xs
xsm
sm
md
lg

144 เครือข่ายยื่นหนังสือ รมว.สธ. จี้ อย.ปรับปรุงฉลาก GMO ยกระดับการคุ้มครอง เผยมีคำสั่งตั้งแต่สมัย “หญิงหน่อย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


144 องค์กรและเครือข่ายผู้บริโภค ยื่นหนังสือ รมว.การกระทรวงสาธารณสุข ผ่านเลขาธิการ อย. ให้ปรับปรุงมาตรการฉลากจีเอ็มโอในอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารทุกรายการที่มีจีเอ็มโอ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค เผยประเทศไทยยังไม่คุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคด้านความปลอดภัยและสิทธิในการเลือกซื้อของอาหารดัดแปรพันธุกรรม ยกประกาศของ อย.สมัย “คุณหญิงสุดารัตน์” ประกาศเรื่องจีเอ็มโอ มานานตั้งแต่ปี 2545

วันนี้ (17 ธ.ค. ) มีรายงานว่า เว็บไซต์เครือข่ายผู้บริโภคได้เผยแพร่กรณี ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานเครือข่ายนักวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับเครือข่ายประชาชน และองค์กรผู้บริโภคกว่า 144 องค์กร ยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผ่านเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มีการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องอาหารจีเอ็มโอ

ดร.ไพบูลย์กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่คุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคด้านความปลอดภัย (Right to Safety) และสิทธิในการเลือกซื้อ (Right to Choose) ของอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม ที่มากเพียงพอ เพราะปัจจุบันมีอาหารมากกว่าถั่วเหลืองและข้าวโพด ทั้งมะละกอ แป้งสาลี มันฝรั่ง แครอท มะเขือเทศ แซลมอน ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งมากกว่าการครอบคลุมของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 251) พ.ศ. 2545 เรื่องการแสดงฉลากอาหาร ที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม ซึ่งควบคุมเฉพาะถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพดเท่านั้น

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดขอบข่ายกว้างขึ้น ได้แก่ เมล็ดพืชดัดแปรพันธุกรรม และอาหารหรือวัตถุเจือปนอาหารที่ผลิตมาจากจุลินทรียที่ไม่ทำให้เกิดโรค ที่ดัดแปรพันธุกรรมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยที่กำหนด โดยเฉพาะความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ และมีการแสดงฉลากพืชจีเอ็มโอที่แตกต่างจากพืชธรรมชาติและอาหารดัดแปรพันธุกรรมที่ผ่านการแปรรูปที่จำหน่ายในท้องตลาด มีมาตรการการตรวจติดตามอาหารจีเอ็มโอ เพื่อป้องกันการกระจายของอาหารจีเอ็มโอ ที่ไม่ได้รับการประเมินความปลอดภัย และการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อรับประกันความปลอดภัย หลังออกสู่ตลาด

เพื่อเป็นการยกระดับและส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็น 1 ใน 10 เป้าหมายนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2559 จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการดังนี้ 1. อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหาร หรือวัตถุเจือปนอาหารที่ผลิตมาจากจุลินทรียที่ไม่ทำให้เกิดโรค ที่ดัดแปรพันธุกรรมต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยที่กำหนด โดยเฉพาะความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ 2. ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 215 พ.ศ. 2545 เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค โดย 2.1. กำหนดให้อาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารจีเอ็มโอ หรือวัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตมาจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม ได้แก่ เมล็ดพืชดัดแปรพันธุกรรม และอาหารหรือวัตถุเจือปนอาหาร ที่ผลิตมาจากจุลินทรียที่ไม่ทำให้เกิดโรคที่ดัดแปรพันธุกรรม ต้องผ่านประเมิน ความปลอดภัยที่กำหนด ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยง ต้องกำหนดอย่างละเอียด ในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับปรับปรุงใหม่

2.2. กำหนดให้อาหารทุกชนิดและวัตถุดิบที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม หรือพันธุวิศวกรรม เป็นอาหารที่ต้องมีฉลากที่ชัดเจน โดยต้องมีการแสดงฉลากว่า มาจากเทคโนโลยีจีเอ็มโอ ในทุกกรณีที่ตรวจพบแทนที่ของเดิมที่ระบุเฉพาะส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก และมีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์ เหมือนในประเทศญี่ปุ่นที่จะต้องระบุ GMO-used

2.3. ให้ฉลากมีสัญลักษณ์จีเอ็มโอในรูปสามเหลี่ยมที่ชัดเจนและเห็นได้ชัด ดังที่มีการดำเนินการในประเทศบราซิล

2.4. ยกเลิกข้อห้ามการใช้ข้อความ‘ปลอดอาหารดัดแปรพันธุกรรม’หรือ‘ไม่ใช่อาหารดัด แปรพันธุกรรม’หรือ‘ไม่มีส่วนประกอบของอาหารดัดแปรพันธุกรรม’หรือข้อความ อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้มีการตรวจสอบรับรองจากรัฐ

3. กำหนดให้มีกระบวนการตรวจสอบหลังการอนุญาตจำหน่าย (Post-Marketing) และ ตรวจสอบอาหารที่ประกาศว่า อาหารปลอดการดัดแปรพันธุกรรม (non-GM)

4. เร่งรัดพัฒนาระบบการรายงานความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร (Food Alert System for Thai Consumers) และให้มีการเปิดเผยข้อมูลการทดสอบความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร แก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง

5. ข้อเสนอต่อกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ หากมีการดำเนินการในอนาคตขอให้ยึดหลักการคุ้มครองสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขต้องมีบทบาทสำคัญเป็นหน่วยงานในการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ และยึดหลักป้องกันไว้ก่อน และในกฎหมายนี้จำเป็นต้องมีมาตรการชดเชยเมื่อได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มทั้งหมด

