อ่านประกอบ : บัตรเดบิตระบบชิปการ์ดปี 2559 ธนาคารไทยไม่พร้อม? (26 กันยายน 2558)
16 พฤษภาคม 2559 เป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ออกบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิตให้กับลูกค้าแบบชิปการ์ด ตามมาตรฐาน EMV เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
ส่วนบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็ก (Magnetic Card) ที่มีอยู่เดิม ยังสามารถใช้ทำธุรกรรมทางการเงินกับตู้เอทีเอ็มทุกตู้ได้ตามปกติ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรืออีก 3 ปีครึ่งข้างหน้า
เหตุผลที่เปลี่ยนระบบบัตรจากแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ด เพราะที่ผ่านมาผู้ถือบัตรบางรายถูกมิจฉาชีพคัดลอกข้อมูลบัตรจากแถบแม่เหล็ก (Skimming) เพื่อนำไปทำบัตรปลอม แล้วถอนเงินออกจากบัญชีของเหยื่อได้รับความเสียหาย
แม้ว่าแทบทุกธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดเพื่อสนองนโยบายอย่างคึกคัก
แต่ก็พบว่า นอกจากจะใช้โอกาสนี้ขึ้นค่าธรรมเนียมอย่างเนียนๆ แล้ว ผู้บริโภคกลับมีตัวเลือกน้อยลง
นับตั้งแต่ที่ธนาคารกรุงเทพ ยกเลิกจำหน่ายบัตรเอทีเอ็มเมื่อปี 2553 เป็นธนาคารแรก ก่อนหน้านี้ได้ออกผลิตภัณฑ์บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท แบบชิปการ์ด
ก็มีเสียงบ่นว่าถอนเงินได้เฉพาะตู้ ATM ธนาคารกรุงเทพเพียงไม่กี่พันตู้เท่านั้น
แต่สำหรับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ มักจะไม่ผลิตบัตรเอทีเอ็มธรรมดา แต่จะให้ลูกค้าหันมาสมัครบัตรเดบิตแทน
โดยอีกทางหนึ่งได้ขึ้นค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเอทีเอ็ม ให้เท่ากับบัตรเดบิต ตั้งแต่ 200 - 250 บาท เพื่อจูงใจลูกค้าด้วย
กระทั่งการเปลี่ยนระบบบัตรจากแถบแม่เหล็กเป็นชิปการ์ด ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำได้ "หยุดจำหน่าย" บัตรเอทีเอ็มอย่างเป็นทางการ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารทหารไทย, ธนชาต, กสิกรไทย และ ไทยพาณิชย์
บางธนาคาร ได้ให้บริการบัตรแบบชิปการ์ด "เฉพาะบัตรเดบิต" เท่านั้น ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา, ซีไอเอ็มบี ไทย, ยูโอบี, สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ไทย และ ออมสิน
ส่วนธนาคารที่ "ยังออกบัตรเอทีเอ็มธรรมดา" แบบชิปการ์ด มีเพียงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งบัตรธรรมดาและบัตรทอง รวมทั้งธนาคารเล็กๆ อย่างธนาคารทิสโก้ ไทยเครดิต เป็นต้น
ยังมีอีกหลายธนาคารที่ยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ว่าจะเปลี่ยนบัตรเดบิตเป็นแบบชิปการ์ด (ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2559) ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และเกียรตินาคิน
แต่เท่าที่สอบถามเพื่อนที่ทำงาน ธอส. สาขาต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ทราบว่าที่นั่นใช้บัตรเอทีเอ็มแบบชิปการ์ดแล้ว และบัตรมาถึงสาขาแล้ว
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน หลังแต่ละธนาคารออกผลิตภัณฑ์บัตรแบบชิปการ์ด คือ ค่าธรรมเนียม
พบว่าแต่ละธนาคารเพิ่ม “ค่าธรรมเนียมรายปี” ที่หักจากบัญชีเป็นประจำทุกปีอย่างเนียนๆ ขึ้นอย่างน้อย 19% และอาจสูงสุดถึง 50%
ธนาคารกรุงเทพ ในช่วงที่เปิดตัวบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท เมื่อปี 2552 ได้กำหนดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท รายปี 300 บาท แต่ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้คิดค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาทมาโดยตลอด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 ธนาคารกรุงเทพได้กำหนดให้ลูกค้าที่สมัครขอใช้บริการจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ธนาคารคิดค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท (จากปกติ 300 บาท)
