สมาคมธนาคารไทย ยืนยันไม่เก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มในการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตเป็นชิปการ์ด ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.นี้
จากกรณีตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 บัตรเบิกถอนเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) และบัตรเดบิต ที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในประเทศจะเปลี่ยนจากแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ด ตามมาตรฐานชิปการ์ดของไทย สำหรับบัตรแบบเดิมแบบแถบแม่เหล็ก จำนวน 60 ล้านใบ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจะทยอยเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ดภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ได้ปรับปรุงระบบตู้เอทีเอ็มเป็นระบบชิปการ์ดแล้ว ประมาณร้อยละ 86 จากทั้งหมด 60,000 เครื่องทั่วประเทศ และจะปรับปรุงเป็นระบบชิปการ์ดทั้งหมดภายในปลายปี 2559
ส่วนการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตจากระบบแถบแม่เหล็กเป็นระบบชิปการ์ดให้ลูกค้า ธนาคารยืนยันว่า ยังเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเดิม ไม่มีการขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด เนื่องจากต้นทุนของทั้งระบบไม่ได้แตกต่างกันมาก เพราะปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันกันสูงอยู่แล้ว
ทั้งนี้ หากธนาคารใดมีการขึ้นค่าธรรมเนียมลูกค้าจะหันไปใช้บริการจากธนาคารอื่น โดยจะขอให้ธนาคารพาณิชย์แจ้งข้อมูลแก่ลูกค้าอย่างทั่วถึงเรื่องค่าธรรมเนียมเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจ และเปลี่ยนบัตรเป็นระบบชิปการ์ด
รายงานข่าวเพิ่มเติม ระบุว่า จากการสอบถามข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์ พบว่า บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตมีอัตราค่าแรกเข้า 100 บาท และค่าธรรมเนียมรายปี 200-230 บาทต่อปี ซึ่งธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีการคิดอัตราค่าธรรมเนียมแตกต่างกันตามแต่ประเภทบัตร
กรณีการเปลี่ยนชิปการ์ดดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ถือบัตรมีความปลอดภัยมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการปลอมแปลงบัตรในประเทศที่เกิดจากช่องโหว่ของบัตรแถบแม่เหล็กที่อาจถูกโจรกรรมข้อมมูล (Skimming) เพื่อนำไปทำบัตรปลอม และใช้ถอนเงิน และช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม รวมถึงการชำระค่าสินค้า และบริการผ่านเครื่องรับบัตร (POS) แทนการใช้เงินสด
นอกจากนี้ การใช้ชิปการ์ดยังสอดคล้องต่อหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีการปรับเปลี่ยนบัตรชิปการ์ดแล้ว เพื่อยกระดับความปลอดภัย และเป็นการต่อยอดบริการชำระเงิน โดยช่วยส่งเสริมการใช้ e-Payment ให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น สอดคล้องต่อแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ของรัฐบาล