อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/
บทความชื่อ สื่อนอกเล่นแรง! เปรียบโพล รบ.อ้างคนไทย 99% พอใจผลงานกับเกาหลีเหนือ-อิรักยุคซัดดัม มาจาก http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000140605 ซึ่งรายงานว่า
เอพี - สื่อต่างประเทศงงผลโพลที่อ้างว่ามีประชาชนชาวไทยมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ที่พอใจผลงานของรัฐบาลทหารนับตั้งแต่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปีที่แล้ว พร้อมเปรียบเทียบแรง โดยระบุว่าเป็นรูปแบบผลสำรวจความคิดเห็นที่สามารถพบเห็นในเกาหลีเหนือหรืออิรักในยุคของซัดดัม ฮุสเซน
เอพีระบุว่าอ้างคำแถลงของ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ระบุว่าผลสำรวจนี้ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบมีผู้ตอบแบบสอบถามถึง 98.9 เปอร์เซ็นต์พอใจและมั่นใจผลงานของรัฐบาล อย่างไรก็ตามเขาไม่เปิดเผยถึงรูปแบบและขอบเขตความคลาดเคลื่อนของผลสำรวจ โดยบอกแต่เพียงว่าเป็นการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน 2,700 คน ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคม
เมื่อตรวจสอบพบว่าต้นตอแหล่งข่าวของ AP มาจาก Thai junta says 99 percent of people are happy with its rule เขียนโดย ณัฐสุดา อนุสรณ์อดิศัย (NATTASUDA ANUSONADISAI) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 เป็นภาษาอังกฤษ ดูได้จาก http://bigstory.ap.org/article/b7aa64e18d534555942aa1e1cea33dfd/thai-junta-says-99-percent-people-are-happy-its-rule
เมื่อตรวจสอบว่าต้นตอของข้อมูลมาจากไหนทำให้ทราบว่ามาจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/servopin/files/governmentAdministration58.pdf ซึ่งระบุว่าเก็บข้อมูลมาจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 ถึง 4 ธันวาคม 2558 ใช้แผนการสุ่มตัวอย่างแบบสามขั้นตอนแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified three stage sampling) โดยสุ่มเขตแจงนับ เป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่หนึ่ง สุ่มครัวเรือน เป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่สอง และสุ่มสมาชิกในครัวเรือนเป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่สาม จำนวนรวมทั้งสิ้น 7,200 คน ผลการศึกษาแสดงดังตารางด้านล่างนี้
ข้อคำถามนี้ให้ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจรัฐบาลจาก 1-10 คะแนน และเมื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตพบว่าประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเท่ากับ 7.81 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 หรือเท่ากับ (7.81-1)*100/(10-1) = 75.66% ซึ่งก็ต้องถือว่าได้คะแนนสูงใช้ได้
ปัญหาดราม่านี้น่าจะเกิดมาจากสองประการ
ประการแรก คือนักข่าวอ่านผลการรายงานทางสถิติไม่กระจ่าง และนำไปตีความประชดประชันรัฐบาลว่าเหมือนโพลล์จากเกาหลีเหนือ ซึ่งหากอ่านให้ชัดเจน ก็จะพบว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติได้อธิบายวิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนของประชาชน ร้อยละ 99.3 ระบุว่ามีความพึงพอใจมากที่สุด มาก ปานกลาง และน้อย เป็นการนำการจัดลำดับหรือตัดคะแนนออกมาเป็นช่วงทั้งหมด 6 ช่วง โดยเลือกมา 4 ช่วงเพื่อแสดงว่าประชาชนพึงพอใจ (ซึ่งในจํานวนนี้มีความพึงพอใจมากที่สุดร้อยละ 10.6 พึงพอใจมากร้อยละ 53.3 พึงพอใจปานกลางร้อยละ 30.7 และพึงพอใจน้อยร้อยละ 4.7) แต่อีกสองช่วงที่จัดว่าประชาชนไม่พึงพอใจคิดเป็นร้อยละ 0.7 เท่านั้น โดยมีผู้ที่ระบุว่าพึงพอใจน้อยที่สุด และไม่พึงพอใจเลย มีร้อยละ 0.5 และร้อยละ 0.2 ตามลําดับ
ประการที่สอง น่าจะเกิดจากการที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเลือกที่จะตัดข้อมูลออกเป็นช่วง (discretize) หรือกำหนดระดับคะแนนความพึงพอใจดังแสดงในรูปด้านล่างนี้ การกำหนดจุดตัดดังกล่าวอาจจะไม่เหมาะสม สำนักงานสถิติแห่งชาติเลือกจะนำเสนอข้อมูลทั้งที่มีการตัดข้อมูลออกเป็นช่วง และนำเสนอข้อมูลที่คิดจากคะแนนดิบโดยคำนวณค่าเฉลี่ยเลขคณิต แต่นักข่าวอาจจะเลือกนำเสนอข้อมูลที่โน้มไปทางดราม่าได้ อันที่จริงคะแนนค่าเฉลี่ยเลขคณิตที่ประชาชนให้รัฐบาลค่อนข้างดีเช่นกันและสอดคล้องไปกับดราม่าที่สื่อเลือกนำเสนอ ปัญหาที่อาจจะถือได้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อบกพร่องไปบ้างคือการสร้าง unbalance scale หรือสเกลที่ไม่สมดุล โดยกำหนดจุดตัดไว้ที่ 4 คะแนน (4-5-6-7-8-9 คะแนน) ถือว่าพึงพอใจ และ 1-2-3 ถือว่าไม่พึงพอใจ ค่อนข้างไม่สมมาตรหรือไม่สมดุล การนำเสนอข้อมูลแบบนี้ทำให้เกิดดราม่าและนักข่าวก็อาจจะเลือกข้อมูลในแง่มุมที่จะก่อให้เกิดดราม่าไปเขียนอีกต่อหนึ่งเช่นกัน
โดยหลักการแล้วการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลทางสถิติเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง พยายามไม่ให้มีอคติความลำเอียง เช่นเดียวกันกับการรายงานข่าวก็ต้องศึกษาจนเข้าใจสถิติอย่างถ่องแท้ และขจัดความลำเอียงในการนำเสนอข่าวเช่นเดียวกัน ดราม่านี้จึงมีที่มาและที่ไปเช่นนี้แล