xs
xsm
sm
md
lg

คาดอีก 20 ปี รูปแบบการให้บริการทางการเงินจะเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมธนาคารไทย กำหนดเป้าหมายให้ประชาชนใช้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเท่าตัว เพื่อลดใช้เงินสดการติดต่อธนาคาร พร้อมเพิ่มมูลค่าการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดประหยัดต้นทุนได้ปีละหลายแสนล้าน หรือคิดเป็น 1% ของจีดีพี เมื่อลดใช้เงินสด และใช้ชิปการ์ดแทนแถบแม่เหล็กบนบัตร คาดอีก 20 ปี รูปแบบการให้บริการทางการเงินจะเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผัน ขณะที่ ธปท. แนะให้ความรู้ประชาชน เกิดความมั่นใจ ไม่หวั่นกลัวความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้บริการ และการพัฒนาระบบ

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2558 “ผนึกกำลังผลักดันเศรษฐกิจไทยก้าวสู่ Digital Econmomy 2015″ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” โดยระบุว่า สมาคมธนาคารไทยได้กำหนดแผน 5 ปีข้างหน้าของสถาบันการเงิน ด้วยการกำหนดเป้าหมายให้ประชาชนใช้บริการระบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตเพิ่มขึ้นจากเดิมใช้เงินสดไปติดต่อกับธนาคารจาก 25 รายการต่อคนต่อปี เพิ่มเป็น 50-60 ต่อรายการต่อคนต่อปี เป็นการเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากการใช้เงินสดติดต่อธนาคารในปัจจุบัน

นอกจากนี้ จะเพิ่มมูลค่าเงินของการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 60-70 ต่อปี เมื่อสถาบันการเงินได้พัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น มองว่าจะช่วยภาคธุรกิจเอกชน ร้านค้า ธนาคารช่วยประหยัดต้นทุนได้นับแสนล้านบาทต่อปี เมื่อลดการใช้เงินสด นับว่าเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 1 ของจีดีพี หลังจากได้ปรับบัตรเครดิตเป็นระบบชิปการ์ดมาแทนแถบแม่เหล็ก

หลังจากนั้น ในเดือนพฤษคม 2559 ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะใช้ระบบชิปการ์ดทั้งหมด และธนาคารทุกแห่งจะมีระบบป้องกันไวรัสการป้องกันความเสี่ยงตามมาตรฐานของ ธปท. ที่กำหนด

นายปุณณมาศ วิติตรกุลวงศา ประธานชมรมผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มองว่า ในอีก 20 ปีข้างจะมีการเปลี่ยนแปลงให้บริการทางการเงินพลิกผันอย่างมากจากปัจจุบัน การเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต สถาบันการเงินจึงต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะให้ความสำคัญรองรับการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินในอนาคตผ่านกฎเกณฑ์เงื่อนไข เพื่อให้ระบบมีมาตรฐานลดความเสี่ยง

ส่วนระบบความปลอดภัยของไอทียังมีความเสี่ยง แต่ประชาชนผู้ใช้บริการต้องป้องกันตนเองห้ามแชร์ข้อมูลส่วนตัวผ่านโทรศัพท์มือถือของตัวเอง การเลือกผู้ประกอบการที่ใช้ใจได้ เพื่อไม่แจกเลขบัตรประชาชนให้แก่ผู้ประกอบการทั้งหลาย

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในต้นปีหน้าได้กำหนดให้เครื่องเอทีเอ็มทุกเครื่องจะสามารถรับบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิตชิปการ์ดของธนาคารต่างๆ ได้ทั้งหมด เพื่อพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัย ที่สำคัญการให้ความรู้แก่ประชาชนสำคัญที่สุด เพราะปัญหาแฮกข้อมูลยังมีอยู่ จึงต้องหาทางกำกับดูแล เพราะหากประชาชนใช้บริการระบบดิจิตอลจำนวนมากแล้วเกิดความไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างมาก

ทั้งนี้ ธปท.ต้องการสนับสนุนให้ธนาคารใช้ตู้เอทีเอ็มร่วมกันเพื่อกระจายตู้ไปยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อหวังให้ลดการใช้เงินสดเพื่อลดต้นทุนการเก็บเงินในตู้เอทีเอ็มของธนาคารแต่ละแห่ง 20,000-30,000 ล้านบาท และยังมีค่าขนส่งประกันความปลอดภัย อีกทั้งต้นทุนการพิมพ์ธนบัตรในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง หากลดการใช้เงินสดลงได้จะประหยัดต่อระบบได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น