โดยไม่รู้ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ลูกค้าที่สมัครบัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท แบบใหม่ จะยังคงคิดค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาทเหมือนเดิม หรือจะเพิ่มเป็น 300 บาทไปเลยหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุ ได้แก่ บัตรบีเฟิสต์ แรบบิท ศิริราช คิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 599 บาท
ธนาคารจะนำค่าธรรมเนียมสมัครบัตรใหม่ 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 50 บาท และรูดซื้อของด้วยบัตรวีซ่า 0.20% (100 บาท = 20 สตางค์) บริจาคให้แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
รวมทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ยังออกบัตรเดบิต TPN Union Pay เป็นแห่งที่สามต่อจากธนาคารไอซีบีซี ไทย และธนาคารกรุงไทย เพื่อรองรับเครือข่ายระบบการชำระเงินของประเทศไทยที่เรียกว่า ไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก (TPN) ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
ธนาคารกสิกรไทย เดิมมีผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตอยู่หลายประเภท ต่ำที่สุดคือบัตรเดบิตกสิกรไทย ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท แต่มักจะพบเฉพาะสาขาใหญ่ที่มีลูกค้าบัญชีเงินเดือน (Payroll)
ส่วนบัตรเดบิตที่จำหน่ายทั่วไป คือ K-My Debit Card มีทั้งแบบสำเร็จรูปและสั่งออกแบบทางเว็บไซต์ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 150 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท ก่อนที่ลูกค้าสมัครบัตรใหม่ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2554 จะขึ้นเป็น 250 บาท
นอกนั้นเป็นบัตรเดบิตที่พ่วงประกันอุบัติเหตุอย่าง K-Max Debit Card ค่าธรรมเนียมรายปีในช่วงเปิดตัว 400 บาท ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 500 และ 550 บาท หรือจะเป็นบัตรเดบิตออกร่วมกับบริษัท หรือองค์กรที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
ที่แพงที่สุดคือบัตรเดบิต K-SME Debit Card คิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า 150 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 800 บาท
ที่ผ่านมาสาขาขนาดเล็ก เช่น ห้างสรรพสินค้า มักจะวางจำหน่ายบัตร K-SME Debit Card คู่กับบัตร K-Max Debit Card ให้ลูกค้าเลือกเพียงแค่สองอย่างเท่านั้น
ประสบการณ์ส่วนตัว เคยถูกกลืนบัตรเดบิตกสิกรไทยไปสาม-สี่ครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งไปทำบัตรใหม่ที่สาขาขนาดเล็ก ปรากฏว่ามีเพียงแค่บัตรสองอย่างนี้ กว่าจะได้บัตรที่ต้องการ (K-My Debit Card) ต้องไปที่สาขาในศูนย์การค้าใหญ่ๆ
ภายหลังปรากฏว่า ทั้งพี่ชาย น้องชาย รวมทั้งเพื่อนที่เป็นนักศึกษารามคำแหงด้วยกัน ไม่ได้ทำการค้าใหญ่โตอะไร แต่สาขากลับให้สมัครบัตร K-SME Debit Card แล้วต้องจ่ายค่าธรรมเนียมปีละ 800 บาท
เป็นความทุเรศของธนาคารแห่งนี้ ที่ลูกค้าอย่างเราเห็นแล้วยังนึกเสียดายแทน
มาคราวนี้เมื่อนโยบายชิปการ์ดมาถึง แบงก์กสิกรไทยก็ออกบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดมาตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 3 แบบ
ประกอบด้วย บัตรเดบิตกสิกรไทย ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท เป็นบัตรที่กดเงินสด รูดซื้อของได้ แต่ไม่มีโปรโมชั่นพิเศษจากธนาคาร เช่น ส่วนลดตั๋วหนัง สะสมแต้ม ฯลฯ เมื่อเทียบกับบัตรเดบิต 2 ประเภทที่เหลือ
และอาจจะเป็นบัตรที่หาสาขาทำยากที่สุด!
