xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) : เรื่องที่ 2.1 การปฏิรูปการเมืองของไทย ตอนที่ 7 พรรคการเมืองและที่มาของบุคลากรทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1.กล่าวนำ : อนุสนธิจากคำถามของผู้อ่าน

เนื่องจากได้มีผู้อ่านท่านหนึ่งอยากทราบว่า ผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไรต่อแนวความคิดของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ในเรื่องที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนฯ และที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่ได้เผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประมาณวันที่ 11-13 พ.ย.58(ดูhttp://www.posttoday.com/analysis/politic/398138)

ก่อนที่จะตอบคำถามผู้อ่านในเรื่องนี้ ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านกลับมาที่การนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนฯ และที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ชุดปี 2558) ซึ่งจะพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรนำมากล่าวในที่นี้หลายประการ คือ

(1) ประการแรก ได้กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนฯ จำนวน 500 คน โดยแบ่งเป็นประเภทแบ่งเขต 350 คน ประเภทบัญชีรายชื่อ 150 คน

(2) ประการต่อมา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้นำเสนอระบบการคิดคะแนนเลือกตั้งที่เรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยให้นำคะแนนเลือกตั้งของผู้ที่แพ้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมาคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภทบัญชีรายชื่อ โดยการลงคะแนนบนบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว (สรุปจาก
http://www.posttoday.com/analysis/politic/398138)

(3) ประการสุดท้ายคือ ที่มาของนายกรัฐมนตรี กรธ.มีแนวความคิดว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.โดยให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี 1-5 ชื่อ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. หรือจะเป็น ส.ส. ก็ได้ แต่จะต้องได้รับการลงมติโดยเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯ ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ก่อนว่า พรรคการเมืองใดจะเสนอให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง (สรุปจาก http://www.posttoday.com/analysis/report/39940)

การนำเสนอแนวความคิดของ กรธ.ที่เรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสมในข้อ (2) และที่มาของนายกรัฐมนตรีในข้อ (3) ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมาก โดยได้ถูกคัดค้านและถูกวิพากษ์วิจารณ์จากอดีตนักการเมืองที่อยู่ในพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ (ดูตัวอย่างจาก http://www.dailynews.co.th/politics/360654: ในหัวข้อข่าว “นิพิฏฐ์” อัดซ้ำระบบ “1 กา 3 ได้” วิตถารหนัก) แต่สำหรับแนวความคิดเกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรีของ กรธ.กลับได้รับการสนับสนุนจากนิสิตนักศึกษาบางส่วน (จากการสุ่มสอบถามความคิดเห็นนิสิตนักศึกษาบางคนโดยผู้เขียน), จากสื่อมวลชนบางกลุ่ม (จากการฟังความคิดเห็นของพิธีกรรายการข่าววิทยุ 101 ช่วงเวลา 19.30 - 20.00 น.และ20.45 - 21.00 น.ของวันศุกร์ที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา) และการพูดคุยสอบถามจากประชาชนทั่วไป (โดยผู้เขียน) ในที่ต่างๆ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับ การคำนวณคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ, พรรคการเมือง, ที่มาของบุคลากรทางการเมือง ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพื่อให้ผู้อ่านได้นำไปเปรียบเทียบกับความเห็นของนักการเมืองหลายท่านที่ได้แสดงไว้ก่อนหน้านี้ตามสื่อต่างๆ และหวังว่าคงทำให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจในแนวทางต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

2. ความจริงเกี่ยวกับระบบการเมืองและพรรคการเมืองของไทยในอดีตก่อน 22 พ.ค. 2557

ผู้เขียนขอทบทวนข้อความบางตอนที่เกี่ยวกับระบบการเมืองไทย และพรรคการเมืองไทยจากบทความ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) เรื่อง การปฏิรูปการเมืองไทย (ตอน 2.5 หรือตอนที่ 5 และตอน 2.6 หรือตอนที่ 6) ซึ่งมีข้อความที่จะขอนำมากล่าวในบทความนี้ เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้

2.1 ข้อความที่ 1 (ภาพจาก แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) เรื่อง การปฏิรูปประเทศไทย)

ภาพที่ 1 : ตลาดสินค้าการเมือง

“ระบบการเมืองไทย ได้พัฒนาจนกลายเป็น ระบบตลาดสินค้าการเมือง (Politics Market) ที่มีการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญ คือ อำนาจทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผลประโยชน์ เป็นส่วนประกอบที่ติดมากับอำนาจ ถ้าบุคคลใดได้กรรมสิทธิ์ครอบครองอำนาจทางการเมือง ก็จะได้ผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจนั้นมาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ นักการเมืองของไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2545 - 2557) จึงได้พัฒนาตนจนกลายเป็นนักธุรกิจการเมืองที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิ่งเต้นและหาผลประโยชน์โดยวิธีการต่างๆ (คือ เรียนรู้วิธีการวิ่งเต้นและหาผลประโยชน์โดยอาศัยความสนิทสนมใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ หรืออาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเท่าที่จะทำได้ เป็นต้น)