น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการทำข้อมูลและสำรวจปัญหาฉลากอาหารที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม พบว่า ฉลากที่ระบุว่าอาหารนั้นมีส่วนประกอบจากการดัดแปรพันธุกรรม ฉลากมีขนาดเล็กเกินไป และอาหารจำนวนมากหลายรายการ ที่มีส่วนประกอบสำคัญเป็นถั่วเหลืองและข้าวโพดก็ไม่มีการระบุข้อมูล ว่ามีจีเอ็มโอหรือไม่ หรือมีบางบริษัทที่ใช้แป้งมันสำปะหลังจีเอ็มโอก็ระบุในฉลากว่า แป้งมันสำปะหลังดัดแปรพันธุกรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นำเสนอบทความ และประกาศของ อย.เรื่องจีเอ็มโอ มีมานานตั้งแต่ปี 2545 ลงนามโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ของ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เรื่อง “ถึงเวลาปรับปรุงสลากจีเอ็มโอ” มีใจความว่า ฉลากจีเอ็มโอในประเทศไทยมีมานานตั้งแต่ปี 2545 ครอบคลุมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีจีเอ็มโอ เพียง 2 ชนิด คือ ถั่วเหลือง และข้าวโพดใน 22 รายการ และยอมรับให้มีการตกค้างของวัตถุดิบที่มีจีเอ็มโอ ร้อยละ 5 เนื่องจากในสมัยนั้นห้องทดลองของประเทศไทย สามารถตรวจสอบการตกค้างจีเอ็มโอได้เพียงร้อยละ 3 ทำให้เรายอมรับการตกค้างมากถึงร้อยละ 5

แต่ปัจจุบันอาหารและสินค้าที่มีในจีเอ็มโอมีมากขึ้น นอกเหนือจากถั่วเหลืองและข้าวโพด ยังมีมะละกอ มันฝรั่ง และปลาแซลมอนอยู่ในประเทศไทย

ปัญหาฉลากจีเอ็มโอในอดีต ที่สำคัญคือการมองไม่เห็นฉลาก และยอมรับให้มีการตกค้างมากเกินไป ควรลดปริมาณตกค้างลงมาเหลือร้อยละ 1 โดยมีข้อเสนอให้ใช้สัญลักษณ์ที่มองเห็นได้ง่ายในฉลาก ไม่ใช่ต้องใช้แว่นขยายในการดูฉลากเหมือนฉลากในปัจจุบันและที่สำคัญต้องให้บริษัทผู้ผลิตอาหารมีนโยบายไม่ใช้วัตถุดิบที่มาจากจีเอ็ม โอเหมือนอย่างที่บริษัทเนสเล่ท์มีนโยบายเรื่องผลิตภัณฑ์ในสหภาพยุโรป (EU)

ประกาศของ อย. เรื่องจีเอ็มโอ มีมานานตั้งแต่ปี 2545

(สำเนา)
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
(ฉบับที่ 251) พ.ศ. 2545
เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม

เพื่อเป็นการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภคสำหรับการแสดงฉลากอาหารที่ได้จาก เทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 6(10) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบท บัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จาก

เทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) เป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก

ข้อ 2 อาหารตามข้อ 1 หมายความว่า ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ตามรายชื่อในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ที่มีสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) หรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรมนั้นอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของแต่ละส่วนประกอบที่เป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก และแต่ละส่วนประกอบดังกล่าวนั้นมีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์

ข้อ 3 การแสดงฉลากของอาหารตามข้อ 1 ให้ปฏิบัติ ดังนี้
3.1 ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องอาหารนั้น ๆ
3.2 ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ. 2543 เรื่อง ฉลาก

ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2543

ยกเว้นการปฏิบัติตามข้อ 3 (1) และ (5) ของประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าว ให้ปฏิบัติดังนี้

(ก) ให้แสดงข้อความว่า “ดัดแปรพันธุกรรม” ประกอบชื่ออาหารตามข้อ 1 ที่มีส่วนประกอบสำคัญเพียงชนิดเดียว เช่น ข้อความว่า ”ข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม” “เต้าหู้แช่แข็งผลิตจาก ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม” เป็นต้น

(ข) ให้แสดงข้อความว่า “ดัดแปรพันธุกรรม” ในส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรกที่ใช้อาหารตามข้อ 1 ไว้ท้ายหรือใต้ชื่อส่วนประกอบนั้นๆ ตามแต่กรณี เช่น ข้อความว่า “แป้งข้าวโพด ดัดแปรพันธุกรรม” เป็นต้น

การแสดงข้อความดังกล่าวข้างต้นให้แสดงด้วยตัวอักษรที่อ่านได้ชัดเจน มีขนาดสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก ข้อ 4 ความในข้อ 3 ของประกาศนี้ ไม่ใช้บังคับกับผู้ผลิตรายย่อยที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง

“ผู้ผลิตรายย่อย” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ผู้ผลิตขนาดเล็กที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภค โดยตรงในวงแคบ และผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้โดยตรงด้วย

ข้อ 5 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแสดงฉลากอาหารตามประกาศนี้
ห้ามใช้ข้อความว่า “ปลอดอาหารดัดแปรพันธุกรรม” หรือ “ไม่ใช่อาหารดัดแปรพันธุกรรม” หรือ “ไม่มีส่วนประกอบของอาหารดัดแปรพันธุกรรม” หรือ “มีการคัดหรือแยกส่วนประกอบที่มีการดัดแปรพันธุกรรมออก” หรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกัน

ข้อ 6 ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2545

สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(ราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 119 ตอนพิเศษ 42 ง. ลงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2545)



กำลังโหลดความคิดเห็น