xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ราชภักดิ์...ใครกันหนอที่นั่งอมยิ้ม-ยิงนก?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้จะมีความพยายามสักเพียงใดเพื่อกดดัน ให้ “บิ๊กโด่ง-พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” แสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมจากกรณีที่มีการตรวจสอบการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยเฉพาะแรงกดดันจาก “พี่ป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เปิดประเด็นเรื่องนี้เป็น “คนแรก”

แต่จนแล้วจนเล่า พล.อ.อุดมเดชก็ยังหยัดยืนอยู่อย่างมั่นคง

8 ธันวาคม 2558 พล.อ.อุดมเดชให้สัมภาษณ์อย่างชัดถ้อยชัดคำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อถูกถามถึงความรู้ที่สึกต่อแรงกดดันที่ขอให้ลาออกซึ่งยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องว่า “ผมไม่ขอกล่าวอะไร แต่ทุกคนเป็นมนุษย์ปุถุชน เมื่อมีอะไรเข้ามาก็ต้องคิดบ้างพอสมควร แต่ขณะนี้ต้องรอผลการตรวจสอบต่างๆ ซึ่งมั่นใจว่าคณะกรรมการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์สามารถชี้แจงได้อยู่แล้ว และเชื่อว่าประชาชนที่บริจาคเงินเข้ามาก็มีความมั่นใจในการจัดสร้างว่าเงินที่บริจาคมาได้นำไปใช้อย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งก็ทำให้เห็นไปแล้ว และที่ตามมาภายหลังคณะกรรมการที่รับช่วงต่อก็จะดำเนินการต่อไป...”

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “ไม่ลาออก” นั่นเอง

คำถามมีอยู่ว่า อะไรทำให้ พล.อ.อุดมเดชยังคงมั่นใจถึงขนาดนั้น?

กล่าวสำหรับ พล.อ.อุดมเดชนั้น ต้องบอกว่า เขาคือนายทหารที่ไม่ธรรมดา ไม่เช่นนั้นคงไม่เป็น “เต็ง 1” ชนิดนอนมาในเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)ตั้งแต่ต้น และแม้จะมีการสั่นไหวจาก “บิ๊กต๊อก-พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา” อยู่บ้าง แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ และสามารถก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ ผบ.ทบ.ได้เป็นผลสำเร็จในท้ายที่สุด กระทั่งสามารถผลักดันโครงการอุทยานราชภักดิ์ให้สำเร็จในช่วงที่ตนเองเป็น ผบ.ทบ.ก่อนที่จะมีการตรวจสอบพบความผิดปกติในภายหลัง

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าท้าย” และยังไม่ตัดสินใจลาออกอย่างที่ใครหลายคนปรารถนา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะยัง “ไม่ได้รับสัญญาณพิเศษจริงๆ” จึงทำให้นึกย้อนไปถึง “ถ้อยคำสำคัญ” ที่นายพลแก้มบุ๋มผู้นี้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ เพราะเต็มไปด้วยปริศนาซึ่งจำเป็นต้องคลี่คลายออกมาให้ชัดเจนว่ามีความหมายหรือมีนัยอย่างไร

วันที่ 1 ธันวาคม 2558 พล.อ.อุดมเดชให้สัมภาษณ์หลังพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์แสดงท่าทีประหนึ่งให้ตัดสินใจลาออกด้วยตนเองในบางช่วงบางตอนเอาไว้ว่า “ขณะนี้อาจจะมีบางคน บางกลุ่ม นั่งยิ้มอยู่ก็ได้ว่า สิ่งที่เขาได้พยายามกระทำนั้นเหมือนกับยิงนกได้หลายตัว”

ใครคือ “คนบางคน”

ใครคือ “คนบางกลุ่ม”

ใครคือ “คนที่นั่งยิ้มอยู่ก็ได้ว่า สิ่งที่เขาได้พยายามกระทำนั้นเหมือนกับยิงนกได้หลายตัว”

ใช่กลุ่มคนเสื้อแดงแห่งระบอบทักษิณที่กำลังเคลื่อนไหวกันอย่างสนุกสนานในขณะนี้หรือไม่

หรือนัยสำคัญมากกว่านั้น เพราะถ้าหมายถึงกลุ่มคนเสื้อแดงหรือระบอบทักษิณ พล.อ.อุดมเดชก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ถ้อยคำในลักษณะนั้น

พล.อ.อุดมเดชหมายถึงใครกันแน่?