ส่วน พรรคการเมือง ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ซื้อ (คะแนนเสียงเลือกตั้ง) รายใหญ่ในตลาดสินค้าการเมืองไทยก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นรูปลักษณะต่างๆ เช่น พรรคครอบครัว (ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกพรรคตามที่ผู้มีอำนาจในครอบครัวเห็นสมควร), พรรคส่วนตัว (มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ตกลงใจ), พรรคสำรอง (เป็นพรรคสำรองของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งสำรองเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน) และ พรรคเฉพาะกิจหรือพรรคหากิน (ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อนำไปขายหรือเซ้งให้กับบุคคลที่ต้องการในอนาคต หรือจัดตั้งขึ้นเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและพรรคพวกเพราะหวังได้รับเงินสนับสนุนจาก กกต. และจากผู้ที่ต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้ง) เป็นต้น”

ความคิดเห็นของผู้เขียน (1) ต่อข้อความที่ 1

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ประเทศไทยจะมีพรรคการเมืองมากที่สุดในโลก โดยในปี 2557 มีจำนวนพรรคการเมืองทั้งสิ้น 74 พรรค (ข้อมูลจาก กกต.และจาก Wikipedia, December 2014)

2.2 ข้อความที่ 2 :

“นอกจากนี้ยังมีการนำแนวความคิดหรือหลักการต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศอื่นมาใช้กับประเทศไทย ซึ่งควรได้รับการพิจารณาและกลั่นกรองอย่างรอบคอบ เพราะหลักการบางอย่างอาจใช้ได้ในบางประเทศ แต่อาจไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับประเทศไทยของเรา ตัวอย่างเช่น สมาชิกสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมีสถานะเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ และ ระบบการสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกที่อาจมีความรู้สึกชอบพอกันเป็นส่วนตัว หรือเคยศึกษาในสถาบันเดียวกันมา หรือเกี่ยวพันเป็นเครือญาติเข้ามามีอิทธิพลในการสรรหา จนทำให้เกิดความลำเอียงไม่ยุติธรรม เป็นต้น” (หมายความว่า ยังมีการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเล่นพรรคเล่นพวกกันอย่างแพร่หลายทั้งในทางราชการและทางการเมืองนั่นเอง - ผู้เขียน)

ความคิดเห็นของผู้เขียน (2) ต่อข้อความที่ 2

ในเรื่องนี้ขอให้พิจารณากรณีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่าง แม้จะอยู่ในช่วงของการรัฐประหาร และการปฏิรูปประเทศโดย คสช.ก็ตาม แต่เราก็ยังได้พบว่า ที่มาของสมาชิกสภาฯ ทั้งสองจะมาจากความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ (เป็นส่วนใหญ่) มากกว่าที่จะได้รับการพิจารณาจากความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ความเป็นเพื่อนร่วมรุ่นจากสถาบันเดียวกัน หรือเคยร่วมเรียนในหลักสูตรเดียวกันมาก่อน เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่มีความคุ้นเคยกันมา เป็นเพื่อนร่วมงานหรือเป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชากันมาก่อน หรือเคยมีบุญคุณกันมาในอดีต หรือเคยมีผลประโยชน์ร่วมกันมาทั้งในอดีตและปัจจุบัน เป็นต้น

ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า ระบบพรรคพวก ระบบอุปถัมภ์ และความสัมพันธ์ส่วนตัวยังคงเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในเชิงบวก อาจช่วยให้การทำงานมีความเป็นทีมมากขึ้นเพราะสมาชิกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน รู้จักกันดีจึงรู้ใจกัน แต่ในทางตรงกันข้าม (ในเชิงลบ) ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศด้วยเหมือนกัน เพราะบุคคลที่มีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวบางคนอาจไม่มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) และบางคนก็อาจไม่มีความรู้หรือไม่เคยมีความคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศมาก่อนเลย แต่ต้องมาทำหน้าที่ในฐานะสมาชิก สปท. โดยสรุปก็คือ ถ้าเข้ามายกมืออย่างเดียว ก็จะเกิดสภาวะแรงงานส่วนเกิน (Labor Surplus) ขึ้นทั้งใน สนช. และ สปท. ดังนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้ชี้แจงต่อพี่น้องคนไทยด้วยว่า ถ้าสภาทั้งสองมีแรงงานส่วนเกินเกิดขึ้น แล้วประเทศไทยจะมีสภาพเป็นอย่างไรในอนาคต

2.3 ข้อความที่ 3 :

