ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2558 เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าการเมืองไทยมีการพัฒนาการขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เป็นระดับที่ประชาชนสามารถอาศัยเหตุผลและข้อมูลข่าวสารเพื่อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายที่แตกต่างจากรัฐบาล และรัฐบาลก็ได้รับฟังและนำไปพิจารณาอย่างจริงจัง โดยไม่ยึดติดกับความคิดดั้งเดิม และมีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในที่สุด
เรื่องที่ปรากฏเด่นชัดที่สุดมีสองเรื่องหลักคือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน และ ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.จีเอ็มโอ ร่าง พ.ร.บ.เหล่านี้เป็นร่างที่ประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยและเสนอข้อคิดเห็นพร้อมข้อมูลหลักฐานต่อรัฐบาลให้ทบทวน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ตัดสินใจระงับร่างกฎหมายเหล่านี้เอาไว้ตามที่ประชาชนเสนอ
การตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนในยุคปัจจุบันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ การบ่มเพาะจิตสำนึกแห่งการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเกิดขึ้นจากการปฏิบัติการทางการเมืองที่สำคัญหลายครั้งในระยะดังกล่าว พร้อมๆกับการขยายตัวของเทคโนโลยีใหม่ทางสังคมออนไลน์ที่ทำให้เกิดการเข้าถึง การเชื่อมโยงและการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
เราอาจกล่าวได้ว่าไม่มียุคสมัยใดในอดีตที่จะมีปริมาณของประชาชนไทยเข้าสู่สนามการเรียนรู้และการปฏิบัติทางการเมืองเท่ากับระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จิตสำนึกทางการเมืองของประชาชนไทยมีระดับการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ในทัศนะของประชาชน การเมืองจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป หากแต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึง เข้าใจ และเข้าร่วมในการพัฒนาให้ดีขึ้นได้ สำนึกแห่งอำนาจภายในตนเองมิได้หายไปพร้อมกับการลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้ง หรือหายไปพร้อมกับการประกาศควบคุมอำนาจของคณะทหาร หากแต่ดำรงอยู่ตลอดเวลา และก็ดำรงอยู่อย่างเข้มข้นอีกด้วย
ดังนั้นแม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ประชาชนก็มิได้มีความหวาดกลัวเหมือนดังในอดีต แต่ยังคงกล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมีเหตุมีผล ประกอบกับรัฐบาลทหารในปัจจุบันก็มีการรับฟังเหตุผลที่เสนอจากประชาชน ซึ่งเป็นท่วงทำนองของการปฏิบัติที่แตกต่างจากรัฐบาลทหารในอดีตมาก ประชาชนจึงมีเสรีภาพในการแสดงความคิด นำเสนอข้อมูลและเหตุผลที่แตกต่างจากรัฐบาลได้เสมือนอยู่ในบรรยากาศแห่งความเป็นประชาธิปไตย
นอกจากสองเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การแสดงออกถึงการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนที่สำคัญอีกประการคือ การไม่ยอมรับวิธีการจัดการปัญหาแบบเดิมๆของรัฐบาลโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นอีกต่อไป วิธีการจัดการปัญหาเรื่องอื้อฉาวแบบเดิมๆคือ ใช้การเบี่ยงเบนประเด็น หรือใช้การปกปิดหรือกลบเกลื่อน นั่นเอง
กรณีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการสร้างอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งในตอนแรกบุคคลสำคัญบางคนในรัฐบาลพยายามใช้วิธีการจัดการปัญหาแบบเดิมๆดังที่นักการเมืองในอดีตเคยทำ โดยพยามยามกลบเกลื่อนและปกป้องพวกพ้องตนเอง แต่ปรากฏว่าสังคมไม่ยอมรับ และสำนักข่าวบางแห่งได้ไปสืบหาข้อมูลด้านลึกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลบางประการที่ถูกซ่อนเอาไว้โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในการสร้างอุทยานฯบางคน จนในที่สุดรัฐบาลต้องเปลี่ยนการตัดสินใจและดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ใหม่อย่างจริงจัง
