xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ กฎหมายเปิดเสรีจีแอ็มโอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถึงแม้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ กฎหมายจีเอ็มโอ จะถูกยกเลิก ไม่ให้นำมาพิจารณาอีก โดยคำสั่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ภาคประชาชนได้เคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างเข้มแข็ง แต่ก็เป็นเพียงการ ถูกแช่แข็ง ไม่ให้ออกเป็นกฎหมายในรัฐบาลนี้

ในอนาคตข้างหน้า ในรัฐบาลต่อๆไป โอกาสที่จะมีการผลักดัน ร่างกฎหมายนี้ ให้มีผลบังคับใช้ มีอยู่ตลอดเวลา เพราะร่างกฎหมายนี้ คือ กุญแจที่จะไขประตู ให้กลุ่มทุนข้ามชาติ เข้ามาทำตลาดสินค้าจีเอ็มโอ ในประเทศไทยได้อย่างเสรี

ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ ฉบับนี้ จึงต้องอยู่ในความเฝ้าระวังของประชาชนต่อไป ขณะเดียวกัน เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็ทำให้เราได้เห็นกลอุบาย การเปิดเสรีจีเอ็มโอ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้ออ้างว่า เป็นกฎหมายที่คุ้มครองความปลอดภัยทางชีวภาพ

ผศ.ดร.สมชาย รัตนซื่อสกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวทิยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ศึกษานโยบายเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพย์สินทางปัญญามาอย่างยาวนาน ได้วิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ.ความปลิดภยทางชีวภาพ ว่า มีอยู่ 9 ประเด็นที่เป็นช่องโหว่ที่จะทำให้ร่างกฎหมายนี้ เป็นเครื่องมือเปิดเสรี จีเอ็มโอ

ประเด็นที่ 1 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยึดหลักความปลอดภัยไว้ก่อน (Pre-Cautionary Principle)

ในเรื่องจีเอ็มโอนักวิทยาศาสตร์แบ่งความเห็นออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายสนับสนุนจะบอกฝ่ายที่คัดค้านว่า ถ้าเห็นว่าจีเอ็มโอไม่ปลอดภัยก็ช่วยเอาหลักฐานมาให้ดูว่าไม่ปลอดภัยจริง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งมองว่า ฝ่ายที่สนับสนุนก็ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้เช่นกันว่าจีเอ็มโอไม่มีโทษ ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นต่อระบบนิเวศ อาจเป็นความเสียหายที่สูงมาก จนบางกรณีไม่สามารถแก้กลับคืนมาได้อีกเลย

ในเวทีระหว่างประเทศที่ถกเถียงเรื่องนี้ได้ข้อยุติว่า ประเด็นจีเอ็มโอต้องใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ หมายความว่าไม่จำเป็นต้องรอให้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดแน่นอนว่าเป็นโทษถึงจะจัดการกับมันได้ เพียงแค่คาดว่า อาจจะมีความเสียหายเกิดขึ้นก็สามารถยับยั้งได้ นี่คือหลักของความปลอดภัยเอาไว้ก่อน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ

ประเทศไทยเป็นภาคีในพิธีสารคาร์ตาเฮน่าว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena Protocol on Biosafety) ซึ่งเป็นพิธีสารเรื่องจีเอ็มโอโดยเฉพาะ ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ใช้หลักความปลอดภัยไว้ก่อน แต่ในร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพกลับไม่ได้ยึดหลักนี้ โดยในมาตรา 35 เขียนไว้ว่า ต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนก่อนจึงจะสั่งให้ยกเลิกได้

ส่วนมาตรา 46 ระบุว่า ถ้ามีสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอได้ขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว หากต่อมามีข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าไม่ปลอดภัย จึงจะสามารถปลดออกจากบัญชีได้

ประเด็นที่ 2 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้คำนึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม

ความเสียหายที่จีเอ็มโอจะก่อให้เกิดขึ้นอาจมีผลทั้งต่อมนุษย์ สัตว์ พืช สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อมายังเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายระหว่างประเทศจึงระบุว่าการพิจารณาผลกระทบของจีเอ็มโอนั้นต้องนำผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมมาคิดร่วมด้วย

แต่กฎหมายไทยไม่ได้ระบุให้นำสองประเด็นนี้มาพิจารณา แค่พูดถึงอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเท่านั้น นี่ถือเป็นการตัดทอนกรอบการพิจารณาผลกระทบ)