“ดังนั้น แม้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยจะมีอายุยืนยาวมาถึง 82 ปี แต่ก็ยังมีช่องโหว่ต่างๆ จนไม่สามารถนำมาซึ่งความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีประสิทธิภาพทางการเมืองได้อย่างที่มุ่งหวัง (ซึ่งมักจะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ) ประกอบกับพรรคการเมืองของไทยส่วนใหญ่ยังมีรูปลักษณะเป็นพรรคส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้นหรือของกลุ่มคนไม่กี่คน หรือ เป็นพรรคของครอบครัวมากกว่าที่จะมีลักษณะเป็นพรรคของมหาชน จึงมีผลทำให้ ระบบการเมืองของไทยไม่เพียงได้กลายเป็นเครื่องมือให้กลุ่มธุรกิจการเมืองได้เข้ามากอบโกยแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการและงบประมาณของรัฐเท่านั้น แต่ยังได้กลายเป็นปัจจัยที่สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชน ซึ่งได้บั่นทอนทั้งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศไปพร้อมๆ กันอีกด้วย ดังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2545 จนถึงก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557)”

ความคิดเห็นของผู้เขียน (3) ต่อข้อความที่ 3

โดยสรุปแล้ว อำนาจทางการเมือง, การเล่นพรรคเล่นพวก, ความหลากหลายของคนในชาติที่มีวัฒนธรรมและที่มาที่แตกต่างกัน ความเชื่อและค่านิยมที่แตกต่างกัน และความต้องการผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง กลุ่มข้าราชการ และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม และปัญหาคอร์รัปชันต่างๆ ซึ่งได้ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาต่างๆ ได้ทั้งหมด แต่ถ้า รัฐธรรมนูญในอนาคตให้ความสำคัญในเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรม รักษาความเป็นไทย ยึดหลักผลประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด และได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ก็น่าเชื่อว่า รัฐธรรมนูญดังกล่าวอาจมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ บรรลุผลสำเร็จได้ตามที่มุ่งหวังไว้

3. ความคิดเห็นของผู้เขียนในเรื่อง จำนวนสมาชิกสภาฯ และที่มาของสมาชิกสภาฯ และนายกรัฐมนตรี (บุคลากรทางการเมือง) ตามแนวความคิดของ กรธ.ในข้อ 1

3.1 ประการแรก ผู้เขียน ไม่คัดค้านในเรื่องจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่ กรธ.ได้เสนอ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ จำนวน 500 คน โดยแบ่งเป็นประเภทแบ่งเขตจำนวน 350 คน และประเภทบัญชีรายชื่อ 150 คน

3.2 ประการที่สอง ผู้เขียน เห็นด้วยในเรื่องที่ กรธ.เสนอให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมืองเท่านั้น แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ให้มีแต่เฉพาะพรรคการเมืองที่รัฐจัดตั้งเท่านั้น หมายความว่า ในระบบการเมืองไทยจะต้องไม่มีพรรคการเมืองอื่นใดที่จัดตั้งโดยเอกชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คือ ห้ามหรือไม่อนุญาตเอกชนหรือบุคคลใดๆ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมานั่นเอง ควรกำหนดให้มีเพียงเฉพาะพรรคการเมืองที่รัฐจัดตั้งเท่านั้น

เหตุผลที่เสนอ ให้มีเฉพาะพรรคการเมืองที่รัฐจัดตั้ง เท่านั้น ก็เพื่อต้องการที่จะ ยุติความเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีอิทธิพลหรือเป็นเจ้าพ่อของพรรคให้หมดสิ้นไปจากระบบการเมืองไทย และเพื่อให้บุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ต้องผ่านการกลั่นกรองตามขั้นตอนต่างๆ เสียก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนจะต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือมีคุณสมบัติเกินกว่าคุณสมบัติที่กำหนดไว้สำหรับข้าราชการประจำ เพราะบุคคลที่สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือกเข้ามาแล้ว อาจต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารคือ เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการประจำฝ่ายต่างๆ (ดังนั้นจึงควรแก้ไขพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการเมือง พ.ศ. 2535 หรือควรยกเลิกแล้วออกใหม่ทั้งฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในอนาคต)

อย่างไรก็ตาม ถ้าระบบการเมืองของไทยยังคงมีพรรคการเมืองที่จัดตั้งโดยเอกชนอยู่อีก ผู้เขียน ก็ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ กรธ.ได้เสนอให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมืองเท่านั้น เนื่องจากพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ (ตามข้อ 2) มักพัฒนามาจากความเป็นพวกพ้องหรือทุนทางธุรกิจ จึงมักให้ความสำคัญในเรื่องปัจจัยทางการเงินมากกว่าคุณวุฒิ และอาจกีดกันผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานการเมืองที่ไม่ได้รู้จักกันเป็นส่วนตัว หรือไม่ได้มีความสนิทสนมกับผู้มีอำนาจในพรรคนั้นๆ ดังนั้นการให้โอกาสผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่ได้สังกัดพรรคสามารถลงเลือกตั้งได้ จึงไม่เพียงจะเป็นการแข่งขันกันอย่างเสรีเท่านั้น แต่ยังจะช่วยถ่วงดุลอิทธิพลของพรรคการเมืองเอกชนได้อีกด้วย

