xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันโจรยุคไฮเทคดูดข้อมูลบัตรเอทีเอ็ม ก่อนตกเป็นเหยื่อรายใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แก๊งสกิมเมอร์ (skimmer) หรือโจรดูดข้อมูลในบัตรเอทีเอ็ม” อีกภัยธุรกรรมทางการเงิน ที่คนในยุคนี้ต้องเรียนรู้ตามโจรให้ทันและถือเป็นความท้าทายกับวิธีแก้ปัญหาในอนาคต ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ต้องเปลี่ยนเป็นบัตรเอทีเอ็ม ชิปการ์ดทุกธนาคาร

นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาที่แก๊งลักลอบดูดข้อมูลบัตรเอทีเอ็ม กลับมาอาละวาดอีกครั้ง มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อได้รับความเดือดร้อนจากการก่อเหตุตระเวนติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ไปในทุกๆ พื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายชาวต่างชาติได้หลายคดีโดยสถานที่ซึ่งโจรเหล่านี้แอบไปติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ซ่อนในตู้เอทีเอ็ม มีการก่อขยายวงกว้างทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในย่านกลางกรุงที่มีผู้คนสัญจรพลุกพล่าน หน้าร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง หรือตามสถานีบริการน้ำมันแถบชานเมืองทางฝั่งรังสิต ปทุมธานี รวมถึงพื้นในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี เมืองพัทยา ภูเก็ต กระบี่ พังงา และจังหวัดสงขลา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นภัยใกล้ตัวสำหรับผู้ใช้บัตรเอทีเอ็มและบัตรเครดิตที่ต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยเมื่อตามดูวิธีการของขบวนการนี้ มักจะเป็นกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ ที่เข้าไปก่อเหตุในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งถือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่โจรกลุ่มนี้เดินทางเข้ามาก่อคดีโจรกรรม

โดยอาศัยวิธีการติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ หรือเครื่องคัดลอกข้อมูล จากแถบแม่เหล็กวงจรถอดรหัส พร้อมวงจรหน่วยความจำที่ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลเมื่อมีการกดรหัสเอทีเอ็ม นำมาประกอบเข้าด้วยกัน หรือแม้แต่สามารถส่งข้อมูลต่อไปถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ของมิจฉาชีพทันทีเลยก็ได้ โดยโจรจะนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปติดตั้งไว้ที่ช่องเสียบบัตรของตู้เอทีเอ็มในสถานที่ต่างๆ

หลังจากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาจากการอ่านของเครื่องสกิมเมอร์ ซึ่งมีตั้งแต่เลขหน้าบัตร ชื่อผู้ครอบครอง ประเภทของบัตร วันหมดอายุ ที่ลักลอบนำมาจากบัตรของผู้เสียหายที่มาใช้บริการหน้าตู้เอทีเอ็มไปทำบัตรปลอม หรืออาจนำข้อมูลไปขายต่อในอินเทอร์เน็ต เพื่อนำข้อมูลไปทำบัตรปลอมที่มีคุณสมบัติเหมือนบัตรตัวจริงได้ทุกประการ ทั้งการกดเงินสดหรือซื้อสินค้า

สำหรับการป้องกันเรื่องนี้ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ นั้นนอกจากนโยบายการดูแลรักษาความปลอดภัยของข้อมูลให้กับลูกค้าที่ทำธุรกรรมทางการเงินยังมีระบบการตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องเอทีเอ็มอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างที่มีเช่น ธนาคารกสิกรไทยใช้วิธีติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการคัดลอกข้อมูล (Anti-Skimming) ไว้ที่เครื่องเอทีเอ็มของธนาคารทุกเครื่องทั่วประเทศ หรือธนาคารกรุงเทพ ที่เริ่มออกบัตรเดบิต ชิปการ์ด ให้กับผู้ถือบัตรเอทีเอ็มของธนาคาร

วิธีการดังกล่าวเป็นแนวโน้มที่ในอนาคต บัตรชิปการ์ด จะเข้ามาแทนที่บัตรแถบแม่เหล็กแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะมองว่าเป็นวิธีที่จะป้องกัน และสกัดกั้นไม่ให้มีการลักลอบดึงข้อมูลจากบัตรเอทีเอ็มไปได้ ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะต้องออกบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มเป็นชิปการ์ด รวมถึงปรับปรุงเครื่องเอทีเอ็มให้รองรับชิปการ์ดได้ทุกเครื่องเช่นกัน

