ทีวีดิจิตอล 5 ช่องในเครือไทยรัฐ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พีพีทีวี และไบร์ททีวี ฟ้องศาลปกครองขอให้ กสทช.จ่ายค่าเสียหาย 9.5 พันล้าน และเลื่อนจ่ายค่าใบอนุญาตงวด 3 เยียวยาความเสียหาย ชี้ละเลยเปลี่ยนผ่านระบบ-ขยายโครงข่าย โกหกให้หลงผิดร่วมประมูลสูงเกินจริง
วันนี้ (24 ส.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 5 ช่อง ได้แก่ ไบร์ททีวี, จีเอ็มเอ็ม 25, ช่องวัน, ไทยรัฐทีวี และพีพีทีวี ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาตินำโดยนายสุขสวัสดิ์ เวทไว และนายวศิน เลิศวไลพงศ์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากทั้ง 5 บริษัท เข้ายื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช.ปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมเรียกค่าเสียหายของแต่ละสถานีรวมเป็นเงินจำนวน 9,550 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
โดยนายวศินกล่าวว่า ทั้ง 5 ช่องเห็นว่า กสทช.ละเลย ล่าช้าในการดำเนินการให้มีการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอล ละเลยล่าช้าในการควบคุมกำกับดูแลมาตรฐาน หรือคุณภาพของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล การแจกคูปองสนับสนุนประชาชน การขยายโครงข่ายทีวีดิจิตอล และการกำกับดูแลผู้ประกอบการโครงข่ายทีวีดิจิตอลให้สามารถขยายโครงข่ายทีวีดิจิตอลได้ทันตามที่กำหนด ไม่ส่งเสริม สนับสนุนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ หรือมั่นใจในการเปลี่ยนมารับชมทีวีดิจิตอล ละเลยต่อหน้าที่ในการออกกฎเกณฑ์ประกาศ เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันทางการค้าในการประกอบการทีวีดิจิตอล
“ทั้งหมดทำให้กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลงเชื่อ และเข้าร่วมในการประมูล โดยหลงผิดในข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ รวมทั้งยังมีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้เข้าประมูลว่า กลุ่มทีวีดิจิตอลจะได้รับสิทธิการเลือกช่องรายการหากชนะการประมูลในลำดับสูงสุด ทำให้ผู้ประมูลหลงจ่ายเงินประมูลในราคาที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อกลุ่มดิจิตอลทีวี ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมดิจิตอลทีวี ประเทศชาติ และประชาชน เพราะคลื่นความถี่เป็นสมบัติสาธารณะของคนทั้งชาติ ประชาชนเสียโอกาสในการเข้าถึงดิจิตอลทีวี และการพัฒนาการแข่งขัน ทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้” นายวศิน กล่าว
ทั้งนี้ ทางผู้ประกอบการจึงได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 ชำระค่าเสียหายที่ได้กระทำละเมิด ให้แก่แต่ละบริษัท โดยทั้ง 5 บริษัทรวมเป็นเงิน 9,550 ล้านบาท และให้ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หยุดกระทำการละเมิดทั้ง 5 บริษัท และพิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย โดยออกมาตรการเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ซึ่งอาจรวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในการพิจารณากำหนด หรือเลื่อนการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ในงวดที่ 3 เป็นต้นไป