3.3 ประการที่สาม ผู้เขียน ขอคัดค้านในเรื่องที่ กรธ.เสนอระบบการคิดคะแนนเลือกตั้งที่เรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยให้นำคะแนนเลือกตั้งของผู้ที่แพ้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมาคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงมีความสำคัญและไม่สูญเปล่า ในเรื่องนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า การคำนวณคะแนนเลือกตั้งตามระบบจัดสรรปันส่วนของ กรธ.ไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่ทุกคะแนนเสียงอย่างเท่าเทียมกัน เพราะไม่ได้นำคะแนนเสียงของผู้ที่ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตมาคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย(เปรียบเสมือนให้ผู้ที่สอบตกไม่ต้องสอบซ่อมหรือไม่ต้องสอบแก้ตัวใหม่ จึงเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง - ผู้เขียน )

นอกจากนี้ ผู้เขียนยัง ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กรธ.ที่เสนอให้ลงคะแนนเลือกตั้งโดยใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว เนื่องจากมีการแบ่งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ออกเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทแบ่งเขต และประเภทบัญชีรายชื่อ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ควรแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้งตามประเภทของการเลือกสมาชิกสภาผู้แทน เพราะถ้านำมารวมในบัตรเดียวกันอาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง เช่น นายดำต้องการเลือก ส.ส.แบ่งเขตที่อยู่พรรค ก. และเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรค ข. ถ้ามีบัตรลงคะแนนใบเดียวอาจทำให้เข้าใจผิดและกาผิดช่องได้ เป็นต้น

3.4 ประการที่สี่ ผู้เขียน เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งในเรื่องที่ กรธ.เสนอให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลที่พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 1 - 5 ชื่อ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. หรือจะเป็น ส.ส. ก็ได้ แต่จะต้องได้รับการลงมติโดยเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯ

เนื่องจากการเปิดเผยตัวบุคคลที่จะเป็นผู้นำฝ่ายบริหารในอนาคตให้สาธารณชน (Open to All) ได้รับรู้ก่อนที่จะทำการตัดสินใจลงคะแนนเลือกบุคคล ไม่เพียงจะทำให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตามหลักการของประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังทำให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบประวัติความเป็นมาของบุคคล รวมทั้งประวัติการทำงานของบุคคล ที่จะมาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารในอนาคตได้อีกด้วย

สำหรับในกรณีที่ กรธ.เสนอว่า บุคคลที่เข้ารับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเป็น ส.ส.หรือจะเป็น ส.ส.ก็ได้ แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนด้วยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ในกรณีนี้ผู้เขียนก็เห็นด้วยกับแนวความคิดของ กรธ. เพราะเชื่อว่าไม่เพียงจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเสนอรายชื่อบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. (แต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต) ได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการให้โอกาสแก่ประชาชนได้มีทางเลือกหลายๆ ทางอีกด้วย นั่นก็คือ จะมีบุคลากรทางการเมืองหลากหลายรูปแบบมาให้ประชาชนได้เลือกตามที่ประชาชนชอบหรือต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีในกระบวนการคัดเลือกขั้นต้น (เปรียบได้กับการซื้อถ้วยแก้ว ที่ร้านค้าจะมีถ้วยแก้วหลากหลายรูปแบบให้เลือกซื้อ) ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตยนั่นเอง แม้ว่าหลังจากนั้นสมาชิกสภาฯ จะลงมติเลือกบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในขั้นสุดท้ายก็ตาม

4. ข้อเสนอเรื่องการคำนวณคะแนนเลือกตั้ง พรรคการเมือง และบุคลากรทางการเมือง

4.1 ข้อเสนอในเรื่องการคิดคำนวณคะแนนเลือกตั้งของ ส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อ

ควรกำหนดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แน่นอนให้แต่ละกลุ่มพรรคการเมือง โดยมีขั้นตอนดังนี้

(1) จัดกลุ่มพรรคการเมืองเพื่อคำนวณคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อ

ในปัจจุบันมีพรรคการเมืองทั้งหมด 74 พรรค (ข้อมูลจาก กกต.) ซึ่งอาจจัดกลุ่มพรรคการเมืองได้ 10 กลุ่มๆ ละ 7 - 8 พรรค โดยกำหนดให้กลุ่มที่ I - V มี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้กลุ่มละ 16 ที่ และให้กลุ่มที่ V - X มี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้กลุ่มละ 14 ที่ และกำหนดให้กลุ่มพรรคการเมืองที่ VII - X มีพรรคการเมืองในแต่ละกลุ่มๆ ละ 8 พรรค ตามที่แสดงในตารางที่ 1*

