xs
xsm
sm
md
lg

ดันตั้งบรรษัทแห่งชาติ ดูแลสัมปทานพลังงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-คปพ.หนุนรัฐบาลเร่งแก้ไขร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ เชื่อหากพลังงานไม่คัดค้าน ภายใน 1 เดือนจะจบได้ เหตุมีร่างของ สนช. เขียนไว้หมดแล้ว แนะเพิ่มทางเลือกระบบสัมปทาน โดยใช้ PSC และรับจ้างผลิต รองรับแหล่งหมดอายุในอ่าวไทย โดยตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาดูแล "อารีพงศ์" แจงข่าวครม.อนุมัติ 2 กฎหมายปิโตรเลียมไม่จริง แค่สรุปความเห็น 26 ประเด็นที่จะต้องมอบหมายให้กฤษฎีกาไปพิจารณาปรับปรุงก่อนเสนอ สนช.

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) เปิดเผยว่า การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2558 มอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากลับไปแก้ไขร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานระบุไว้ว่าจะแก้ไขใน 26 ประเด็น ซึ่งถือว่าครม. ได้รับฟังเสียงคัดค้านจากประชาชน จึงต้องขอบคุณท่านนายกฯ เพราะหากมีการแก้ไขตามประเด็นที่เสนอจริงโดยไม่มีการคัดค้านจากกระทรวงพลังงาน เชื่อว่าภายใน 1 เดือนก็จะจบลงได้

"ครม.ตีกลับ ชี้ให้เห็นว่าร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับที่เสนอโดยกระทรวงพลังงาน มีข้อบกพร่องจริงๆ เพราะก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าก่อนหน้านั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติโหวตไม่ผ่านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ต่อมานายกฯ ก็มอบให้คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้รวบรวมความเห็นจากทุกส่วนจนใกล้จะเสร็จแล้ว แต่ปลายเม.ย. กระทรวงพลังงานก็กลับเสนอเข้า ครม. ในแบบฉบับของตนเอง"ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ คปพ.ได้แสดงจุดยืนมาตลอดว่าหนุนร่างแก้ไขของ สนช. ที่ศึกษาพบว่าจะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงรวม57 มาตรา แต่ฉบับกระทรวงพลังงานกลับมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักๆ แค่ 3 ประเด็น โดยเฉพาะมีการนำระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) เข้าไปจริง แต่ไม่ได้เขียนรายละเอียดต่างๆ รองรับไว้เลย ขณะที่ร่าง สนช. ศึกษาจะมีระบบเพิ่มที่ไม่เพียงแต่สัมปทาน แต่จะมี PSC และระบบรับจ้างผลิตให้เป็นทางเลือกในการดำเนินงาน โดยเฉพาะกรณีรับจ้างผลิตจะรองรับแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุ คือ เชฟรอน และบงกชอีก5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งจะต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาดูแล เป็นต้น

ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า สำหรับระบบรับจ้างผลิต กระทรวงพลังงานก็ไม่ได้ระบุไว้ในร่างแก้ไข โดยสาเหตุที่ คปพ. และคณะกรรมาธิการฯสนช. เสนอให้เพิ่มเป็นทางเลือก เนื่องจากแหล่งสัมปทานจะหมดอายุ คือ แหล่งเอราวัณและบงกชในปี 2565-66 ซึ่งทรัพย์สินต่างๆ จะตกเป็นของรัฐ สามารถใช้ระบบดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ชาติสูงสุดได้ แต่การบริหารจะต้องมีการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมาดูแลที่มีการเขียนกฏหมายรูปแบบที่ชัด การบริหารต้องไม่มีการสวมหมวกหลายใบ และกำหนดแยกอำนาจไว้อย่างชัดเจนจากขณะนี้ที่กระทรวงพลังงานทำหน้าที่ 3 ด้าน คือ 1.จัดการบริหารพลังงานที่เป็นงานรูปทีนหรือวันต่อวัน2.เก็บรายได้เข้ารัฐ และ3.กำกับดูแล ซึ่งจำเป็นจะต้องถ่วงดุลอำนาจ โดยต่อไปข้อที่ 1.จะเป็นหน้าที่ของบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และข้อที่ 2 ให้เป็นหน้าที่กระทรวงการคลังส่วนข้อที่ 3 คือ หน้าที่กระทรวงพลังงาน

"หากกระทรวงพลังงานไม่คัดค้านแนวทางการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ที่จะถูกตีกลับไปยังกฤษฏีกาใหม่ เพื่อปรับปรุงและนำร่างของสนช. มาดำเนินการประกอบ เชื่อว่าจะใช้เวลาเพียง 1 เดือน เพราะจริงๆ ร่างของ สนช. ได้มีการทำกฏหมายประกอบพร้อมเข้าสภาฯอยู่แล้ว และก็สามารถเดินหน้าเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ทันที จึงขอย้ำว่าที่ทุกอย่างล่าช้า ก็เพราะกระทรวงพลังงานเอง"หม่อมกรณ์กล่าว

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอว่าที่ประชุม ครม. 8ธ.ค.ได้เห็นชอบในหลักการร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับไปแล้วนั้น ตนยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริง คือ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม. เกี่ยวกับการชี้แจงทำความเข้าใจของกระทรวงพลังงานต่อ สนช. และมีการสรุปประเด็นความเห็นออกมา 26 ประเด็น โดยครม. ได้รับทราบ และมอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในรายละเอียดก่อนเสนอ สนช. ต่อไป

โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมจำนวน 2 ฉบับ และคณะกรรมาธิการฯ จะประกอบด้วยทั้ง สนช. ภาคราชการ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน ประมาณ 35 คน และเมื่อมีข้อสรุปที่ชัดเจนก็จะตราเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการปกติในการออกกฎหมายทั่วไป

"การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 เพื่อความต่อเนื่องในการสำรวจ สร้างโอกาสในการพบปิโตรเลียม และเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และขอร้องกลุ่มผู้ไม่หวังดีอย่าบิดเบือนเรื่องนี้ เพื่อเป็นประเด็นทางการเมือง"นายอารีพงศ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น