แบบที่สอง K-My Play Debit Card เป็นบัตรเดบิตออกแบบได้เอง พบว่าค่าธรรมเนียมรายปีแพงขึ้น จากบัตร K-My Debit Card เดิม 250 บาท กลายเป็น 350 บาทต่อปี เพิ่มสิทธิพิเศษส่วนลดแอปพลิเคชั่นดูหนัง ฟังเพลง อ่านอีบุ๊ก 15-30%
ส่วนแบบที่สาม K-Max Plus Debit Card เป็นบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุ ปรากฎว่าค่าธรรมเนียมรายปีก็แพงขึ้น จากบัตร K-Max Debit Card เดิม 550 บาท กลายเป็น 650 บาทต่อปี
นับว่า กสิกรไทยเป็นธนาคารที่มีกลยุทธ์ขึ้นค่าธรรมเนียม "อย่างเนียนๆ" ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด
ธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา นอกจากจะยกเลิกบริการบัตรเอทีเอ็ม โดยออกบัตรเดบิต “เอส สมาร์ท” ขึ้นมา 4 แบบแล้ว ยังใช้โอกาสนี้ขึ้นค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตขึ้นมาใหม่
จากเดิมค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท รายปี 250 บาท โดยขึ้นค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 50 บาทมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา
มาวันนี้กลายเป็น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท รายปี 300 บาท
ส่วนบัตรเดบิตพ่วงประกันอุบัติเหตุ ค่าธรรมเนียมรายปียังคงเดิม มีราคาแตกต่างกันไป เช่น บัตรเดบิต พลัส รายปี 599 บาท, เอ็กซ์ตร้า เดบิต พลัส รายปี 999 บาท, เดบิต พลัส บัตรทอง รายปี 1,499 บาท และซูเปอร์ เดบิต พลัส รายปี 1,599 บาท
พร้อมกันนี้ ไทยพาณิชย์ยังได้งัดกลยุทธ์ความคุ้มครองทรัพย์สินและเงินในกระเป๋าสูงสุด 5,000 บาท เมื่อถูกชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ รวมถึงวิ่งราวทรัพย์
แต่ยังไม่รู้รายละเอียดความคุ้มครอง รวมทั้งวิธีขอรับสินไหมทดแทนอย่างไร
ที่น่าสงสัยคือ ในช่วงแรกธนาคารกำหนดให้ลูกค้านำบัตรเก่าทุกประเภท มาเปลี่ยนเป็นบัตรชิปการ์ดที่สาขา โดยจะได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมเปลี่ยนบัตร 100 บาท และนับอายุต่อจากบัตรใบเดิม ถึง 31 กรกฎาคม 2559
เท่ากับว่า หลังจากวันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป จะเปลี่ยนบัตรใหม่เป็นแบบชิปการ์ด ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น
นอกเสียจากว่ารอให้บัตรแบบเก่าหมดอายุ หรือบัตรใช้ไม่ได้หลังปี 2563 แล้วค่อยมาเปลี่ยน
ธนาคารกรุงไทย แม้จะยังไม่ขึ้นค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต และบัตรเอทีเอ็มก็ตาม แต่ก็พบว่าธนาคารมีบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดให้ลูกค้าเลือกแค่ 4 แบบ
ได้แก่ บัตรเคทีบี ช้อปสมาร์ท คลาสสิก ค่าทำบัตร 100 บาท ค่าบริการรายปี 200 บาท ถือว่าค่าธรรมเนียมต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับบัตรประเภทอื่นๆ
ส่วนบัตรพ่วงประกันอุบัติเหตุ ได้แก่ บัตรเคทีบี ช้อปสมาร์ทเพิร์ล รายปี 599 บาท, บัตรเคทีบี ช้อปสมาร์ท บลูไดมอนด์ เอ็กซ์ตร้า รายปี 999 บาท และบัตรเคทีบี ช้อปสมาร์ท พาราเดี่ยม รายปี 1,599 บาท