ตารางที่ 1 การจัดกลุ่มพรรคการเมืองเพื่อคำนวณคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อ

*ตารางที่ 1 จัดทำโดย วีระศักดิ์ นาทะสิริ

คำอธิบาย : ในตารางที่ 1 พรรคลำดับที่ หมายถึง พรรคที่ได้คะแนนเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นลำดับที่เท่าไร และการจัดกลุ่มพรรคการเมืองจะเรียงลำดับตามจำนวนคะแนนเลือกตั้งที่แต่ละพรรคได้รับ และ กลุ่มพรรคที่ หมายถึง พรรคการเมืองที่อยู่ในกลุ่ม ตัวอย่างเช่น กลุ่มพรรคที่หนึ่ง (I) จะมีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1, 20, 21, 40, 41, 60, 61 และมี ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กลุ่มพรรคที่ I จำนวน 16 ที่ หรือ กลุ่มพรรคที่สิบ (X) มีพรรคการเมืองลำดับที่ 10, 11, 30, 31, 50, 51, 70, 71 และจะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อของ กลุ่มพรรคที่ X จำนวน 14 ที่ เป็นต้น

(2) การคำนวณคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อ

นำคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรคในกลุ่มเดียวกันมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของกลุ่ม ก็จะได้จำนวนคะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่ ตัวอย่างเช่น กลุ่มที่ I: พรรคลำดับที่ 1 ได้รับ 100,000 คะแนน, พรรคลำดับที่ 20 ได้รับ 80,000 คะแนน, พรรคลำดับที่ 21 ได้รับ 75,000 คะแนน, พรรคลำดับที่ 40 ได้รับ 60,000 คะแนน, พรรคลำดับที่ 41 ได้รับ 55,000 คะแนน, พรรคลำดับที่ 60 ได้รับ 45,000 คะแนน และพรรคลำดับที่ 61 ได้รับ 5,000 คะแนน นำคะแนนที่ได้ของทุกพรรคใน กลุ่มที่ I มารวมกันจะได้คะแนนเลือกตั้งรวมทั้งหมดเท่ากับ 420,000 คะแนน และหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของกลุ่มที่หนึ่ง 16 ที่จะได้คะแนนเลือกตั้ง 26,250 คะแนนต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่ ซึ่งเขียนเป็นสูตรได้ดังนี้

X = ∑yi/N ………………………………(1)

ในที่นี้ให้ X คือ คะแนนเลือกตั้งต่อจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่

Yi คือ คะแนนเลือกตั้งของแต่ละพรรค(∑yi คือ ผลรวมของทุกพรรคในกลุ่ม)

N คือ จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองกลุ่มที่ 1 ซึ่งเท่ากับ 16 ที่

ดังนั้น พรรคลำดับที่ 1 จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 3 ที่ มีคะแนนเหลือ 21,250 คะแนน (+1)

พรรคลำดับที่ 20 จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 3 ที่ มีคะแนนเหลือ 1,250 คะแนน

พรรคลำดับที่ 21 จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 2 ที่ มีคะแนนเหลือ 22,500 คะแนน (+1)

พรรคลำดับที่ 40 จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 2 ที่ มีคะแนนเหลือ 7,500 คะแนน

พรรคลำดับที่ 41 จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 2 ที่ มีคะแนนเหลือ 2,500 คะแนน

พรรคลำดับที่ 60 จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ 1 ที่ มีคะแนนเหลือ 18,750 คะแนน (+1)

พรรคลำดับที่ 61 จะไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขาดคะแนนอีก (-21,250) คะแนน

จากการคำนวณคะแนนดังกล่าว จะพบว่า กลุ่มพรรคที่ I จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 13 ที่ ขาดอยู่อีก 3 ที่จึงจะครบ 16 ที่ ให้นำคะแนนที่เหลือของแต่ละพรรคมาเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ปรากฏว่า พรรคลำดับที่ 21 มีคะแนนเหลือ 22,500 คะแนน, พรรคลำดับที่ 1 มีคะแนนเหลือ 21,250 คะแนน และพรรคลำดับที่ 60 มีคะแนนเหลือ 18,750 คะแนน ทั้ง 3 พรรคมีคะแนนเหลือมากกว่าพรรคอื่นจึงจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นอีกพรรคละ 1 ที่ (พรรคที่มีคะแนนเหลือมากที่สุดจะได้ก่อน)

4.2 ข้อเสนอในเรื่องพรรคการเมือง

จากปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองของไทยในข้อ 2 ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางในการดำเนินการที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองของไทยเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