สิ่งที่เป็นบทเรียนจากกรณีการสร้างอุทยานราชภักดิ์มีหลายประการ ประการแรกคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการทำงานสาธารณะบางคน บางกลุ่มยังคงมีวิธีคิดการทำงานแบบเดิม คือการมุ่งใช้โครงการสาธารณะหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง แต่วิธีคิดและการกระทำแบบนี้ประชาชนไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป
ประการที่สอง การใช้วิธีการปกปิด กลบเกลื่อน หรือเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพลดลง เนื่องจากประชาชนมีการตื่นรู้ทางการเมืองมากขึ้น อีกทั้งสังคมมีกลไกที่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพกว่าอดีต จึงทำให้การค้นหาข้อมูลหลักฐานสามารถทำได้ในระดับลึก และนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะให้ทราบกันโดยทั่วไปอย่างรวดเร็ว
ประการที่สาม สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างทางความคิดและตัวแบบแห่งจิตของผู้มีอำนาจชนชั้นนำ ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงระดับจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชน จากเดิมที่เคย “เฉยเมยทางการเมือง” ไปสู่ “การตื่นตัวทางการเมือง” หากชนชั้นนำทางอำนาจไม่พัฒนาความคิดและยกระดับจิตสำนึกทางการเมืองและการบริหารให้ใกล้เคียงกับจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชน พวกเขาก็จะประสบปัญหาในไม่ช้า
เรื่องล่าสุดที่ทำเอารัฐบาลถึงกับซวนเซคือ เรื่องการพยายามกำหนดให้อาชีพและรายได้แสดงไว้ในบัตรประชาชน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มเป้าหมายของนโยบายเฉพาะบางอย่าง หรือจะได้มีข้อมูลไว้เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย แต่ปรากฏว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนแทบทุกกลุ่ม
บางคนจึงตั้งข้อสังเกตด้วยความขบขันว่า สงสัยจะเป็นนโยบายสร้างความปรองดองของรัฐบาล เพราะทำให้กลุ่มการเมืองทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง และเสื้อหลากสี รวมทั้งพวกโลกสวยสามัคคีกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยทั่วกัน
กรณีบัตรประชาชนเป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่แสดงออกถึงการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชน และบ่งบอกว่าประชาชนมิได้เกรงกลัวรัฐบาล กล่าวได้ว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลประกาศมาตรการหรือแนวทางการบริหารที่กระทบกับชีวิตและความเป็นส่วนตัวของประชาชน เมื่อนั้นประชาชนก็พร้อมที่จะส่งเสียงออกมา
บทเรียนของเรื่องนี้คือ หากรัฐบาลจะดำเนินการเรื่องใดที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่และความเป็นส่วนตัวของประชาชน รัฐบาลก็ต้องแสดงความจริงใจออกมา โดยอธิบายปัญหาให้ประชาชนทราบและเข้าใจอย่างชัดเจน พร้อมกับการอธิบายถึงความสำคัญและความจำเป็นของการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการเหล่านั้น และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางโดยให้มีการอภิปรายกันอย่างทั่วถึง จนกระทั่งเกิดความตระหนักและยอมรับร่วมกัน จากนั้นจึงค่อยดำเนินการ
ผมคิดว่าประสบการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนได้รับอย่างต่อเนื่องนับสิบปี และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สังคมการเมืองไทยในปัจจุบันและอนาคตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้นผู้บริหารประเทศก็ควรละทิ้งความคิดและวิธีการบริหารประเทศแบบเก่าที่ล้าสมัยไปเสียให้หมด แต่หากยังคงใช้วิธีการบริหารประเทศแบบเดิมๆ ความเสื่อมแบบเดิมๆก็จะมาเยือนในไม่ช้า