xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงเวลาปัดกวาดเช็ดถู ปฏิรูปกกต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากมีเรื่องระหองระแหงกันเป็นการภายใน โดยที่ไม่เป็นข่าวใหญ่โตออกมาให้ภายนอกได้รับรู้มากนัก ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีมติ 4 ต่อ1 ให้เลิกจ้าง นายภุชงค์ นุตราวงศ์ จากตำแหน่งเลขา กกต. มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 58

เป็นเลขากกต.คนแรก ที่ถูกปลอดกลางอากาศ นับตั้งแต่มีการตั้งองค์กรมา

นายภุชงค์ ถือว่าเป็นลูกหม้อคนหนึ่งของสำนักงานกกต. เริ่มเข้าทำงานตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์กร กกต. ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเริ่มที่ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักการประชุม จากนั้นขยับมาเป็นผู้อำนวยการสำนักเลขานุการ กกต. เป็นรองเลขา กกต. และเป็นเลขากกต. ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในสำนักงาน ในยุคที่มีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นประธาน กกต. คือ กกต.ชุดที่ผ่านมาก่อนที่จะมาถึง กกต.ชุดปัจจุบัน ที่มี นายศุภชัย สมเจริญ เป็นประธาน

ตามธรรมเนียม มารยาท เมื่อกกต. หมดวาระลง เลขา กกต.จะแสดงสปิริตลาออกไปด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้กกต.ที่เข้ามาใหม่ได้เลือก เลขากกต. ที่รู้ใจ ทำงานเข้าขากัน

แต่ กกต.ชุดนี้เข้ามาในช่วงจังหวะที่การเมืองชุลมุน คือเป็นช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยกลุ่มกปปส. เป่านกหวีดกรอกหู จนรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทนไม่ไหว ประกาศยุบสภา เมื่อ 9 ธ.ค. 56 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 2 ก.พ. 57 ขณะที่ กกต.ชุดนี้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 56 และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 16 ธ.ค. 56 จึงเป็นช่วงเวลาที่ฉุกละหุก กกต.แต่ละคนยังไม่มีความคุ้นเคยกับงานที่จะต้องทำ จำเป็นต้องพึ่งเลขากกต. ที่รู้งานอย่างนายภุชงค์ จึงมีการเรียกมาสัมภาษณ์ แสดงวิสัยทัศน์ ก่อนจะตกลงเซ็นสัญญว่าจ้างเป็นเวลา 5 ปี

งานแรกของนายภุชงค์ กับกกต.ชุดนี้ คือการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่าอย่างที่ได้รู้กัน คือมีปัญหาตั้งแต่การสมัครรับเลือกตั้ง ที่ถูกกลุ่ม กปปส.ไปขัดขวางมีการปะทะกันถึงตายที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง วันลงคะแนน ก็มีการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ทิ้งหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้พร้อมกันทั้งประเทศ ส่งผลให้มีปัญหาข้อกฎหมายตามมาอีกสารพัด ขยับไปทางไหนก็เจอทางตัน ในที่สุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ก็เข้ามายึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 
 
การเลือกตั้งครั้งนั้น เท่ากับละลายงบประมาณฟรี กว่า 3 พันล้าน

เมื่อคสช.เข้ามา ก็วางโรดแมป ร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติก่อนการประกาศใช้ และกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ถูกสมาชิกสภาปฏิรูป(สปช.) คว่ำ ก่อนที่จะมีการทำประชามติ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังมีการยกร่างใหม่ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการยกร่าง มีกำหนดการทำประชามติกันในช่วงกลางปีหน้า

ช่วงเวลาที่ผ่านมา คนใน กกต.ก็เหมือนอยู่ว่าง นั่งกินนอนกิน รอเวลาทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อมันว่างมาก ไม่รู้จำทำอะไร ก็เลยหาเรื่องทะเลาะกันดีกว่า เพราะในองค์กรก็ไม่มีความเป็นเอกภาพกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องบุคคล

นายภุชงค์ อยู่ในองค์กร กกต.มา 18 ปี จนขึ้นถึงตำแหน่งสูงสุดเป็นเลขา กกต. ถือว่า ใหญ่สุดในสำนักงานกกต. ก็ย่อมหนีไม่พ้นข้อครหาเรื่องการรับคนเข้าทำงานที่เป็นคนใกล้ชิด เป็นพวกลูกหลานของลูกน้องคนในสำนักงาน รวมทั้งในระดับจังหวัดก็ใช้ระบบเครือญาติ คนใกล้ชิด นี่ถือว่าเป็นคนกลุ่มหนึ่งในสำนักงาน ที่อยู่ในการคอนโทรลของนายภุชงค์

ขณะที่ กกต. ที่เข้ามา 5 คน ก็มีการแบ่งงานกันทำ แยกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. รับผิดชอบด้านกิจการบริหารกลาง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.รับผิดชอบด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง

นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.รับผิดชอบด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย

นายประวิช รัตนเพียร กกต.รับผิดชอบด้านกิจการการมีส่วนร่วม

นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.รับผิดชอบด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ
 
กกต.แต่ละคนแต่ละสาย ก็มีการรับคนของตัวเองเข้ามาทำงาน เป็นมือเป็นไม้ และคนพวกนี้ ก็ไม่สนใจ ไม่รับคำสั่ง ไม่สนองงานของคนในสายอื่น เพราะคนที่จะให้คุณให้โทษ คือกกต.ในสายที่ตนเองสังกัดอยู่ จึงเกิดเป็นหลายอาณาจักรในกกต.