(1) ประการแรก คือ ยังคงให้พรรคการเมืองต่างๆ ของเอกชนหรือกลุ่มเอกชนจัดตั้ง เป็นองค์กรที่มีบทบาทและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเช่นที่เคยเป็นมาต่อไป

(2) ประการที่สอง คือ กำหนดให้ระบบการเมืองของไทยมีพรรคการเมืองมากกว่ารูปแบบเดียว คือ ให้เอกชน (กลุ่มบุคคล) จัดตั้งพรรคการเมืองอย่างที่เคยเป็นมาคือ พรรคของเอกชน และในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้รัฐจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาด้วยเช่นกันคือ พรรคของรัฐ (ดังแสดงในภาพที่ 2) ซึ่งอาจเปรียบได้กับการจัดตั้งโรงพยาบาลเอกชนกับการจัดตั้งโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อสร้างสถานการณ์การแข่งขันทางการเมืองในการให้บริการแก่ประชาชนระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เช่นเดียวกับการแข่งขันกันให้บริการระหว่างโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาลของรัฐนั่นเอง (ซึ่งจะต้องมีการออกกฎหมายมารองรับการจัดตั้งพรรคการเมืองของรัฐด้วย- ผู้เขียน)

ภาพที่ 2 พรรคการเมืองของเอกชนและพรรคการเมืองของรัฐ

*ไม่ได้กล่าวถึงที่มาและบทบาทของวุฒิสภา แต่เห็นว่าวุฒิสภาไม่ควรมาจากกลุ่มการเมืองใดๆ

(3) ประการที่สาม คือ ยุบเลิกพรรคการเมืองที่เอกชนได้จัดตั้งและที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมด และ ห้ามไม่ให้เอกชนคนใดหรือประชาชนกลุ่มใดๆ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเองในประเทศไทย ให้เป็นหน้าที่ของรัฐเท่านั้นที่จะสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นได้ในประเทศไทย (ดังแสดงในภาพที่ 3) เพื่อไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของพรรคหรือผูกขาดอำนาจในพรรคไว้แต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว และให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองของรัฐได้ไม่เกิน 5 พรรคเท่านั้น (โดยจะต้องออกกฎหมายจัดตั้งพรรคการเมืองดังกล่าวพร้อมๆ กับการออกกฎหมายเกี่ยวกับระเบียบข้าราชการการเมืองไปในคราวเดียวกัน : สรุปจากแผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) เรื่องปฏิรูปการเมือง – ผู้เขียน)

ภาพที่ 3 พรรคการเมืองของรัฐ

ความคิดเห็นของผู้เขียนในเรื่องพรรคการเมือง*

ผู้เขียนเห็นด้วยกับความคิดเห็นในแนวทางที่ 3 ที่กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมืองกระทำได้โดยรัฐเท่านั้น ห้ามเอกชนหรือองค์กรใดๆ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นในประเทศไทย เพราะมิฉะนั้นอาจมีคนต่างด้าวที่ได้สัญชาติไทยร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง แล้วทุ่มซื้อเสียงจนได้เสียงข้างมาก สามารถจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศไทยได้ ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเหตุผลจากข้อความบางตอนในบทความ “แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) เรื่องปฏิรูปการเมือง” มากล่าวในที่นี้คือ

“แนวความคิดนี้มาจากความมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของพรรคการเมืองที่เอกชนจัดตั้งขึ้น (เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 – ปัจจุบัน ปัญหาการใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ต่างๆ หรือการใช้อำนาจเพื่อเข้ายึดครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของประเทศชาติ และปัญหาการแสวงหาอำนาจเพื่อคอร์รัปชัน เป็นต้น) และเพื่อขจัดความเป็นเจ้าของพรรคหรือนายทุนพรรคการเมืองให้หมดสิ้นไปให้ได้ เนื่องจากพรรคการเมืองและระบบการเมืองของไทยในอดีตและในปัจจุบันยังคงได้รับอิทธิพลจาก ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและเสรีนิยม (ที่นำเข้ามาจากหลายประเทศในยุโรปและจากประเทศสหรัฐอเมริกาImported from European countries and USA.) ซึ่งได้ทำให้ระบบการเมืองและพรรคการเมืองของไทยพัฒนาไปสู่ระบบตลาดสินค้าการเมือง และพรรคการเมืองได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของเจ้าของพรรคและนายทุนของพรรค ดังเช่น พรรคสุพรรณบุรี พรรคชลบุรี และพรรคจันทร์ส่อง เป็นต้น