และถ้าจะเชื่อมโยงกลับไปถึงคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ไม่คิดลาออกและมั่นใจว่า โครงการอุทยานราชภักดิ์ไม่มีทุจริตเกิดขึ้น ก็คงพอจะทำให้มั่นใจได้ว่า พล.อ.อุดมเดช “มีของ” อยู่ในมือ

แน่นอน เรื่องนี้ถ้าจะให้วิเคราะห์คงต้องเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลสำคัญที่จำต้องขยายความให้ละเอียดถี่ถ้วนในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่ชัดเจนแล้วว่า โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มิได้ดำเนินการด้วย “บริจาค” หากมีงบประมาณแผ่นดินเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังที่ นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.) ได้ออกมาเปิดเผยว่า เงินที่ใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีส่วนหนึ่งมาจากงบกลางจำนวน 63.57 ล้านบาท โดยผู้ที่รับผิดชอบในการสั่งจ่ายเงินส่วนนี้คือ แผนกสั่งจ่ายงบประมาณ สำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก ซึ่งสั่งจ่ายให้กรมยุทธโยธาทหารบกเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

ละตอกย้ำกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งกล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การของบกลางเป็นไปตามขั้นตอนปกติ คือเมื่อกระทรวงกลาโหมเสนอมา ตนก็อนุมัติไป (มติ ครม. เมื่อปี 2557 ระบุว่า งบกลางมูลค่าน้อยกว่า 100 ล้าน นายกฯ สามารถอนุมัติได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม.)

หรือนั่นหมายความว่า การเสนอขออนุมัติงบประมาณก้อนนี้ “กระทรวงกลาโหม” เมื่อครั้งที่มี “พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล” นั่งเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม และมี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระกลาโหม เป็นผู้เสนอมา สังคมควรตั้งคำถามด้วยเช่นกันใช่หรือไม่ว่า ถ้าจะให้ พล.อ.อุดมเดชรับผิดชอบ หัวหน้าหน่วยงานสูงสุดที่เป็นคนเสนอของบกลางมาคือทั้ง พล.อ.ศิริชัยและพล.อ.ประวิตรจำต้องรับผิดชอบเฉกเช่นเดียวกันหรือไม่

กรณีนี้ นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน(คปต.) ได้เดินทางเข้าพบคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อให้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงเอากับทั้ง พล.อ.อุดมเดชและ พล.อ.ศิริชัย ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า พล.อ.ประวิตรจะยิ้มออกได้ถ้าหาก พล.อ.อุดมเดชตัดสินใจลาออกไปจริงๆ แต่จะยิ้มเพราะโล่งใจหรือยิ้มเพราะอะไรไม่ทราบได้

ทิ้งประเด็นนี้เอาไว้ก่อนเป็นเบื้องต้น

คำถามที่ตามมาก็คือ มีเงื่อนงำอันน่าสนใจที่อยู่นอกเหนือจากความปรารถนาที่จะให้ พล.อ.อุดมเดชรับบท “ผู้เสียสละ” เพื่อไม่ให้ถูกฝ่ายตรงข้ามหยิบยกไปโจมตีกระทั่งทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลสั่นคลอน อื่นใดอีกหรือไม่

ก็ต้องบอกเสียงดังๆ ว่า “มี”

เพราะในช่วงที่ “คนบ้านเดียวกัน” พยายามสร้างกระแสกดดันให้ พล.อ.อุดมเดชลาออก ก็มีข่าวแพร่สะพัดออกมาพร้อมๆ กันกับเรื่อง “ว่าที่ รมช.กลาโหม” คนใหม่ ที่ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีความเชื่อมโยงกับการสืบทอดอำนาจในกองทัพบกอีกต่างหาก

ทั้งนี้ มีข่าวแพร่สะพัดออกมาว่า มีการเตรียมหานายทหารหลายต่อหลายคนที่จะเข้ามาช่วยงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แต่ที่ถูกจับตามากที่สุดมี 3 คน

คนแรกคือ “บิ๊กเบี้ยว-พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข” อดีตเสนาธิการทหารบก ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

บิ๊กเบี้ยวถือเป็นนายทหารที่ พล.อ.ประยุทธ์เรียกใช้งานแบบเงียบๆ มาโดยตลอด และถือเป็นจักรกลคนสำคัญที่ร่วมวางแผนทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์

คนที่สองไม่ใช่ใครอื่นหากคือ “บิ๊กหมู-พล.อ.ธีรชัย นาควานิช” ที่จะนั่งควบพร้อมกับเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งถ้าหวยออกเช่นนั้นจริง คนที่ยิ้มได้หาก พล.อ.อุดมเดชหลุดไปจากตำแหน่งจะอาจหมายถึง พล.อ.ธีรชัยก็เป็นได้ เพราะนั่นหมายถึงการขยับขยายตำแหน่งแห่งหนให้ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม

แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ไม่ทราบได้ และคงต้องทิ้งประเด็นรอยยิ้มอีกหนึ่งรอยยิ้มเอาไว้เป็นเบื้องต้น

คนที่สามคือ “บิ๊กโชย-พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์” ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ในสาย “วงศ์เทวัญ” และทำงานให้กับนายตู่มาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การปรากฏชื่อบิ๊กโชย-พล.อ.กัมปนาทนั้น ดูจะมีเครื่องหมายคำถามตามมาเพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.กัมปนาทคือตัวเต็งที่จะนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกเช่นกัน จะเป็นไปได้อย่างไรที่ พล.อ.กัมปนาทจะยอมละทิ้งตำแหน่งสูงสุดในชีวิตราชการทหารมาเสียเฉยๆ เพราะนี่เป็นโอกาสอันน้อยนิดที่ “วงศ์เทวัญ” จะเบียดแทรกขึ้นมานั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.จากบูรพาพยัคฆ์ได้เป็นผลสำเร็จ

ดังนั้น เรื่องนี้จึงย่อมมีที่มาที่ไป และมีความเป็นไปได้ว่ามีกระบวนการปล่อยข่าวเพื่อสร้างความแตกแยกให้เกิดในกองทัพ

เป็นไปได้สูงยิ่งที่นี่คือกระบวนการปล่อยข่าวของ “คนบ้านเดียวกัน” หรือ “คนกันเอง” ในกองทัพเพื่อแผ้วทางทางเดินของตัวเองให้สดใส

สมมติว่า ถ้า พล.อ.กัมปนาทยอมรับเก้าอี้ รมช.กลาโหมจริง เก้าอี้ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกก็จะว่างลงทันที ซึ่งนั่นแปลว่าจะมีการขยับตำแหน่งในกองทัพบกกันอย่างมโหฬารเลยทีเดียว

ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ปฏิเสธข่าวเรื่องดึงพล.อ.กัมปนาทเข้ามาเป็น รมช.กห.เอาไว้อย่างชัดถ้อยชัดคำเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา

“พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ และบิ๊กอะไรผมไม่เคยคิดเลย รู้ได้อย่างไรว่าจะเอาคนนั้นคนนี้มา บอกว่าเอามารองหลังผม ยืนยันว่าไม่จำเป็น ในเมื่อผมทำความดี ทำไมต้องเอาคนมาปกปิด ส่วน ครม.ก็เรื่องของผม รู้ไปแล้วได้อะไร ผมตัดสินใจเองจะเอาใครเข้าใครออก และอย่าไปยุ่งกับกองทัพมากเลย เวลาจะแต่งตั้งเขาจะดูว่าแต่งตั้งมาเมื่อไหร่ อาวุโสหรือยัง ไม่ใช่คิดส่งเดชว่าชอบหน้าไอ้นั่น ไอ้นี่ไม่เอา ผมยึดหลักแบบนี้ ไม่ใช่ตั้งส่งเดช ถ้าคนมันดีแต่อาวุโสไม่ถึงก็เป็นไม่ได้ ต้องดีและอาวุโส ถ้าอาวุโสแต่ห่วย ก็เอาคนที่รองลงไปขึ้นมา”

แต่กระนั้นก็ดี ข่าวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีก็ยังดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น โดยมีรายงานว่านายกฯ ลุงตู่ได้ตัดสินใจที่จะปรับ ครม.แล้ว จากเดิมที่ตั้งใจปรับ ครม.ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก พล.อ.ประวิตรขอให้นายกรัฐมนตรีปรับเร็วขึ้นเพื่อลดกระแสหลัง พล.อ.อุดมเดชยืนยันไม่ลาออก พร้อมทั้งถือโอกาสปรับ ครม.ในส่วนของรัฐมนตรีที่ไม่มีผลงานด้วย ซึ่งคาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้นหลังจากได้มีการแถลงผลงานของรัฐบาลเสร็จสิ้นในวันที่ 25 ธันวาคม 2558 นี้

กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ออกมาปฏิเสธชัดถ้อยชัดคำเกี่ยวกับการปรับครม.อีกครั้งว่า “ยังหรอก ยังไม่มีข่าว มาจากไหน...ไม่ปรับ ยังไม่ปรับ ไม่ปรับ ปรับเมื่อไรไม่รู้ อยากจะปรับก็จะปรับ แต่ยังไม่อยากปรับในตอนนี้ แล้วทำไมจะต้องปรับละ ปรับผมออกดีกว่ามั้ง ถ้าปรับแล้วจะแก้ได้หรือเปล่าหล่ะ ตราบใดที่ผลการสอบสวนยังไม่ออกมาชัดเจน มันแก้ได้หรือไม่หล่ะ เดี๋ยวมันก็ไปเรื่องอื่นอยู่ดี”