เรียกได้ว่า ระดับเลขาของกกต.แต่ละคน ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งรองเลขากกต. หรือที่ปรึกษากกต. รวมทั้งระดับล่างในแต่ละสายงาน อยู่กันแบบมองไม่เห็นหัวนายภุชงค์ ที่เป็นเลขากกต.

จึงเป็นที่มาของการแฉว่า เมื่อ กกต.ชุดนี้เข้ามา ก็ยกเลิกกฎระเบียบเดิม และตั้งขึ้นใหม่ โดยกกต.แต่ละคนจะตั้งที่ปรึกษา 1 คน ปรับเงินเดือนจาก 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท ผู้เชี่ยวชาญอีก 2 คน เงินเดือนคนละ 40,000-45,000 บาท เลขานุการอีก 1 คน รวมทั้งผู้ช่วยเลขานุการ มีเงินเดือนอีก 40,000 บาท ยังบอดี้การ์ด มีคนขับรถส่วนตัวอีก ทั้งที่มีระเบียบ และการจัดโครงสร้าง ที่มีผู้อำนวยการฝ่ายประจำคอยช่วยเหลืออยู่แล้ว ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ

รวมทั้งการเปิดโปงว่า ช่วงปี 57-58 บรรดากกต. มีการเดินทางไปทัวร์ต่างประเทศถึง 15 ครั้ง แต่ละครั้งก็มีผู้ติดตามไปด้วย 5-10 คน ทั้งที่มีการเชิญเพียง 1-2 คน ทำให้ทางกกต.ต้องเพิ่มเติมงบประมาณในส่วนเข้าไป งบประมาณของกกต.จึงลดน้อยลงมาก เพราะการออกทัวร์ ขณะที่คนในสายสำนักงานกกต. กลับต้องนั่งจับเจ่าอยู่ในสำนักงาน ไม่มีโอกาสไปไหน

อย่างไรก็ตาม คนในสำนักงานกกต. ก็พูดถึงเรื่องทัวร์ต่างประเทศว่า ในช่วงที่ กกต.ชุดนายอภิชาต สุขัคคานนท์ จะหมดวาระ ทางเลขากกต.ก็จัดโปรแกรมทัวร์ประเคนให้อย่างถี่ยิบ ในฐานะที่เป็นคนรู้ใจ เข้าขากันได้

คนในสำนักงานกกต. ยังพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ ขัดกันของกกต.กับเลขากกต. อีกหลายเรื่อง อาทิ เรื่องเฉพาะหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้น คือเรื่องการพิมพ์ ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนได้ศึกษา ก่อนลงประชามติ และการพิมพ์บัตรเพื่อทำประชามติ ก็มีความเห็นแตกต่างกัน เลขากกต.ตั้งใจจะใช้โรงพิมพ์ ที่เคยพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ที่เคยใช้บริการกันมาก่อนหน้านี้ ขณะที่ กกต.ชุดนี้ไม่เอา จะให้ไปจ้างโรงพิมพ์แห่งใหม่ที่กกต.มองเอาไว้ จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า แต่ละฝ่ายต้องมีเรื่องผลประโยชน์ เรื่องหัวคิว เข้ามาเกี่ยวข้องแน่

หรืออย่างเรื่องโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานกกต.ในทุกจังหวัด ที่ตอนนี้มีการก่อสร้างไปแล้วในบางจังหวัด ทาง กกต.จะให้ใช้แบบแปลน และการก่อสร้างของโยธาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลรับไปดำเนินการ ขณะที่เลขากกต. ต้องการให้เอกชนเข้ามาเสนอแบบ ประมูลราคาการก่อสร้าง โดยอ้างถึงความโปร่งใส แข่งขันอย่างเป็นธรรม

อีกปัญหาหนักอกที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ก็คือ เรื่องที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ทวงถามหาความรับผิดชอบจากสำนักงานกกต. กรณีการจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า สูญเงินกว่า 3 พันล้าน ใครจะรับผิดชอบ ทางเลขากกต. ก็บอกว่ากกต.ต้องเป็นคนรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ที่มีมติให้มีการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังมีปัญหา ขณะที่ฝ่าย กกต.ก็บอกว่า เป็นเพียงผู้กำหนดนโยบาย ปัญหาเกิดที่ฝ่ายปฏิบัติการ ที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้ง หรือแก้ปัญหาให้การเลือกตั้งลุล่วงไปได้ 

