xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองของการประเมินผลงานรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและมีความเกี่ยวข้องกับค่านิยมอย่างสูง โดยเฉพาะค่านิยมของตัวผู้ประเมิน ยิ่งเป็นผลงานของรัฐบาลซึ่งมีมิติด้านการเมืองและอำนาจเป็นแกนกลางแล้ว ก็ยิ่งทำให้บทบาทของค่านิยมเข้ามาดำรงอยู่ในกระบวนการประเมินผลอย่างเข้มข้น

ค่านิยมเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่การตัดสินใจเลือกว่าจะหยิบยกเรื่องใด นโยบายใดที่รัฐบาลกำหนดและนำไปปฏิบัติขึ้นมาเป็นประเด็นในการประเมิน โดยทั่วไปไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามมีแนวโน้มที่จะหยิบยกเรื่องที่พวกเขาคิดเอาเองว่าประสบความสำเร็จในสายตาของพวกเขามาประเมิน ความรู้สึกว่าเรื่องใดประสบความสำเร็จนั้นอาจมาจากทิศทางของเสียงสะท้อนบางส่วนที่พวกเขาได้ยินจากกลุ่มเป้าหมาย ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ และสื่อมวลชน หากทิศทางของเสียงสะท้อนออกมาในเชิงบวก พวกเขาก็จะเกิดความรู้สึกว่า นโยบายนั้น เรื่องนั้น “น่าจะประสบความสำเร็จ” และหยิบยกเรื่องนั้นขึ้นมาเป็นประเด็นในการประเมิน

อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาประเมินอย่างหลีกเลี่ยงไปได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นรัฐบาลจะรู้สึกว่าสำเร็จหรือไม่ก็ตาม นั่นคือนโยบายหลักที่รัฐบาลได้ประกาศแก่สาธารณะอย่างต่อเนื่องเสมือนเป็นว่าเรื่องนั้นเป็น “ตราสัญลักษณ์” ของรัฐบาล อย่างรัฐบาลประยุทธ์ ตราสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ “เรื่องความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง” “เรื่องการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น” และ “เรื่องการปฏิรูปประเทศ” รวมทั้งเป้าหมายในเชิงพันธะสัญญาต่อประชาชนอันได้แก่ “การคืนความสุขสู่ประชาชน”

นอกจากเรื่องที่รัฐบาลประกาศต่อสาธารณะแล้ว มีบางเรื่องที่ในตอนแรกรัฐบาลอาจไม่ได้ตั้งใจกระทำแต่ต้องลงมือกระทำเมื่อมาเป็นรัฐบาลแล้ว และบังเอิญว่าเรื่องเหล่านั้นได้รับการตอบรับที่ดีจากสังคมเรื่องเหล่านั้นคือของการแก้ไขปัญหาบางปัญหาที่ดำรงอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่สาธารณะให้ความสนใจหรือไม่ก็เป็นปัญหาที่ได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศบีบให้รัฐบาลต้องแก้ไข เมื่อรัฐบาลทุ่มเททรัพยากรและสติปัญญาลงไปดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านั้น จนกระทั่งปัญหาได้รับการคลี่คลายในระดับหนึ่ง และกระแสสังคมตอบรับ ก็จะทำให้รัฐบาลหยิบยกเรื่องนั้นมาเป็นประเด็นในการประเมินผล ส่วนเรื่องใดที่ทำแล้วและระหว่างการดำเนินการมีกระแสตอบรับในทางที่ไม่ดีนัก รัฐบาลก็มักจะทำเป็นลืมหรือละเลยเรื่องนั้นไป

ในทางกลับกัน หากผู้ประเมินเป็นฝ่ายค้านหรือเป็นปรปักษ์กับรัฐบาล เรื่องที่กลุ่มเหล่านั้นเลือกมาประเมินก็จะมีแนวโน้มเลือกเรื่องที่พวกเขาคิดหรือรู้สึกว่าเรื่องนั้นมีผลในทางลบที่สะท้อนออกมามาก หรือเรื่องที่รัฐบาลทำไปแล้วมีอุปสรรคต่างๆนานาจนยากแก่การขับเคลื่อนได้ หรือเป็นเรื่องที่พวกเขาคิดว่ารัฐบาลควรทำอย่างเร่งด่วนและจริงจัง แต่รัฐบาลกลับไม่ทำหรือทำแต่มิได้ผลักดันอย่างจริงจังมากนัก

ยิ่งกว่านั้นหากเรื่องใดที่รัฐบาลกระทำไปแล้ว และส่งผลกระทบทางลบต่อความรู้สึกของผู้คน ผู้ประเมินที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาล ก็จะมองเรื่องนั้นประดุจเหยื่ออันโอชะที่จะต้องนำมาขยายความอย่างต่อเนื่อง เพื่อบ่งบอกต่อสาธารณะว่ารัฐบาลทำงานล้มเหลว