วิธีการลดความเสี่ยงจากการเป็นเหยื่อ

ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตามกวาดล้างอย่างหนัก และธนาคารผู้ออกบัตรที่พยายามหาทางแก้ไข โดยการให้คำแนะนำถึงการสังเกตลักษณะของตู้ที่มีการลักลอบติตตั้งเครื่องสกิมเมอร์แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดขบวนการโจรกรรมนี้ให้หมดไปได้ เพราะมิจฉาชีพเองก็ยกระดับความรวดเร็วและแนบเนียนของการแฮกข้อมูลให้มากขึ้นไปอีก
แฟ้มภาพ : ตำรวจกระบี่รวบแก๊งสกิมเมอร์ชาวฝรั่งเศส 2 คน ( 7 มีนาคม 2558)
ถึงแม้ในกรณีที่มีผู้ใช้บริการบัตรเอทีเอ็มได้รับความเสียหายจากฝีมือของแก๊งสกิมเมอร์ ธนาคารจะมีการชดเชยคืนเงินให้กับลูกค้าตามยอดเงินที่หายไปกลับคืนมาก็ตาม ในฐานะของผู้ใช้บริการก็ต้องรู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเหยื่อ สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้โดนขโมยข้อมูลจากแก๊งสกิมเมอร์มี 6 ข้อหลักๆ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการโจรกรรม และการปลอมแปลงคือ

1.หากพบกล่องใส่ใบปลิวที่มีลักษณะแปลกๆ ติดไว้บริเวณเครื่อง ให้เลี่ยงไม่กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มตู้นั้นโดยเด็ดขาด เพราะมิจฉาชีพอาจติดกล่องไว้ เพื่อใช้ซ่อนกล้อง

2.สังเกตช่องเสียบบัตรเอทีเอ็มต้องแน่นและไม่หลุดติดมือ ลองขยับหรือโยกอุปกรณ์ต่างๆ ของตู้เอทีเอ็มดู เพราะหากมีตัวสกิมเมอร์ติดอยู่ การโยกอาจจะทำให้ตัวสกิมเมอร์หลุดออก
มาได้ เพราะโดยปกติแล้วโจรจะไม่ติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์อย่างแน่นหนา เพื่อสะดวกในการถอดเครื่องไปใช้ติดตั้งที่ตู้อื่นๆ

3.สังเกตแป้นกดรหัส ถ้ามีความหนา แป้นสูงนูนขึ้นมา มักจะเป็นแป้นที่ใช้อุปกรณ์แปลกปลอม ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยงและให้รีบแจ้งธนาคารทราบทันที

4. ใช้มือปิดบังแป้นกด ในขณะที่กำลังกดรหัสผ่าน

5.ให้เลือกกด “ตู้เอทีเอ็มที่อยู่หน้าสาขาของธนาคารเอง” ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ตลอด24 ชั่วโมง ทำให้คนร้ายไม่สามารถนำเครื่องสกิมเมอร์ไปติดได้

6.กรณีที่บัตรติดอยู่ในเครื่องหรือเครื่องเอทีเอ็มขัดข้อง ให้รีบแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัตรทันที เพราะสาเหตุอาจเกิดจากคนร้ายใช้เศษไม้ หรือไม้จิ้มฟันใส่เข้าไปในช่องอ่านบัตร เพื่อให้บัตรของผู้ใช้บริการติดอยู่ที่เครื่อง และจะทำทีเข้ามาช่วยเหลือกดรหัสให้

ส่วนวิธีการที่จะลดความเสี่ยงจากการใช้บัตรเครดิต ให้สามารถใช้อย่างปลอดภัย ไม่ให้ข้อมูลถูกโจรกรรม มีอยู่ 10 ข้อ คือ

1.เซ็นชื่อบนบัตรใหม่ทันทีที่ได้รับบัตร เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเซ็นแทนในกรณีที่บัตรสูญหายหรือถูกขโมย ผู้มีบัตรจะสามารถนำไปรูดซื้อสินค้าได้ทันที

2.ให้ระวังผู้ไม่หวังดีมาหลอกล้วงข้อมูลส่วนตัว อย่าตอบอีเมลหรือให้ข้อมูลทางโทรศัพท์ที่น่าสงสัยโดยเด็ดขาด

3.ก่อนจะซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ควรค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่ไม่คุ้นเคย และให้ระวังร้านค้าออนไลน์ที่เสนอราคาถูกเกินไป เพราะร้านพวกนี้มีแนวโน้มที่จะหลอกลวงลูกค้า วิธีการค้นหาข้อมูลนั้น มีทั้งจากอินเทอร์เน็ต สอบถามเพื่อนๆ หรือโทร.สอบถามจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่หมายเลข 1166

4.ป้องกันรักษาข้อมูลบัตรเครดิตที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือด้วยวิธีใช้รหัสผ่าน หรือรหัสลับเท่านั้น เพราะในกรณีที่มือถือหายหรือถูกขโมย วิธีนี้จะช่วยปกป้องข้อมูลไว้ได้