ต่างฝ่ายต่างปัดความรับผิดชอบกับการสูญเปล่าของเงินก้อนนี้

เมื่อเกิดการไม่กินเส้นกันระหว่างกกต.กับเลขา กกต. ก็มีการเจรจากันหลายรอบ โดยกกต. ขอให้เลขากกต.ยอมลาออก เพื่อจะได้หาเลขาคนใหม่ที่ทำงานไปกันได้ การทำงานจะได้ราบรื่น โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคปฏิรูป หลายๆ ฝ่ายกำลังจับตา ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของ กกต.ในทางที่พัฒนาขึ้น แต่เลขากกต.ก็ยังไม่ยอมออก แถมตั้งป้อมสู้ มีการวิ่งเข้าไปหาคนในรัฐบาลคสช.ให้ช่วย ขณะเดียวกันก็มีการติดต่อคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์บางฉบับ เขียนวิพากษ์วิจารณ์ โจมตี กกต.

ในที่สุด กกต. ก็ต้องงัดไม้เด็ด หักดิบลงมติว่า เลขากกต.ไม่ผ่านการประเมินผลงานประจำปี 58 ซึ่งในปี 57 กกต.ก็ได้ประเมินผลงานให้ผ่านแบบฉิวเฉียดไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยการยกเลิกสัญญาจ้าง ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.58 และให้ นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขากตต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ซึ่งอาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่รักษาการแทน

หลังถูกปลดกลางอากาศ นายภุชงค์ ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อ ตอบโต้ว่า ที่ทำงานไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ 9 ข้อนั้น เป็นเพราะถูก กกต.ล้วงลูก และยังแฉถึงเรื่องการใช้งบประมาณอย่างสุรุ่ยสุร่าย ของกกต.ด้วย

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านการเลือกตั้ง ก็ให้สัมภาษณ์สวนกลับว่า ตำแหน่งเลขา กกต.ไม่ใช่ตำแหน่งประจำ แต่เป็นพนักงาน จ้างมาบริหาร มีสัญญาจ้าง 5 ปี และทุกปีต้องมีการประเมินผลงาน ถ้าประเมินแล้วต่ำกว่า 60 เปอร์เซนต์ จะไม่ต่อสัญญา ซึ่งตำแหน่งเลขากกต. ได้รับเงินเดือนสูงกว่าคณะกรรมการกกต.ทุกคน กกต. จึงหวังว่าจะได้คนที่มีความสามารถในการทำงาน แต่เมื่อประเมินผลงานทั้ง 4 ด้าน คือ 1. การดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานประจำปี 2. การดำเนินการงานมติ กกต. 3. การบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล และ 4.งานที่ต้องทำในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ที่จะต้องพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าเป็นมาตรฐานสากล

ปรากฏว่า คณะกรรมการกกต.ทุกคนเห็นว่า ไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด อีกทั้งโครงการที่เลขากกต.เสนอมาเอง 5 โครงการ ว่าจะทำให้เสร็จในปี 58 ก็ไม่เสร็จสักเรื่อง จึงต้องเลิกจ้าง  
 
"ถ้าเลขากกต.คิดว่าการที่ กกต.กำกับ และมอบนโยบายเป็นการล้วงลูก แล้วท่านอยู่มากี่ปี่แล้ว ไม่เคยทำอะไรสำเร็จสักอย่าง แล้วเมื่อทำงานไม่สำเร็จ จะให้อยู่ในตำแหน่งกินเงินเดือนสูงๆ ทำไม เลขากกต.ไม่รู้จักการทำงานเชิงรุก ทำแต่งานประจำ เคยทำอะไรก็ทำแต่อย่างนั้น มันไม่เกิดผลสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์กร ถ้า กกต.ไม่ไปกำกับ ที่ผ่านจะมีอะไรสำเร็จหรือไม่ " นายสมชัย ตอกกลับแบบไม่ไว้หน้า

การออกมาผลัดกันแฉของคู่กรณีรอบนี้ ทำให้เห็นภาพของความฟอนเฟะในองค์กร กกต. ซึ่งเป็นองค์กรที่สำคัญ เป็นองค์กรหลัก ในการคัดกรองคนที่จะเข้าสู่การเมือง ทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น

ถ้าหากยังเห็นว่า องค์กร กกต.ยังมีความจำเป็น มีความสำคัญในระบบการเมือง ถึงเวลาแล้วที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) จะต้องเข้ามาตรวจสอบ เทกแอกชั่นอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้เป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของบางคน บางกลุ่ม อยู่เช่นนี้  

ขอให้จับตาว่า วิกฤติ กกต.รอบนี้ จะมีผลถึงขั้นทำให้ กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตัดสินใจโละทิ้งกกต. แล้วออกแบบใหม่ หรือโอนงานจัดการเลือกตั้ง ไปให้หน่วยงานอื่นที่มีอยู่แล้วหรือไม่




กำลังโหลดความคิดเห็น