ด้วยอิทธิพลของระบบทุนนิยมและเสรีนิยมดังกล่าว ได้ทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองของไทยเปรียบเสมือนการจัดตั้งบริษัทจำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการเมืองให้เป็นไปตามความต้องการหรือความมุ่งหมายของเจ้าของหรือของผู้จัดตั้งหรือของนายทุนพรรคการเมืองเท่านั้น เพราะเมื่อมีการลงทุนจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้นมา ผู้ลงทุนหรือกลุ่มผู้ลงทุนจัดตั้งพรรคก็ต้องหวังสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการตอบแทนให้คุ้มกับที่ได้ลงทุนไปแล้ว ดังนั้น พรรคการเมืองส่วนใหญ่ของไทยในอดีตจนถึงในปัจจุบันจึงมีลักษณะคล้ายกับ บริษัทการเมืองจำกัด ที่อยู่ใน ตลาดสินค้าการเมือง (ตลาดที่มีการซื้อขายสินค้าชนิดเดียวเท่านั้น คือ สินค้าการเมือง- ดูภาพที่ 1) โดยมีเจ้าของเพียงคนเดียวหรือครอบครัวเดียวหรือกลุ่มเดียวที่ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัทการเมือ งต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่พบว่า ไม่เพียงพรรคการเมืองเหล่านี้ไม่ได้เป็นพรรคของมวลชนหรือมาจากมวลชนเท่านั้น แต่ยังเป็นพรรคที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนกลุ่มต่างๆอีกด้วย เพราะจะมุ่งสะท้อนความต้องการของกลุ่มผู้นำพรรคหรือเจ้าของหรือนายทุนของพรรคเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมีความคิดเห็นว่า ควรยุบพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด แล้วให้รัฐจัดตั้งพรรคการเมืองของรัฐขึ้นมาใหม่ไม่เกิน 5 พรรค และเปิดโอกาสให้ประชาชนสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคต่างๆ แล้วเลือกผู้บริหารต่างๆ ของพรรคขึ้นมาจะเหมาะสมกว่า”

*(ข้อความจาก แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) เรื่องปฏิรูปการเมือง – ผู้เขียน)

4.3 ข้อเสนอในเรื่อง การคัดกรอง ตรวจสอบ และพัฒนาบุคลากรทางการเมือง

ในเรื่องนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ควรจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการบุคลากรการเมือง (หรือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการการเมือง) โดยให้มีสถานภาพเป็นองค์กรอิสระ (อาจเปรียบได้กับสำนักงาน ก.พ.ของบุคลากรทางการเมือง และควรมีหน่วยงานด้านทะเบียนประวัติและจริยธรรมบุคลากรทางการเมืองด้วย) เพื่อให้มีหน้าที่ในทุกๆ ด้านที่เกี่ยวกับบุคลากรทางการเมือง เช่น การจัดทำทะเบียนประวัติบุคลากรทางการเมือง, การพัฒนาและจัดหลักสูตรทางการศึกษา, การศึกษาวิจัยและพัฒนาการปฏิบัติงานทางการเมือง, การให้บริการทางการแพทย์, การตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน และการดำเนินการทดสอบและวัดระดับความรู้ความสามารถต่างๆ เพื่อให้ ใบประกอบวิชาชีพทางการเมือง แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมือง เป็นต้น

หน้าที่สำคัญของ สำนักงานคณะกรรมการบุคลากรการเมือง ที่ควรนำมากล่าว ก็คือ

(1) การจัดทำทะเบียนประวัติและตรวจสอบจริยธรรมของบุคลากรทางการเมือง

การจัดทำและเก็บรวบรวม คัดกรองประวัติของบุคลากรทางการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะประวัติครอบครัว ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน ประวัติการรักษาร่างกาย และอื่นๆ จะมีตัวแปรที่สำคัญหลายประการที่สามารถบ่งชี้ถึงพฤติกรรมต่างๆ ของแต่ละบุคคลได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะทำให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า บุคคลที่จะลงคะแนนเลือกหรือให้การสนับสนุน มีความรู้ความสามารถ และความถนัดที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศและประชาชนในด้านใดบ้าง

(2) การทดสอบและวัดระดับความรู้เพื่อให้ใบประกอบวิชาชีพทางการเมืองเนื่องจากบุคลากรทางการเมืองไม่ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งใดก็ตาม จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับนโยบายและบริหารงานราชการเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยปกติอยู่แล้ว และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ควรจัดทำมาตรฐานวิชาชีพสำหรับบุคคลที่จะต้องปฏิบัติงานทางการเมือง (ซึ่งอาจเปรียบได้กับใบประกอบโรคศิลป์ของบุคลากรทางด้านการแพทย์ หรือใบประกอบวิชาชีพผู้ตรวจสอบบัญชีของบุคลากรทางด้านการบัญชี)

เมื่อได้จัดทำ มาตรฐานวิชาชีพสำหรับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานทางการเมือง แล้ว จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์การทดสอบและวัดผลเพื่อให้ ใบประกอบวิชาชีพทางการเมือง ต่อไป

