เอเอฟพี - การหารือนอกรอบระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียเมื่อวานนี้ (28 ก.ย.) ยังได้ผลสรุปไม่ลงตัวเกี่ยวกับบทบาทในอนาคตของบาชาร์ อัล-อัสซาด โดยในขณะที่ โอบามา ตราหน้าผู้นำซีเรียเป็น “ทรราชสังหารหมู่เด็ก” แต่ ปูติน กลับเรียกร้องให้นานาชาติหนุนหลังรัฐบาลซีเรียให้เข้มแข็งเพื่อเป็นปราการต้านอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส)
ผู้นำรัสเซียขอให้รัฐสมาชิกสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ร่วมมือกันกวาดล้างนักรบญิฮาดหัวรุนแรงกลุ่มนี้ ทั้งยังระบุว่ารัสเซียมีแผนจะยกระดับความช่วยเหลือแก่กองกำลังอัสซาด และไม่ปิดโอกาสใช้การโจมตีทางอากาศ
หลังจากแถลงข่าวร่วมกันแล้ว โอบามา และ ปูติน ได้จับมือทักทายและชนแก้วกันในงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่มีเลขาธิการสหประชาชาติ บัน คีมูน เป็นเจ้าภาพ ทว่าการแสดงไมตรีแบบพอเป็นพิธีนี้ก็ไม่อาจปกปิดแนวคิดที่แตกต่างกันสุดขั้วระหว่างผู้นำทั้งสอง
หลังจากนั้น โอบามา และ ปูติน ได้ใช้เวลาหารือประมาณ 90 นาที ซึ่งผู้นำหมีขาวระบุว่าเป็นการพูดคุยแบบ “ตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์” ขณะที่เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวชี้ว่า “เป็นการโต้ตอบกันไปมาอย่างเป็นการเป็นงาน”
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนเดิม กล่าวเสริมว่า ปูติน และ โอบามา เห็นด้วยกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในซีเรีย แต่ทั้งสองยัง “คิดต่างกันโดยพื้นฐาน” เกี่ยวกับบทบาทของ อัสซาด
ในการกล่าวปาฐกถาต่อเวทีประชุมยูเอ็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ปูติน เตือนว่า “จะเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง หากเราไม่ร่วมมือกับกลุ่มชาวซีเรียที่กำลังต่อสู้กลุ่มก่อการร้ายแบบซึ่งหน้า”
“เราจะต้องแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญอยู่ และสร้างพันธมิตรต่อต้านก่อการร้ายอย่างกว้างขวาง” ผู้นำหมีขาวกล่าว พร้อมแนะให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเกี่ยวกับการก่อตั้งพันธมิตรที่ว่านี้ โดยให้อิหร่านและอัสซาดได้มีส่วนร่วมด้วย
ด้าน โอบามา ระบุว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัสเซียหรือแม้กระทั่งอิหร่านในการต่อต้านนักรบไอเอส แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยินยอมให้ อัสซาด ครองอำนาจในกรุงดามัสกัสต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
โอบามา ยังแย้งคำพูด ปูติน เกี่ยวกับบทบาทของผู้นำซีเรีย โดยชี้ว่า อัสซาด เป็นคนผลักไสชาวซีเรียไปสู่อ้อมแขนกลุ่มติดอาวุธด้วยการกระทำป่าเถื่อนต่อพลเมือง เช่น “ทิ้งระเบิดถังน้ำมันเพื่อสังหารหมู่เยาวชน”
ปูติน วิจารณ์การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯ ทั้งในอิรักและลิเบียว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลัทธิหัวรุนแรงเฟื่องฟู และฉุดภูมิภาคตะวันออกกลางเข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้ง กลุ่มไอเอสที่แผ่อิทธิพลครอบงำดินแดนอิรักและซีเรียเวลานี้ก็เป็นผลิตผลมาจากการที่วอชิงตันใช้กำลังทหารเข้าไปโค่นอำนาจ ซัดดัม ฮุสเซน และ มูอัมมาร์ กัดดาฟี
ผู้นำหมีขาวเอ่ยต่อไปอีกว่า หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ชาติตะวันตกก็ทำตัวเป็น “ศูนย์กลางการปกครองโลก” และส่งกองกำลังเข้าไปแทรกแซงความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งการใช้อำนาจอย่างทะนงตนเช่นนี้เอง “ก่อให้เกิดภาวะอนาธิปไตยในตะวันออกกลาง และการเติบโตของกลุ่มหัวรุนแรงและก่อการร้าย”
ปูติน ชี้ว่า การที่กลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเพื่อทำลายแหล่งซ่องสุมของไอเอสในซีเรียถือว่า “ผิดกฎหมาย” เพราะไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลซีเรียร้องขอ อีกทั้งไม่มีมติรับรองจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ปูติน ให้สัมภาษณ์ภายหลังในงานแถลงข่าวว่า หากมีพื้นฐานทางกฎหมายที่เหมาะสมต่อการโจมตีทางอากาศ รัสเซียก็ไม่ปิดโอกาสที่จะร่วมมือด้วย
“เรากำลังคิดหาวิธีที่จะช่วยสนับสนุนกองทัพซีเรียเพิ่มเติม... เรายังไม่ตัดแนวทางไหนออกทั้งสิ้น แต่จะกระทำก็ต่อเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ”
แม้จะมีกระแสข่าวว่าผู้นำยุโรปบางประเทศเริ่มมีท่าทีอ่อนลง โดยอาจยอมให้ อัสซาด อยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทว่าประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศสยังคงประกาศจุดยืนจริงจังว่า “ไม่เอาอัสซาด” เช่นเดียวกับสหรัฐฯ
“รัสเซียและอิหร่านแสดงความจำนงว่าอยากจะมีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้วย... ฉะนั้น เราคงต้องทำงานร่วมกับทั้ง 2 ชาติ และอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า เส้นทางไปสู่การแก้ปัญหาในซีเรียจะต้องไม่ผ่าน บาชาร์ อัล-อัสซาด” ออลลองด์ กล่าว
โอบามา ไม่ได้พูดชัดเจนว่าชะตากรรมของ อัสซาด ควรเป็นอย่างไร แต่ประกาศว่าซีเรียจะต้องไม่กลับไปสู่สถานะอย่างที่เคยเป็นก่อนเกิดสงคราม ในขณะที่ ปูติน แย้งว่า ชาวซีเรียเท่านั้นที่มีสิทธิ์ตัดสินใจปลดผู้นำของตัวเองออก และ อัสซาด ก็รับปากว่าจะเริ่มกระบวนการปฏิรูปเพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมคลี่คลายความขัดแย้ง
“ผมขอฝากไปถึงเพื่อนประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ และฝรั่งเศสด้วยความเคารพยิ่ง... พวกท่านไม่ใช่ชาวซีเรีย เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกผู้นำ” ปูติน กล่าว