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หลังเปลี่ยนบัตรเป็นแบบชิปการ์ด พบว่าไม่มีบัตรเอทีเอ็มให้บริการ
โดยอัปเกรดบัตรเอทีเอ็มเดิมเป็นบัตรกรุงศรี เดบิต และบัตร ATM-FCD สำหรับบัญชีเงินตราต่างประเทศ กลายเป็นบัตรกรุงศรี เดบิต FCD
แต่ก็ถือว่าเป็นธนาคารที่มีตัวเลือกบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดมากที่สุด โดยเปลี่ยนดีไซน์บัตรใหม่ แต่ค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่ยังคงเดิม
เช่น บัตรกรุงศรี เดบิต คิดค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่ หรือทดแทน 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังมีบัตรเดบิตที่ช่วยประหยัดค่าธรรมเนียมรายปี
อาทิ บัตร Debit All ATMs ค่าธรรมเนียม 480 บาท ใช้ได้ 3 ปี ถอนเงินหรือสอบถามยอดได้ฟรีที่ตู้ ATM ทุกธนาคารทั่วประเทศ
แต่ต้องใช้บริการ SMS Banking เดือนละ 19 บาทต่อบัญชี ตลอดอายุการถือบัตร ไม่เช่นนั้นปรับเดือนละ 50 บาท
เช่นเดียวกับบัตร Debit No Annual Fee ไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี
แต่ต้องมียอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีเฉลี่ยต่อเดือน ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท ทุกเดือน ตลอดอายุการถือบัตร ไม่เช่นนั้นปรับเดือนละ 50 บาทเช่นกัน
ธนาคารธนชาต แม้จะประกาศยกเลิกบัตรการออกบัตรเอทีเอ็มธนชาต ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2559 แต่พบว่าเมื่อไปเปิดบัญชีใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารมักจะเสนอให้ลูกค้าเปิดบัญชีและสมัครบัตรเดบิต ซึ่งให้เลือกอยู่ 2 แบบ
คือ บัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีฟรีเว่อร์ ไลท์ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 250 บาท และบัตรเดบิตชัวร์ พ่วงประกันอุบัติเหตุ ค่าธรรมเนียมรายปี 549 บาท
แม้จุดเด่นของบัญชีฟรีเว่อร์ ไลท์ คือ กดเงินฟรีจากตู้ ATM ทุกธนาคาร โอนเงินข้ามเขตภายในธนาคารฟรี แต่ดอกเบี้ยที่ได้รับน้อยมาก เหลือเพียง 0.125% จากปกติบัญชีออมทรัพย์มีระดับอยู่ที่ 0.4%
แต่คุณสมบัติเด่นของบัตรธนาคารนี้คือ โดยปกติหากใช้รูดซื้อของจะได้รับเงินคืน 0.75% เข้าบัญชีในวันทำการที่ 3 ของเดือนถัดไป สูงสุด 2,000 บาทต่อรอบบัญชี (หากคิดจากการรูดบัตรจะอยู่ที่ประมาณ 2.6 แสนบาท)
ถือว่าพอกล้อมแกล้มแทนการลดดอกเบี้ยเงินฝาก
อย่างไรก็ตาม ยังมีบัญชี ธนชาติฟรีเว่อร์ ที่ไม่มีค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตรายปี และถอนเงินหรือสอบถามยอดได้ฟรีที่ตู้ ATM ทุกธนาคารทั่วประเทศ
แต่ต้องมียอดเงินคงเหลือเฉลี่ย (Average Balance) ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน หากผิดคุณสมบัติคิดค่าธรรมเนียมบัญชีละ 90 บาทต่อเดือน