5.ตรวจสอบใบแจ้งหนี้บัตรเครดิตอย่างสม่ำเสมอว่าไม่มีรายการที่น่าสงสัย หรือไม่คุ้นเคยพ่วงมาด้วย

6.ทำลายเอกสารใบแจ้งยอดบัญชี หรือข้อมูลบัตรก่อนทิ้งทุกครั้ง

7.การใส่หมายเลขบัตรเครดิตทางออนไลน์ ต้องตรวจสอบว่าระบบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมีความปลอดภัย

8.ไม่เปิดเผยรหัส PIN หรือรหัสผ่านเข้าบัญชีใดๆ แก่พนักงานขาย ร้านค้าออนไลน์ จะให้ก็ต่อเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว และหากว่ามีการนำบัตรเครดิตไปใช้กับร้านค้า ต้องให้บัตรอยู่ในสายตาตลอดเวลาเพื่อป้องกันพนักงานนำบัตรไปรูดกับเครื่องสกิมเมอร์

9.ห้ามใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือ PIN เป็นรหัสผ่าน

10.หากประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลข 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

โจรพัฒนาฝีมือต้องเร่งหามาตรการป้องกัน

แหล่งข่าวจากวงการไอที กล่าวกับ Special Scoop ว่า สิ่งที่น่ากลัวสุด คือ โจรสมัยนี้มีพัฒนาการขึ้นมาก ทั้งความรวดเร็วในการติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์คัดลอกข้อมูลบัตร แถมยังมีการออกแบบเครื่องสกิมเมอร์ที่นำมาติดตั้งอย่างแนบเนียนจนไม่เป็นที่ผิดสังเกต

แก๊งนี้ยกระดับฝีมือขึ้นมามาก มีการเปลี่ยนและพัฒนาวิธีการให้ซับซ้อนไปเรื่อย นับตั้งแต่การสร้างบัตรปลอมซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ “บัตรสี” ซึ่งเป็นบัตรเครดิตปลอมที่มีสี มีลวดลาย และมีตัวพิมพ์นูน

ส่วนการปลอมแปลงอีกลักษณะ คือ “บัตรขาว” หรือบัตรปลอมในรูปแบบพลาสติกสีขาว ซึ่งมีแถบแม่เหล็กเก็บข้อมูล ที่สามารถนำไปใช้กดเงินตามตู้เอทีเอ็มได้เหมือนบัตรจริง รวมถึงมีข้อมูลในแถบแม่เหล็กอย่างถูกต้องเหมือนต้นฉบับทุกอย่าง พร้อมเพิ่มหน่วยความจำจากสกิมเมอร์เดิมที่มีหน่วยความจำเก็บข้อมูลบัตรเครดิตได้ 50 ใบ ก็เพิ่มมากขึ้นจนเก็บข้อมูลได้เป็นหลักหมื่นใบ

ธนาคารเจ้าของบัตรเอทีเอ็มและเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็พยายามหาทางออก เพื่อที่จะแก้ปัญหาไม่ให้กลุ่มมิจฉาชีพข้ามชาติสามารถลักลอบติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ไว้ที่ตู้เอทีเอ็มได้ โดยธนาคารใช้วิธีประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการตรวจสอบตู้เอทีเอ็ม เพื่อป้องกันไม่ให้บัตรเอทีเอ็มถูกแฮกข้อมูล ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตามกวาดล้างขบวนการข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยในสถานะนักท่องเที่ยวแต่ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถสกัดกั้นได้ ยังคงมีเหตุการณ์ที่เจ้าของบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิต ตกเป็นเหยื่อถูกขโมยข้อมูลในบัตร และถอนเงินสดจากบัตรที่มีการปลอมแปลงให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

“เมื่อก่อนตู้เอทีเอ็มที่มีความปลอดภัยสูง คือ ไม่ตั้งอยู่ในที่เปลี่ยว มักจะอยู่บริเวณที่คนพลุกพล่าน และมีแสงสว่าง เช่น เครื่องเอทีเอ็มที่ติดตั้งบริเวณร้านสะดวกซื้อที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง เพราะด้วยสถานที่นั้นไม่เอื้ออำนวยให้คนร้ายสามารถติดตั้งกล้องขนาดจิ๋ว หรือกล้องรูเข็มไว้ด้านบนของตู้เพื่อแอบดูรหัสกดเงิน รวมถึงไม่สามารถติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ได้ แต่เดี๋ยวนี้ตู้ที่อยู่หน้าร้านค้า หรือในห้าง ในปั๊มน้ำมัน ก็โดนกันทั่ว และกว่าจะรู้ตัวเงินก็หายหมดบัญชี”แหล่งข่าวกล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น