่จะถึงนี้ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็กลับมาเหมือนเดิม การรัฐประหาร การปฏิรูป ก็ไร้ผล จึงจะต้องมีกลไกประคับประคองให้ประเทศเข้าที่เข้าทางจนแน่ใจว่าจะไม่กลับมาห้ำหั่นกันอีก แล้วค่อยเป็นประชาธิปไตยแบบสากล
ทั้งนี้ หากให้มีการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยจ๋า เหมือนที่เคยเป็นๆมาแล้วนั้น เชื่อเหลือเกินว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม ดังนั้น จึงต้องมีเวลาทิ้งช่วงในระยะเบื้องต้นกันบ้าง เมื่อเข้าที่เข้าทางกันเรียบร้อยแล้ว จะเป็นกันอย่างไรก็ได้

** เตือนผู้มีอำนาจ พวกเขลียร์จะพาเจ๊ง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี นายวันชัย สอนศิริ ออกมาสนับสนุนแนวคิด กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญโดยระยะแรกไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยจ๋า ว่าการที่นายวันชัย เหมารวมว่าสิ่งที่พรรคการเมือง ออกมาคัดค้านแนวคิดของกรธ. เป็นเพราะฝ่ายการเมืองไม่ได้ประโยชน์นั้น ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เราคำนึงเสมอว่า เรามาตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มาโดยการห้อยโหนอำนาจนอกระบอบเข้ามามีตำแหน่ง ที่สำคัญเราไม่ได้คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของฝ่ายการเมืองอย่างเดียว แต่สิ่งที่ตนออกมาคัดค้านแนวคิดการเลือก นายกฯ เลือก ส.ส.ทั้งสองระบบ แบบทรี อิน วัน เพราะมองว่ามันจะเป็นการสร้างปัญหาใหญ่ในอนาคต
" มีตัวอย่างที่ชัดเจนระหว่างความต่างของการคว่ำร่างรธน. ฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ คือ ที่พรรคประชาธิปัตย์ สนับสนุนให้มีการคว่ำร่างรธน.นั้นเพราะเห็นว่า เป็นการสร้างอำนาจรัฐซ้อนรัฐ กรณี คปป. แต่นายวันชัย ชูรณรงค์การคว่ำร่างรธน. เพราะต้องการให้ทหาร อยู่ต่อในอำนาจต่อไป นี่คือความต่าง เพราะเรามากันคนละระบอบ ฉะนั้นจึงขอเตือนผู้ที่มีอำนาจในขณะนี้ว่า ขอให้พึงระวังคนแบบนายวันชัย ที่ออกมาเชียร์ทุกอย่างว่าดี ว่าถูก ที่สุดก็จะเกิดปัญหาต่อผู้มีอำนาจ ที่จะประสบต่อชะตากรรมในอนาคต ถ้ายังรับฟังคนประเภทนี้แบบไม่ลืมหูลืมตา" นายนิพิฏฐ์ กล่าว

** ติง กรธ.ใช้วิธีโยนหินถามทาง

นายสุริยะใส กตะศิลา ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ในขณะนี้คงเร็วเกินไปที่จะประเมินร่างรธน. ว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปสำเร็จหรือไม่ คงต้องรอดูภาพรวมทั้งฉบับก่อน เพราะการแยกย่อย มองที่ละส่วนแบบที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ยังยากแก่การตัดสินใจ เพราะบางเรื่องต้องรอให้ กรธ. คิดให้สุด หรือเสนอแต่ละเรื่องให้เป็นระบบมากกว่านี้ ไม่ใช่คิดหรือเสนอออกมาครึ่งๆ กลางๆ แบบที่เป็นอยู่ แล้วเกิดข้อโต้แย้งจากสังคม จนทำให้บรรยากาศการปฏิรูป ดูเต็มไปด้วยความขัดแย้งมากกว่าความร่วมมือ
ฉะนั้น กรธ.เวลาแถลง หรือเปิดประเด็นในแต่ละมาตรา ก็ควรมองทั้งระบบ หรือให้ได้ข้อยุติมีเหตุผลรองรับในแต่ละเรื่องค่อยมาแถลงเพื่อให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่เปิดประเด็นมาแบบโยนหินถามทาง พอสังคมโต้แย้ง ก็ไม่ได้นำไปปรับปรุงใดๆ ท่าทีแบบนี้ จะส่งผลเสียต่อช่วงการลงประชามติ เพราะถ้าอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านจริงๆ ก็ต้องให้สังคมมีส่วนร่วม ซึ่งกรธ.ต้องออกแบบให้น่าเชื่อถือมากกว่านี้
"ผมเสนอให้ กรธ.เร่งเขียนร่างแรกให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะมีเวลาเหลืออีกกว่า 4 เดือน แล้วจัดเวทีรับฟังความเห็นหรือประชาพิจารณ์ในแต่ละประเด็น แต่ละหมวดอย่างเข้มข้น เพื่อปรับปรุงให้ได้ข้อยุติจากภาคส่วนต่างๆ มากที่สุด เพราะถ้าเขียนไปฟังไปแบบนี้ก็หาข้อยุติไม่ได้สักเรื่อง และเวลาก็จะหมดไปเรื่อยๆ เพราะกรธ.มีเวลาจำกัดแค่ 6 เดือนเท่านั้น" นายสุริยะใส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น