คลังเตรียมนำวาระโอนเงินโดยใช้ “เบอร์โทรศัพท์/เลขที่บัตรประชาชน” แทน “เลขที่บัญชี” เข้า ครม. ตามแผนยุทธศาสตร์ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติว่าด้วยการขยายการใช้บัตรและระบบการชำระเงินแบบAny ID เริ่มต้นกลางปี 59 หวังระบบแบงก์จะปรับลดค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต ด้าน กสทช.เตรียมถก ธปท.-พาณิชย์วางกฎคุมเข้ม
นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในวันนี้ (22ธ.ค.) ทางกระทรวงการคลังจะเสนอแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งแผนดังกล่าว ธปท.เป็นหนึ่งในคณะทำงานที่รับผิดชอบเรื่องขยายการใช้บัตรและเรื่องการโอนเงินอ้างอิงหมายเลขหรือรหัสส่วนบุคคลแทนใช้เลขที่บัญชี (Any ID) อาทิ หมายเลขมือถือ เลขที่บัตรประชาชน จึงคาดว่าเรื่องนี้จะสามารถดำเนินการได้ในกลางปี 59 และน่าจะใช้แพร่หลายภายใน 3-5 ปีข้างหน้า
“ระบบการชำระเงินแบบ Any ID จะเพิ่มความสะดวกให้แก่รัฐบาลในการจ่ายเงินต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของสวัสดิการให้แก่ประชาชน อาทิ เงินชราภาพ โดยอาศัยเลขที่บัตรประชาชนจำนวน 13 หลักได้ ซึ่งจะสามารถระบุตัวบุคคลที่ได้รับเงินชัดเจนด้วย ซึ่งการรับจ่ายเงินภาครัฐสิ่งสำคัญช่วยลดโอกาสทุจริตได้และผลักดันให้คนอยู่นอกระบบมาอยู่ในฐานภาษีเพิ่มขึ้นด้วย ขณะเดียวกันการโอนเงินใช้เบอร์โทรศัพท์ ในระยะแรกใช้เบอร์โทรศัพท์ 1 เบอร์ต่อ 1 บัญชีหลักของผู้รับเงินก่อน ซึ่งต่อไปจะพัฒนาให้เป็น 1 เบอร์ ต่อหลายบัญชีได้”
บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด (ITMX) จะเป็นผู้ดูแลการโอนเงินต่างธนาคารผ่านเบอร์มือถือของระบบ Any ID จากปัจจุบันการโอนเงินทำได้เฉพาะภายในธนาคารเดียวกันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การสร้างความมั่นใจ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ฉะนั้นจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสมบูรณ์ ขณะเดียวกันช่วยป้องกันความผิดพลาดต่างๆ ด้วย ซึ่งธปท.ได้ส่งทีมงาน 3 ฝ่ายทั้งฝ่ายตรวจสอบด้านไอที ฝ่ายดูแลธุรกรรมภาคธุรกิจและฝ่ายเทคนิคเข้าช่วยดูแล
ทั้งนี้ ธปท.มีการหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายแห่ง อาทิ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายภาษี เป็นต้น อีกทั้งหารือหลายประเทศดำเนินการเรื่องนี้และประสบความสำเร็จ ได้แก่ อังกฤษ สวีเดน สิงคโปร์ ออสเตรีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น
หวังแบงก์ลดค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต
รองผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ธปท.ต้องการให้ระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต หลังจากที่ธปท.พัฒนาให้ใช้บริการระบบ Local Switching (LSW) สำหรับบัตรเดบิตมาตั้งแต่ปี 56 ทำให้ต้นทุนของบัตรเดบิตลดลงและต้นทุนถูกกว่าบัตรเครดิต ซึ่งที่ผ่านมาก็มีแค่บางธนาคารเท่านั้นที่ลดค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตกันเอง จึงอยากจะขอความร่วมมือดังกล่าว พร้อมทั้งเห็นว่าธนาคารควรมีการออกแคมเปญมากระตุ้นให้เกิดการใช้บัตรเดบิตมากขึ้น อาทิ ให้คะแนนเพิ่มขึ้นเมื่อใช้บัตรเดบิตตามระยะเวลากำหนดอย่างใช้ช่วง 15-30 วัน เป็นต้น
เลื่อนใช้ชิปการ์ดเป็นเดือนพ.ค.59
นอกจากนี้ ธปท.จะเลื่อนใช้ชิปการ์ดแทนแถบแม่เหล็ก สำหรับบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม รวมถึงตู้เอทีเอ็มที่ต้องเปลี่ยนระบบให้รองรับชิปการ์ดได้ เป็นเดือนพ.ค.59 จากเดิมกำหนดใช้ไว้เป็นวันที่ 1 ม.ค.59 เพราะเท่าที่สำรวจสถาบันการเงินยังติดขัดเรื่องวางระบบ จึงคาดว่าช่วงเวลาใหม่ที่บังคับใช้ชิปการ์ดจะสามารถดำเนินการได้ 80-90% ส่วนที่เหลือยังต้องใช้เวลาปรับตัวบ้าง เพราะในปัจจุบันในระบบมีปริมาณบัตรมากถึง 30-40 ล้านใบ อย่างไรก็ตาม หวังว่าภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อจูงใจแก่สถาบันการเงินวางระบบใหม่นี้หรือให้คนใช้สลิปชิงโชคอย่างเกาหลีใต้
กสทช. ถกคุมเข้มชำระเงินผ่านมือถือ
นายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า จากนี้ไปจะเห็นภาพการให้บริการผ่านมือถือ Mobile- Payment ด้วยการให้ลูกค้าเติมเงินเข้าไปในระบบซิมการ์ดจำนวนหนึ่ง เช่น 5,000-10,000 บาท เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรี จากนั้นสามารถนำเงินในมือถือไปซื้อสินค้าผ่านห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการในการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องใช้เงินสด นับเป็นการระดมทุนอีกรูปแบบหนึ่งของผู้ให้บริการค่ายมือถือ ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบทางการเงินอีกด้านหนึ่ง แนวทางดังกล่าวเริ่มใช้แล้วหลายประเทศในยุโรป กสทช. จึงเตรียมหารือกับ ธปท. และกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจาก ธปท.เป็นผู้ดูแลควบคุมการใช้บริการทางการเงิน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ดูแลด้านราคาสินค้า ส่วน กสทช.ควบคุมดูแลบริการด้านมือถือ จึงต้องวางข้อกำหนดร่วมกันในการดูแลผู้บริโภค เพราะต่อไปประชาชนสามารถใช้การเติมเงินในซิมการ์ดไปใช้บริการจ่ายค่าโดยสาร ค่าบริการ หรือซื้อสินค้า