กระนั้นก็ตาม หากพิจารณาตามประเพณีทางวิชาการของการประเมินผลตามปกติ การเลือกเรื่องหรือนโยบายใดของรัฐบาลมาประเมินนั้นมักจะพิจารณาจาก 4 ด้านหลัก คือ ด้านแรกมาจากนโยบายที่รัฐบาลใช้ในการรณรงค์หาเสียง ด้านที่สองคือนโยบายที่รัฐบาลแถลงเอาไว้ในสภาผู้แทนราษฎร ด้านที่สามคือเรื่องที่รัฐบาลดำเนินการจริงระหว่างการเป็นรัฐบาล และด้านที่สี่คือความสามารถในการจัดการกับปัญหาหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเป็นรัฐบาล

สำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประเด็นที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเป็นการทำสัญญาประชาคมกับประชาชน และเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาเข้าสู่อำนาจทางการเมือง แต่หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ประเด็นสำคัญที่มักจะถูกนำไปประเมินคือ ประเด็นที่พวกเขาใช้เป็นเหตุผลในการทำรัฐประหาร ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่สร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร นอกเหนือจากกำลังอาวุธที่พวกเขาใช้ในการยึดอำนาจ

ด้านนโยบายที่แถลงในรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายเป็นจำนวนมากทั้งนโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะยาว และเป็นนโยบายที่ครอบคลุมอำนาจหน้าที่ของกระทรวงต่างๆ ทำให้การประเมินผลอาจไม่ได้รับความสนใจมากนักจากสาธารณะ การประเมินจึงมักเป็นเรื่องของกระทรวงเหล่านั้นไป

ด้านนโยบายที่รัฐบาลดำเนินการจริงมีทั้งการผสมผสานระหว่างนโยบายที่รัฐบาลตั้งใจกระทำตามพันธกิจหรือตามที่แถลงเอาไว้ในรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลอาจทำทั้งหมดหรือทำบางส่วนก็ได้ และนโยบายที่ “บังเกิดขึ้น” ระหว่างการบริหารที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อน ซึ่งเกิดจากปัญหาหรือเสียงเรียกร้องจากสังคมหรือต่างประเทศให้รัฐบาลดำเนินการ

และด้านสุดท้ายเป็นด้านของความสามารถในการแก้ปัญหาและความขัดแย้งในสังคม โดยปกติระหว่างการบริหารประเทศไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ปัญหาที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้นได้เสมอ รวมทั้งการที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย และรัฐบาลจะตอบสนองปัญหาเหล่านั้นอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ผู้ประเมินมักจะไม่ใช่เป็นรัฐบาลเอง โดยเฉพาะหากเรื่องนั้นสร้างผลกระทบด้านลบ รัฐบาลย่อมไม่อยากนำเรื่องเหล่านั้นมาประเมิน แต่ผู้ประเมินส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ องค์การระหว่างประเทศ สื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งรัฐบาลของต่างประเทศ

เรียกได้ว่าแม้แต่การเลือกเรื่องหรือนโยบายที่นำมาประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาล ก็ยังมีความซับซ้อนอยู่มาก เกี่ยวพันทั้งในเรื่องการเมือง ค่านิยม และเป้าหมายของกลุ่มต่างๆที่เป็นผู้ประเมิน

รัฐบาลย่อมประสงค์เลือกเรื่องที่พวกเขาคิดว่าตนเองทำแล้วประสบความสำเร็จมาประเมิน เพื่อที่ทำให้สามารถรักษาอำนาจและความนิยมเอาไว้ตามระยะเวลาที่เขากำหนดหรือให้ยาวนานที่สุด

ผู้ที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลย่อมเลือกเรื่องหรือนโยบายที่พวกเขาคิดว่าล้มเหลวมาประเมิน เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และทำให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจโดยเร็ว

องค์การระหว่างประเทศและรัฐบาลต่างประเทศก็ย่อมเลือกเรื่องตามความเชื่อและอุดมการณ์ของพวกเขามาเป็นประเด็นการประเมิน และหากเขามองว่ารัฐบาลใดที่ขึ้นมามีอำนาจบริหารประเทศไม่เป็นไปตามความเชื่อของพวกเขา พวกเขาก็มีแนวโน้มมองว่ารัฐบาลนั้นล้มเหลว

การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากรัฐบาลต้องการดำรงอำนาจและได้รับความชื่นชมต่อไป เรื่องที่รัฐบาลเลือกมาประเมินนั้นก็มักจะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความรู้สึกในเชิงบวกของกลุ่มคนที่สนับสนุนและเป็นฐานแห่งความชอบธรรมของรัฐบาลนั้นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น