ธนาคารทหารไทย นับตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารหยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์บัตรแบบแถบแม่เหล็กทุกประเภท
โดยได้ออกบัตรเดบิตแบบชิปการ์ดออกมา 2-3 ประเภท ได้แก่ บัตรเดบิต ไลท์ ที่ออกมาทดแทนบัตรเอทีเอ็ม ไลท์ เพิ่มเติมคือ รูดซื้อของตามร้านค้าที่รับบัตรวีซ่าได้
ค่าธรรมเนียมออกบัตรใหม่ยังคงเป็น 200 บาทเหมือนเดิม ใช้ได้ 5 ปี โดยไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี
ส่วนบัตรเดบิต ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี ที่ต้องสมัครคู่กับบัญชี ทีเอ็มบี ออลล์ ฟรี เท่านั้น ยังคงค่าธรรมเนียมเดิม เหมือนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558
คือ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 500 บาท ค่าธรรมเนียมปีต่อไป 350 บาทต่อปี
นอกนั้นจะเป็นบัตรซูพีเรีย สำหรับลูกค้าที่มีเงินฝากเงินลงทุนกับธนาคารตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี
ส่วนบัตรเดบิตรอยัล สำหรับข้าราชการทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหม พบว่าได้เปลี่ยนรูปแบบบัตรใหม่
โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีในปีแรก 500 บาทต่อบัตร ปีต่อไปคิด 350 บาทต่อบัตรต่อปี
จากการสอบถามเพื่อนที่เป็นข้าราชการทหารทราบว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารโทรมาสอบถาม ก่อนจะจัดส่งบัตรใหม่มาให้ทางไปรษณีย์
พบว่าเป็นบัตรแบบเดิมที่ไม่มีชิปการ์ด หมดอายุปี 2562
เข้าใจว่าลูกค้าข้าราชการทหารที่ต่ออายุบัตร หรือสมัครบัตรหลังวันที่ 18 มีนาคม 2559 จะได้บัตรลายใหม่แบบชิปการ์ด
ส่วนลูกค้าเดิมหากไม่รอให้บัตรหมดอายุ กรณีบัตรหาย บัตรชำรุด ทำบัตรใหม่ คิดค่าธรรมเนียม 350 บาทต่อบัตร
จะเห็นได้ว่า แม้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต่างแห่แหนขึ้นค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตกันถ้วนหน้า เสมือนเป็นการฉวยโอกาส
แต่ก็พบว่าธนาคารแห่งประเทศไทย กลับไม่ได้ทำอะไรที่คุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริโภคเลยแม้แต่น้อย
และด้วยความที่ชาวบ้านกลัวว่า หากไม่ทำบัตรแบบชิปการ์ดจะกดเงินไม่ได้ ก็เลยไปเปลี่ยนบัตรเพราะคิดว่าจะฟรี
พอไปถึงธนาคารกลับคิดค่าธรรมเนียมเพิ่ม เพราะถือว่าบัตรยังไม่หมดอายุ
แม้จะมีการร้องเรียนเข้ามา สุดท้ายแบงก์ชาติกลับให้ผู้ใช้บริการไปสอบถามรายละเอียดและเงื่อนไขการให้บริการของผลิตภัณฑ์บัตรแต่ละประเภท ก่อนตัดสินใจเลือกใช้บริการ เพื่อให้ได้รับบริการที่เหมาะสมกับความต้องการใช้ของตนเอง
ไม่รู้ว่าพอหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 ลูกค้าบัตรเอทีเอ็มแถบแม่เหล็กกดเงินไม่ได้ทุกตู้ ต้องแห่แหนไปเปลี่ยนบัตรใหม่
ที่สุดแล้วจะอลหม่านขนาดไหน และผ่านไป 2-3 ปี ค่าธรรมเนียมรายปีจะเพิ่มขึ้นไปอีกตั้งเท่าไหร่
เสมือนว่าปล่อยลูกค้าธนาคารไปตายเอาดาบหน้า!
