ผู้บริหารทีวีดิจิตอล 5 ช่อง และกรรมการ กสทช. เข้าไต่สวนคดีร้องศาลปกครอง สั่งเลื่อนจ่ายค่าใบอนุญาตงวด 3 “ฐากร” ยันต่อศาล ที่ผ่านมาช่วยไปเยอะแล้ว เงินหนุนมัสต์แคร์รีแบกรับเอง ไม่เก็บค่ากองทุนยูโซ หนุนระบบเรตติง ยันไม่นิ่งนอนใจ ส่วนเลื่อนชำระค่าประมูลงวด 3 รอถก 16 ก.ย. กังวล 3 หน่วยงาน ไม่ควรเลื่อนจ่าย เพราะเป็นรายได้แผ่นดิน ด้านฝ่ายโจทก์ได้คืบเอาศอก ขยายใบอนุญาตเป็น 20 ปี
วันนี้ (31 ส.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีที่ 5 ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ได้แก่ ไบรท์ทีวี, จีเอ็มเอ็ม 25, ช่องวัน, ไทยรัฐทีวี และ พีพีทีวี เอชดี ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 3 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช. ปฏิบัติตามกฎหมายในการพัฒนาโครงข่ายทีวีดิจิตอล และออกมาตรการเยียวยาความเสียหายด้วยการให้มีการเลื่อนการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นไป พร้อมชดใช้ค่าเสียหายให้แต่ละสถานีรวมเป็นเงิน 9,550 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
ทั้งนี้ ผู้บริหารทีวีดิจิตอลทั้ง 5 ช่อง ต่างเข้าให้ถ้อยคำกับศาลอย่างพร้อมเพรียง ประกอบด้วย นายบดินทร์ อดุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด (ช่องวัน), นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์บอร์ดคาสติ้ง จำกัด (พีพีทีวี เอชดี), นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐทีวี), นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชแนล จำกัด (จีเอ็มเอ็ม 25) และนายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ในขณะที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้อง พล.อ.อ.ธเรศ ปุณสรี ประธาน กสทช., พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เข้ารับการไต่สวน
จากนั้น นายฐากร กล่าวภายหลังการไต่สวนนานกว่า 4 ชั่วโมง ว่า ทาง กสทช. ได้ยืนยันต่อศาลว่า ได้ดำเนินการตามกรอบที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง และมีหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและส่งเสริมทีวีดิจิตอล กสทช. ได้ดำเนินการแล้วในหลายส่วน โดยในส่วนที่ได้มีมติและกำลังจะดำเนินการซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ถูกฟ้อง คือ เรื่องเงินสนับสนุน ตามกฎค่าดำเนินการเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์ แคร์รี) ที่เดิมผู้ประกอบการเป็นผู้จ่าย ทาง กสทช. ก็จะเป็นผู้รับภาระจ่ายแทน ส่วนค่าธรรมเนียมรายปีที่จะจัดแบบขั้นบันไดแทนการจ่ายปีละร้อยละ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บ อีกทั้งมติบอร์ด กสทช. ที่ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายได้เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนา กสทช. เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ยูโซ) ที่ไม่เกินร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่าย และมติบอร์ด กสทช. ได้อนุมัติสนับสนุนค่าการกำกับดูแลบริการแบบประยุกต์ประเภทสำรวจความนิยม (เรตติง) ในวงเงิน 368 ล้านบาทแล้ว
“กสทช. ยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ผู้ประกอบการจะไม่ฟ้องร้องแต่ กสทช. ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการขอเลื่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ตั้งแต่งวดที่ 3 นั้น จะมีการนำไปหารือในที่ประชุมบอร์ด กสทช. วันที่ 16 ก.ย. นี้ ว่า จะดำเนินการอย่างไร เพราะเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อนำส่งถือเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งก่อนหน้าที่ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอัยการสูงสุด ได้ส่งข้อท้วงติงมายัง กสทช. แล้วว่าไม่ควรให้มีการเลื่อนจ่าย แต่ในขณะนั้นยังไม่มีผู้เดือดร้อนมาฟ้องร้อง แต่วันนี้เห็นแล้วว่าผู้เดือดร้อน ดังนั้น ที่ประชุม กสทช. จะได้มีการพิจารณาทบทวนในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีมติให้มีการเลื่อนก็จะมีผลใช้บังคับกับทีวีดิจิตอลทั้งหมด 24 ช่อง” นายฐากูร กล่าว
ด้าน นายเขมทัตต์ กล่าวว่า คำชี้แจง กสทช. ต่อศาลวันนี้ ทางผู้ประกอบการได้มีหนังสือเรียกร้องให้ กสทช. ดำเนินการมาตลอด 2 ปี นับแต่ได้รับสัมปทาน กรณี กสทช. ต้องสนับสนุนเรื่องการจัดเรตติง การอนุมัติงบ 386 ล้านบาทนั้น ยังไม่ถือว่าครอบคลุม เพราะในช่วงการเปลี่ยนผ่านเรตติ้งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทีวีดิจิตอลและเป็นเครื่องวัดการทำงาน กสทช. เองด้วย การที่ 5 ช่อง ขอให้ กสทช. กำหนดมาตรการเยียวยาโดยให้เลื่อนการจ่ายค่าใบอนุญาตงวดที่ 3 เพราะเรามีความเสียหายจากการล่าช้าในการดำเนินการของ กสทช. โดยที่การที่เราฟ้องเรียกค่าเสียหายเฉลี่ย 400 - 600 ล้านบาท ในแต่ละช่อง ซึ่ง กสทช. ระบุว่า จะนำไปหารือในที่ประชุมในวันที่ 16 ก.ย. แต่ทางเราได้ขอเพิ่มเติมว่าควรจะมีการกำหนดมาตรการเยียวยาเพิ่ม เช่น การขยายระยะเวลาของใบอนุญาตเพิ่มจาก 15 ปี เป็น 20 ปี แต่ กสทช. อ้างว่าไม่มีอำนาจ เราจึงเสนอว่า กสทช. สามารถทำเรื่องเสนอไปยัง ครม. พิจารณาได้
“ตอนนี้มีอีกหลายช่องที่มีปัญหา 5 ช่องนี้ ถือเป็นหน่วยกล้าตายมาฟ้องร้องก่อน ซึ่งการฟ้องไม่ได้มุ่งที่จะเลิกทำธุรกิจ เห็นได้ว่าเราจ่ายค่าใบอนุญาตมาครบถ้วนร้อยละ 80 มีการลงทุนได้ด้านต่าง ๆ แต่ กสทช. ไม่ทำให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน จึงจำเป็นที่ต้องมาฟ้อง” นายเขมทัตต์ กล่าว