อดีต สปช.แนะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ฟังทุกฝ่าย ไม่อคติ เปิดโอกาสทุกคนมีส่วนร่วม ชี้ไม่ควรมีที่มา ส.ว.และ คปป. พร้อมแนะวางหลักการใหม่ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงทิศทางของว่าที่ 21 กรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ว่า บุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องมีความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ รู้ปัญหา เข้าใจการเมือง และต้องเป็นบุคคลที่พร้อมรับฟังข้อเสนอของทุกฝ่าย ไม่อคติ และต้องพยายามให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องวางหลักกันใหม่ ต้องสั้น ไม่ต้องมีรายละเอียดมากเกินไป ใช้ได้กับทุกเวลาและทุกสถานการณ์ ไม่ใช่เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคว่ำไป การจะให้ทุกฝ่ายยอมรับในรัฐธรรมนูญที่จะร่างขึ้นใหม่นั้น จะต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม อาทิ รับฟังความเห็นของนักการเมือง ฝ่ายข้าราชการ ประชาชน นักวิชาการ รัฐธรรมนูญถึงจะไปรอด หากยังเถียงกัน ทะเลาะกัน และดูถูกกัน เชื่อว่าก็ไปไม่รอด ในส่วนเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญเก่าที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่นที่มาของนายกฯ ที่มา ส.ว. คณะยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ก็ไม่ควรมี
ที่ผ่านมาระบบที่เราสร้างฝ่ายบริหารเชื่อมโยงนิติบัญญัติจนแยกออกจากกัน เพราะให้ ส.ส. โหวตเลือกนายกฯ นายกฯ มีสิทธิยุบสภาฯ สภาฯ สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ อย่างนี้เป็นเพราะเราเลียนแบบมานาน ไม่เหมาะกับประเทศไทย ถ้าจะแก้ปัญหา นายกฯ ต้องเป็นอิสระจากสภาอาจจะเลือกนายกฯ โดยตรง นายกไม่มีสิทธิยุบสภา สภาไม่มีสิทธิอภิปรายไว้วางใจนายกฯ เพราะต่างคนต่างมา ต่างทำหน้าที่ เลือกตั้งแล้วนายกฯ หรือ ส.ส.ต้องอยู่ให้ครบวาระ แต่ถ้าเกิดปัญหาก็ให้มีกระบวนการตรวจสอบ หากพบว่านายกฯ ผิดจริง เวลาออกก็ต้องออกทั้ง ครม. หรือรัฐมนตรีคนใดผิดก็ถอดถอนเป็นรายบุคคลไป บ้านเรานายกฯ อยู่ได้เพราะ ส.ส. ดังนั้นต้องไปหาประโยชน์ให้ ส.ส. จึงมีระบบโควตาว่า ส.ส.10 คนได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง ความเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับบริหารไม่แยกขาดจากกัน ดังนั้น ถ้าคิดตรงกันต้องวางหลักการใหม่ รายละเอียดไม่ต้องเยอะ กระบวนการถอดถอนก็ต้องมาคิดกันใหม่ อาจจะให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาถอดถอนได้ เราต้องวางหลักการใหม่ รายละเอียดไม่ต้องเยอะ
นายเสรีกล่าวว่า แม้การร่างรัฐธรรมนูญในภาวะนี้ ช่วงเวลานี้เราจะร่างกันอย่างไร แม้เป็นภาวะเผด็จการแต่ต้องร่างให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด การบริหารประเทศ แก้ปัญหาก็ต้องใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล จะอยู่นานเท่าไหร่ แก้ปัญหาบ้านเมืองอย่างไร ก็ต้องไปใส่ในบทเฉพาะกาล เอาปัญหาไปใส่ไว้ตรงนั้น ครม.จะให้อยู่นานเท่าใดก็ให้เขียนไว้ตรงนั้น วิธีร่างต้องแยกกัน ส่วนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ กับบทเฉพาะกาลที่จะใช้เฉพาะบางช่วงเวลา
สำหรับคณะกรรมการยกร่างชุดใหม่ 21 คน ก็คงต้องไปคิดเอง จะร่างเนื้อหาให้ใหม่ทั้งหมด หรือนำส่วนที่ร่างแล้วมาปรับปรุงแก้ไข หรือนำ 40 หรือ 50 มาเป็นต้นร่าง ต้องแล้วแต่กรรมการชุดใหม่จะมาพิจารณากันเอง