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ รัฐบาลกำลังจะดำเนินแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)
โดยเฉพาะการส่งเสริมการขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนการใช้เงินสด จากการกระจายจุดรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
แต่ที่ผ่านมา ถึงธนาคารจะมีฐานลูกค้าบัตรเดบิตมากถึง 47 ล้านใบ แต่พบว่าลูกค้าใช้บัตรเดบิตรูดซื้อของแทนเงินสดไม่ถึง 5% เท่านั้น
ส่วนใหญ่ใช้จ่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน นอกนั้นใช้แต่กดเงินสดจากตู้ ATM
แม้ธนาคารจะพยายามเพิ่มความสะดวกและลดการใช้เงินสด แต่ปัญหาหลักที่แต่ละธนาคารประสบ คือ จุดรับชำระบัตรเดบิตไม่ตรงกับพฤติกรรมการใช้จ่าย
คนที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาท อาจใช้จ่ายในร้านนอกห้างฯ ซึ่งไม่มีเครื่องรูดบัตร
แต่ปัญหาส่วนตัวเท่าที่ประสบก็คือ แม้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ การรูดบัตรจะไม่มีขั้นต่ำ แต่ร้านค้าชื่อดังต่างๆ มักจะกำหนดรูดบัตรขั้นต่ำ
บางแห่ง 100 บาท บางแห่ง 200-300 บาท ซึ่งก่อนซื้อของต้องถามพนักงานทุกครั้ง
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเมื่อร้านค้ารับบัตร ทำรายการให้ลูกค้าแล้ว ธนาคารก็จะคิดค่าธรรมเนียมจากร้านค้า ตั้งแต่ 2-4% โดยประมาณ แล้วแต่จะตกลง
หากร้านค้าไหนได้กำไรไม่เยอะก็เท่ากับเสียกำไรให้กับธนาคารไป
ขณะนี้มีความพยายามตั้ง ไทย เพย์เมนท์ เน็ตเวิร์ค (TPN) ที่ธนาคารพาณิชย์ร่วมกับยูเนี่ยนเพย์ ให้เป็นเครือข่ายชำระเงินท้องถิ่น
โดยลดค่าธรรมเนียมร้านค้ารับบัตรให้เหลือ 0.75% เพื่อจูงใจ
ต้องคอยดูว่าจะมีผลตอบรับมากน้อยขนาดไหน
ส่วนขั้นตอนการคืนเงินให้ลูกค้า บัตรเดบิตมีความยุ่งยากในการตรวจยอดเงิน
ถ้าเป็นบัตรเครดิต ปกติจะมีวันที่ใช้บัตร กับวันที่บันทึกรายการ ซึ่งห่างออกไป 3 วัน ถ้าเกิดความผิดพลาดระหว่างรูดบัตร ก็สามารถยกเลิกยอดนั้นแล้วรูดใหม่ได้
แต่บัตรเดบิตเมื่อหักเงินจากบัญชีธนาคารทันที หากรายการผิดพลาดแล้วรูดซ้ำ เท่ากับโดนหักยอดไป 2 รอบ
และใช้เวลาคืนเงินที่ช้าเป็นสัปดาห์ ร้านค้าไม่อยากมีปัญหากับลูกค้า จึงงดรับบัตรเดบิตไปเลยก็มี
ปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านจากบัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิตแบบแถบแม่เหล็ก เป็นบัตรแบบชิปการ์ด ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้
ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคจะทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่ “ต้องจ่ายเพิ่ม” ได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะธนาคารไม่ใช่สถาบันสังคมสงเคราะห์ ธนาคารก็ต้องแสวงหาผลกำไร
ผู้บริโภคที่เลือกแล้วก็ต้องแบกรับภาระกันไป.