ที่ประชุม กกต. มีมติให้เรียกค่าเสียหาย “ศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์” จัดการเลือกตั้ง ส.ว. ระนอง 5.42 ล้านบาท หลังศาลฎีกาลงดาบ 5 ปี กรณีแจกปฏิทินโลโก้พรรคประชาธิปัตย์และ ส.ส. ระนอง จูงใจให้คนออกมาใช้สิทธิ์ตนเอง นอกกรอบเวลา 90 วัน ก่อนครบวาระ ส.ว. พร้อมดำเนินคดีผู้สมัคร ส.ว. 10 ราย พร้อมสมุห์บัญชีเลือกตั้ง 63 ราย รายงานค่าใช้จ่ายเลือกตั้งไม่ถูกต้อง
วันนี้ (22 ธ.ค.) นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ที่ประชุม กกต. มีมติให้เรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระนอง จำนวน 5,424,297.54 บาท จากกรณีที่เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามมติ กกต. ที่เสนอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์ ส.ว. ระนอง มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันมีคำสั่ง เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่านายศักดาได้มอบหมายให้บุคคลที่รู้จักและไว้ใจไปแจกจ่ายปฏิทินให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปในพื้นที่รับผิดชอบ และได้กำชับให้ทำการแจกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 พ.ย. 2556 ซึ่งอยู่นอกกรอบเวลา 90 วัน ก่อนวันครบวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการจงใจกระทำการเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้าม
ประกอบกับการแจกปฏิทินที่มีตราสัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์กับภาพถ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการฝ่าฝืนเจตนารมณ์ของกฎหมาย เป็นการอ้างหรือทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าพรรคการเมืองดังกล่าวสนับสนุนตน เพื่อจูงใจผู้มีสิทธิลงคะแนนให้เลือกตั้งตนเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้การเลือกตั้ง ส.ว. ระนอง เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2557 ไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของ กกต. จึงมีมติให้ดำเนินคดีแพ่งฟ้องเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้ง ส.ว. ระนอง จากนายศักดาตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะขอความอนุเคราะห์พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต. ยังได้มีการพิจารณาผลการตรวจสอบการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือก ส.ว. เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2557 ของผู้สมัคร ส.ว. จำนวน 443 ราย โดยในจำนวนดังกล่าว ที่ประชุมมีมติสั่งยุติเรื่องกรณีที่ผู้สมัคร ส.ว. จำนวน 336 ราย และสมุห์บัญชีเลือกตั้งจำนวน 336 ราย ได้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศ กกต. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกวุมิสภา พ.ศ. 2551 กำหนด และสั่งยุติเรื่องกรณีผู้สมัคร ส.ว. จำนวน 97 ราย และสมุห์บัญชี จำนวน 44 ราย จัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามประกาศฯ ที่ กกต. กำหนด แต่มีการชี้แจงแสดงเหตุผลที่ กกต. เห็นว่าสามารถรับฟังได้
แต่มีผู้สมัคร ส.ว. จำนวน 10 ราย ที่ กกต. มีมติให้ดำเนินคดีตามมาตรา 52 ประกอบมาตรา 143 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี รวมทั้งดำเนินคดีแก่สมุห์บัญชีเลือกตั้ง จำนวน 63 ราย ตามมาตรา 51 ประกอบมาตรา 142 แห่ง พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี และห้ามเป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาไม่เป็นไปตามประกาศฯ กกต. กำหนด.