ประเด็นที่ 3 ร่างกฎหมายฉบับนี้โดยหลักการคือการเปิดเสรีจีเอ็มโอ เพราะเปิดช่องให้สามารถนำจีเอ็มโอทุกชนิดเข้ามาในประเทศได้ ยกเว้นแต่จะมีการประกาศห้าม หมายความว่าจีเอ็มโอที่ไม่ถูกประกาศห้ามสามารถนำเข้ามาได้ ทำได้ ขายได้ ทดลองได้

ประเด็นที่ 4 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้ต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

การจะนำจีเอ็มโอมาใช้ในสภาพควบคุมหรือในสภาพสนาม ร่างกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ มีเพียงการกำหนดเงื่อนไข ในการขออนุญาตใช้จีเอ็มโอ

เมื่อไม่มีการทำอีไอเอ จะรู้ได้อย่างไรว่า ภายหลังจากอนุญาตไปแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง

ประเด็นที่ 5 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

ร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพแบ่งจีเอ็มโอเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้และกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในบัญชี ซึ่งไม่มีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไหนในโลกนี้แบ่งจีเอ็มโอออกเป็น 2 กลุ่มแบบนี้

การที่ แบ่งจีเอ็มโอ เป็น 2 กลุ่ม ก็เพราะว่า จีเอ็มโอกลุ่มแรกสามารถขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้ ในกรณีนี้ ร่างกฎหมายกำหนดให้ทำเฉพาะอีไอเอเท่านั้น โดยยื่นต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบพิจารณาอีไอเอ แต่ไม่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพหรือเอชไอเอ

คนที่พิจารณาอีไอเอ ร่างกฎหมายระบุว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการขึ้น โดยรัฐมนตรี มีสัดส่วนมาจากผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ คณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเป็นผู้พิจาณาขอขึ้นทะเบียนบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

ประเด็นสำคัญคือคณะกรรมการชุดดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

การแบ่งจีเอ็มโอออกเป็น 2 กลุ่มเช่นนี้ มีผลในเรื่องความรับปผิดชอบ ในประเด็นที่ 6

ประเด็นที่ 6 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้กำหนดผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดจากจีเอ็มโอในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม โดยเขียนไว้ชัดเจนว่า กรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมต้องมีคนรับผิดชอบ

หมายความว่าหากเป็นความเสียหายจาก จีเอ็มโอที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ทันที

ประเด็นที่ 7 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทคุ้มครองเกษตรกรที่พืชผลถูกจีเอ็มโอปนเปื้อน

ประเด็นที่ 8 ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุหลักประกันทางการเงินกรณีเกิดความเสียหายจากจีเอ็มโอ

ในเวทีระหว่างประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศที่เรียกว่าพิธีสารเสริมนาโงยาและกัวลาลัมเปอร์ มีการตกลงกันว่า ต่อไปนี้ ใครก็ตามที่ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มโอ ซึ่งอาจมีความเสี่ยง มีความไม่ปลอดภัยอยู่บ้าง ประเทศสมาชิกสามารถกำหนดหลักประกันทางการเงินได้ โดยใช้รูปแบบหลักประกันทางการเงินแตกต่างกันตามความเหมาะสม เช่น การทำประกันภัย การวางหลักประกันค่าเสียหาย การตั้งกองทุน ฯลฯ

แต่ร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพของประเทศไทยไม่ได้ระบุไว้ ดังนั้น บริษัทไหนอยากจะทำธุรกิจเกี่ยวกับจีเอ็มโอก็ทำ ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นก็ไปฟ้องร้องเอาเอง แต่คนที่จะรับบทหนักเมื่อเกิดความเสียหายคือภาครัฐ เพราะรัฐมีหน้าที่เยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น

ประเด็นที่ 9 ร่างกฎหมายฉบับนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างรุนแรง ตั้งแต่ในส่วนของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ให้อนุญาตการใช้จีเอ็มโอจะเห็นว่า ไม่มีภาคส่วนประชาชนเลย แม้จะระบุให้มีการรับฟังความคิดเห็น แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการชำนาญการให้ความเห็นชอบอีไอเอไปแล้ว จึงให้คนที่ขออนุญาตใช้จีเอ็มโอมาทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น หลังจากนั้น หน่วยงานผู้รับผิดชอบจึงนำความเห็นที่ได้จากการรับฟังมาพิจารณาประกอบ

ร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยหลักแล้ว ต้องคุ้มครองความหลากหลาย มิใช่คุ้มครองผลประโยชน์ของพ่อค้า แต่เป้าหมายของร่างกฎหมายกลับเบนไปสู่เป้าหมายการทำมาค้าขาย ให้ขายง่าย ขายได้ ถ้าเกิดความเสียหายประชาชนก็รับผิดชอบกันเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น