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข่าวออกมา ก็มีการเปิดชื่อนายทหารที่เต็งหามจะมารับตำแหน่งแทนก็ทันทีเช่นกัน โดยสปอร์ตไลต์พุ่งเป้าไปหยุดอยู่ที่ชื่อของ “บิ๊กเข้-พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์” แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งบูรพาพยัคฆ์ขึ้นมานั่งเก้าอี้ ผช.ผบ.ทบ.แทน พล.อ.กัมปนาท เพื่อเตรียมจ่อขยับขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกสืบต่อ พล.อ.ธีรชัยที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2559 อย่างพอดิบพอดี และปิดประตูตาย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก(ตท.16 ) ให้เป็น ผบ.ทบ.เพราะมาจากสาย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีต ผบ.ทบ.ซึ่งมีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีนักกับ พล.อ.ประวิตรเมื่อครั้งในอดีต

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับ “บิ๊กแกละ-พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร” เสนาธิการทหารบก ที่จ่อคิวลุ้นเก้าอี้ ผบ.ทบ.คนต่อไปชนิดนอนมาตั้งแต่แรกด้วย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า บิ๊กแกละหมดสิทธิ์ลุ้นเก้าอี้ตัวสำคัญไปโดยปริยาย

พล.อ.พิสิทธิ์คือใคร?

นี่คือคำถามที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงทหาร

พล.อ.พิสิทธิ์นั้นเติบโตมาใน พล.ร.2.รอ. ดินแดนของเหล่าบูรพาพยัคฆ์ และถือเป็น “น้องรัก” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า พี่ป้อมสนับสนุนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูให้เป็น ผบ.ทบ.คนถัดไป เพียงแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น

พล.อ.พิสิทธิ์นั้นมีความสนิทสนมกับ พล.อ.อุดมเดช และเป็นทีมงานทีร่วมทำโครงการอุทยานราชภักดิ์ โดยมีชื่อเป็นหนึ่งในกรรมการมูลนิธิราชภักดิ์ของ พล.อ.อุดมเดช และว่ากันว่า พล.อ.ประวิตรคือผู้ที่ส่ง พล.อ.พิสิทธิ์ให้ไปช่วยงาน พล.อ.อุดมเดชในโครงการอุทยานราชภักดิ์

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่าแม้ พล.อ.พิสิทธิ์เป็นเสนาธิการทหารบก แต่ก็เป็น เสธ.ทบ.ที่ พล.อ.ธีรชัยไม่เรียกใช้งาน ดังนั้น เวลาไปไหนมาไหนจึงแทบจะไม่เห็น พล.อ.พิสิทธิ์ออกงานเคียงคู่กับ พล.อ.ธีรชัย หากแต่เป็น “บิ๊กไก่-พล.อ.กิตติ อินทสร” (เพื่อน ตท.14) ติดสอยห้อยตามแทน

หมากกลเรื่องนี้จึงซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพราะไปเกี่ยวโยงกับการวางไลน์อำนาจในกองทัพบกอย่างปฏิเสธไม่ได้

ไม่ใช่แค่ศึกนอกที่พร้อมใจกันเล่น หากแต่เป็นศึกใน แถมเป็นศึกในจากคนบ้านเดียวกันร่วมผสมโรงเข้ามาอีกต่างหาก

นี่ใช่หรือไม่ที่เป็นเหตุผลที่ พล.อ.อุดมกล่าวเอาไว้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า “ขณะนี้อาจจะมีบางคน บางกลุ่ม นั่งยิ้มอยู่ก็ได้ว่า สิ่งที่เขาได้พยายามกระทำนั้นเหมือนกับยิงนกได้หลายตัว”

นี่ใช่หรือไม่ที่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ พล.อ.อุดมเดชยังมีแต้มต่อกับผู้มีบารมีตัวจริงอย่างบิ๊กป้อมซึ่งต้องการให้เขาลาออก เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์เกี่ยวข้องกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ทั้งทางตรงในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมผู้ซึ่งทำเรื่องขออนุมัติงบกลางมาใช้ และทางอ้อมในฐานะที่ส่งน้องรักอย่าง “พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร” ไปช่วยงาน พล.อ.อุดมเดชโดยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการดำเนินงาน

