xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

17 กฎเหล็กสกัดนักการเมืองโกง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงวันนี้ กระบวนการคัดกรองบุคคลที่จะเข้าสู่การเมืองที่จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามแนวทางการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน เริ่มมีความชัดเจนขึ้น โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้วางกฎเหล็ก 17 ข้อ กำหนดลักษณะและคุณสมบัติต้องห้าม ของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบการร่างรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 กำหนดไว้ ดังนี้

1. ติดยาเสพติดให้โทษ 2. เป็นบุคคล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 3. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตาม มาตรา... 4. ถูกหรือเคยถูกสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5. ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

6. เคยได้รับโทษจำคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ 7. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติชอบในวงราชการ 8. ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ 9. ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือกระทำความผิด ฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 10. ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือไม่เที่ยงธรรม

11. ต้องหรือเคยต้องคำวินิจฉัยหรือคำพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้พ้นจากตำแหน่ง 12. เป็นข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง 13. เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 14. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดแล้วไม่เกิน 2 ปี 15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 16. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ17. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

จากกฎเหล็กทั้ง 17 ข้อนี้ เป็นอันชัดเจนว่า ผู้ที่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการไม่มีสิทธิสมัครส.ส. แม้ว่าจะได้รับการล้างมลทินตามพ.ร.บ.ล้างมลทินก็ตาม

นอกจากนี้ ผู้ที่เคยต้องคําพิพากษา หรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ว่ากระทําการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทําการอันทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรม ก็จะไม่มีสิทธิสมัครส.ส.เช่นกัน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ประกาศใช้

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยว่า กรณีนักการเมืองที่เคยต้องโทษเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี จากกรณีถูกยุบพรรคอันเนื่องมาจาก การทุจริตเลือกตั้ง คือพวกบ้านเลขที่ 111 และ 109 นั้นสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นในปี 2560ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ เพราะได้พ้นโทษไปแล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญที่กำหนดโทษดังกล่าว ก็ถูกยกเลิกไปแล้ว

ส่วนอีกประเด็นที่ สังคมให้ความสนใจ คือ กรณีนักการเมืองที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง จะสมารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่ อย่างเช่น กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2558 จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว จะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้าม ตามข้อ 17 หรือไม่

คำตอบคือ การเลือกตั้งในปี 2560 นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังลงสมัครไม่ได้ เพราะถูกสนช. ลงมติถอดถอน ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่ก็ไม่ได้ถูกตัดสิทธิตลอดไป ยังลงสมัครได้เมื่อพ้นโทษ คือผ่าน 5 ปีไปแล้ว เว้นแต่ว่า เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวด้วย ก็จะถูกตัดสิทธิตลอดไป

ทั้งนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ผู้ที่จะมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องคุณสมบัติ ว่าลงสมัครได้ หรือไม่ได้ คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากกกต.วินิจฉัยว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ ผู้ที่จะสมัครก็ยังมีสิทธิส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดได้

ยังมีอีกเรื่องที่ได้รับการปรับแก้ คือเรื่องเอกสิทธิ์ของ ส.ส. และ ส.ว. ในระหว่างสมัยประชุมสภา ที่จากเดิมห้ามมิให้จับกุม คุมขัง หรือหมายเรียกตัว ส.ส.และ ส.ว.ในสมัยประชุม แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เพิ่มเติมไปว่า เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับพรรคการเมือง เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติการเป็นส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งผู้ที่มีคดีทุจริต ก็สามารถดำเนินคดีในสมัยประชุมนั้นได้ ซึ่งจะแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ ส.ส. และ ส.ว. สามารถใช้เอกสิทธิคุ้มครอง โดยขอความเห็นชอบจากประธานในแต่และสภา ไม่ให้นำตัวไปดำเนินคดีได้

กรธ.ยังได้เปลี่ยนแปลงสมัยประชุม ที่จากเดิมกำหนดให้เป็น 2 สมัยประชุม คือ การประชุมสมัยสามัญ และสมัยนิติบัญญัติ โดยยังคงให้มีการประชุม 2 สมัยเช่นเดิม แต่ไม่ได้เจาะจงว่า ต้องเป็นสมัยสามัญ และ สมัยนิติบัญญัติ ซึ่งจะสามารถดำเนินการกิจการในฝ่ายนิติบัญญัติได้ทุกเรื่อง ทั้งการตั้งกระทู้ถาม การเสนอญัตติ การพิจารณากฎหมาย โดยการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังทำได้ปีละ 1 ครั้ง ตามเดิม โดยจะเป็นช่วงไหนของการประชุมก็ได้

สำหรับที่มาของส.ว.นั้น ในเบื้องต้นกำหนดให้มี ส.ว. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม จากตัวแทนกลุ่มสังคมต่างๆ ประมาณ 20 กลุ่ม แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะมีกลุ่มใดบ้าง และกระบวนการเลือกตั้งทางอ้อมนั้นจะมีขั้นตอน วิธีการเลือกอย่างไร ซึ่งยังอยู่ระหว่างการหารือกัน ยังไม่มีข้อยุติ

เหล่านี้คือกระบวนการคัดกรองผู้ที่จะเข้าสู่การเมือง และเมื่อได้เข้าสู่ตำแหน่งแล้ว ยังมีกรอบในการปฏิบัติงาน และการตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการเมือง ที่มุ่งขจัดการทุจริต คอร์รัปชัน

แต่ทั้งหมดนี้ ยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย เพราะยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่างๆ อีกรอบหนึ่ง ก่อนที่กรธ. จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง เพื่อนำไปขอประชามติ จากประชาชน เมื่อถึงเวลานั้น ข้อความ และความหมายอาจเปลี่ยนแปลงไปจากนี้

ก็ต้องจับตาว่า มาตรการปราบโกงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเข้มข้น รัดกุมขึ้น หรือว่ายังมีช่องว่าง รูโหว่ ให้เล็ดลอด แถไปได้เหมือนเดิม



กำลังโหลดความคิดเห็น