และไม่ใช่คณะกรรมการธรรมดาๆ หากแต่มีบทบาทสำคัญในการบริหารงานโครงการอุทยานราชภักดิ์อีกต่างหาก ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว พล.อ.พิสิทธิ์ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการทุจริตในอุทยานราชภักดิ์ได้เป็นอย่างดี

เผลอๆ จะมีข้อมูลรายละเอียดมากกว่า พล.อ.อุดมเดชเสียด้วยซ้ำไป

ดังนั้น บทเพลง “ไสว่าสิบ่ถิ่มกัน” ของ “ก้อง ห้วยไร่” จึงยังคงดังก้องในหัวใจของ พล.อ.อุดมเดชอย่างไม่เสื่อมคลาย

และนี่ใช่หรือไม่ที่เป็นเหตุผลสำคัญซึ่งทำให้ พล.อ.อุดมเดชไม่ยอมลาออก

ยิ่งไม่มี “สัญญาณพิเศษ” ออกมาด้วยแล้ว พล.อ.อุดมเดชก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องลาออกตราบใดที่ผลสอบของกระทรวงกลาโหมยังไม่ออกมา

และเวลานี้คนที่ “อยากจะยิ้ม” เต็มแก่ เพราะอยากให้ พล.อ.อุดมเดชลาออกคงกระอักกระอ่วนอยู่ไม่น้อย เผลอๆ จะมองหน้ากันไม่ติดเสียด้วยซ้ำไป เพราะทำไปทำ มา จะมาทิ้งกันเอาเสียดื้อๆ ทั้งๆ ที่ร่วมหอลงโรงกันมาตั้งแต่ต้น

ขณะเดียวกันอีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจไม่น้อยและสังคมเกิดคำถามตามมามากมายว่า ทำไมถึงใช้วิธีการเช่นนั้นในการจัดการปัญหา นั่นคือกรณีที่ทหารล็อกตัว นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัตน์ หรือ “จ่านิว” แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา และเครือข่าย ขณะทำกิจกรรม “นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” ที่สถานีรถไฟบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี พร้อมมีคำสั่ง “ปิด” อุทยานราชภักดิ์ โดยให้เหตุผลว่า เพื่อทำการซ่อมแซมถนนทางเข้าอุทยานฯ

ทั้งนี้ เนื่องเพราะเป็นการใช้ “หมากกลเดิมๆ” ในการแก้ปัญหา คือ “เขตทหารห้ามเข้า” ซึ่งมิได้เป็นผลดีกับทหาร รัฐบาลและคสช.ประการใด แถมยังกลายเป็นทำให้เป้าหมายของฝ่ายที่เคลื่อนไหวประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้อีกต่างหาก

เพราะเชื่อว่า คนออกคำสั่งรู้ทั้งรู้ว่าเด็กบางคนที่เคลื่อนไหวมีสายสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม และถ้าจะตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลมก็ควรทำตั้งแต่ที่สถานีรถไฟธนบุรี ไม่ใช่สถานีรถไฟราชบุรี

หรือไม่ก็จัดรถยีเอ็มซีพาไปส่งถึงอุทยานราชภักดิ์เสียให้รู้แล้วรู้รอด เพราะจริงๆ แล้วเด็กเหล่านี้ไม่มีข้อมูลเชิงลึกหรือหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากล เป็นเพียง “อีเวนต์” เพื่อ “หวังผลทางการเมือง” มากกว่าการตรวจสอบอย่างจริงๆ จังๆ

เป็นไปได้หรือที่คนออกคำสั่งจะไม่รู้ข้อเท็จจริงเหล่านี้

หรือรู้แต่ยังทำ เพราะต้องการให้เรื่องจบตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้นเพื่อทำให้สถานการณ์บานปลายออกไปอีก ประหนึ่งทิ้งระเบิดหรือผลักปัญหาทั้งหมดให้ตกอยู่ที่ตัว พล.อ.อุดมเดช

ประหนึ่งให้ พล.อ.อุดมเดชตกเป็นเป้าแต่เพียงลำพัง

ประหนึ่งให้ พล.อ.อุดมเดชถูกกล่าวหาแต่เพียงลำพัง

และประหนึ่งให้ พล.อ.อุดมเดชต้องรับภาระในการอธิบายแต่เพียงลำพัง

นี่คือหมากกลที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนประหนึ่ง “การซ่อนดาบในรอยยิ้ม” ยิ่งนัก



พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 3.พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร 4.พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล(วางด้วยกัน)
พล.อ.ธีรชัย นาควานิช
ล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล
พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น