(3) การวิจัยและพัฒนาทางการเมือง

หน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองในระดับต่างๆ ให้มีความรู้และมีประสบการณ์เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นไปตามหลักคุณธรรมและจริยธรรมอีกด้วย ( ควรโอนย้ายสถาบันพระปกเกล้าให้มาทำหน้าที่นี้ และให้ขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการบุคลากรทางการเมือง – ผู้เขียน)

(4) การติดตาม วัดผล และประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการเมือง

หน้าที่ในด้านนี้ควรจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง และจะต้องนำผลที่ได้จากการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการเมืองออกเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตาม และรับทราบผลการปฏิบัติงานดังกล่าว เพราะประชาชนควรได้รับทราบผลการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการเมืองที่อยู่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร เนื่องจากประชาชนไม่เพียงเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐเท่านั้น แต่ประชาชนยังเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกบุคลากรทางการเมืองมาปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย

5. บทสรุป

5.1 ถ้าลักษณะและที่มาของพรรคการเมืองของเอกชนยังเป็นเช่นที่กล่าวมาในข้อ 2 แล้ว หัวหน้าพรรคหรือกลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคการเมืองก็จะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค หรือรู้สึกว่าพรรคการเมืองเปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สมบัติของตนหรือของกลุ่มตน จึงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้สถานภาพในฐานะผู้ก่อตั้งพรรค หรือในฐานะผู้สนับสนุนรายใหญ่ของพรรค หรือในฐานะผู้บริหารของพรรค แสวงหาผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จากบุคคลที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค หรืออาจจะกีดกันหรือสนับสนุนสมาชิกพรรคคนใดคนหนึ่งที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งตามความพอใจ และเหตุผลส่วนตนก็เป็นได้

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า ถ้าพรรคการเมืองเป็นของรัฐ หรือมาจากการจัดตั้งโดยรัฐแล้ว ก็จะไม่มีบุคคลใดมาอ้างความเป็นเจ้าของพรรค และเหตุการณ์ที่มีบุคคลทำตัวเป็นเจ้าของพรรคแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ ก็คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะประชาชน สมาชิกพรรค และผู้บริหารพรรคต่างก็มีฐานะเป็นเจ้าของพรรคเท่ากันทุกคน จึงสามารถเรียกร้องให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้บริหารพรรค และผลการดำเนินงานต่างๆของพรรคว่า เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานหรือไม่

5.2 สำหรับที่มาของบุคลากรทางการเมือง ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า ประเทศไทยจะต้อง จัดทำมาตรฐานวิชาชีพทางการเมือง เพื่อคัดกรองบุคคลก่อนที่จะไปสมัครรับเลือกตั้ง หรือก่อนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองในตำแหน่งต่างๆ ดังแสดงในภาพที่ 4 ซึ่งมีขั้นตอนโดยสรุปดังนี้

ภาพที่ 4 การคัดกรองบุคลากรทางการเมือง

(1) บุคลากรทางการเมืองหรือบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองในทุกตำแหน่งควรจะต้องได้รับ การรับรองมาตรฐานความรู้ความสามารถ หมายถึง จะต้องผ่านการตรวจสอบ การฝึกอบรม และการทดสอบต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด และ จะต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพทางการเมืองก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือก่อนที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ไม่มีความรู้หรือไม่มีความสามารถจริงๆ ได้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศ แล้วอาจสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติได้ในอนาคต

(2) นอกจากจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพทางการเมืองตามข้อ 5.2(1) แล้ว บุคลากรทางการเมืองหรือบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการเมืองในทุกตำแหน่งจะต้องผ่านการตรวจสอบและทดสอบพฤติกรรมต่างๆ ทั้งด้านจริยธรรม ด้านสุขภาพจิต และสุขภาพอื่นๆ ด้วย (ดูภาพที่ 4) ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่มีพฤติกรรมผิดปกติในด้านต่างๆ เช่น เป็นโรคจิต หรือวิปริตทางเพศ หรือคดโกงไม่ซื่อสัตย์ หรือเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงเป็นต้น ได้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วอาจมีโอกาสสร้างความเสียหายให้แก่ชาติบ้านเมืองได้เช่นกัน

ท้ายบทความ: สนทนากับผู้อ่าน

(1) ได้มีผู้อ่านบางท่านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการสร้างอาวุธของไทย และการสร้างคลองเพื่อเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย

ความคิดเห็นทั้งสองเรื่องเป็นความคิดเห็นที่มีประโยชน์มาก ผู้เขียนขอแจ้งให้ทราบว่า กำลังศึกษาข้อมูลในทั้งสองเรื่องให้ละเอียดยิ่งขึ้น จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

(2) มีนิสิตชั้นปีที่ 2 จุฬาฯ ถามผู้เขียนมาว่า ได้อ่านบทความเรื่อง อุดมการณ์ทหาร ของผู้เขียนแล้วเห็นว่า อุดมการณ์ทหารกับอุดมการณ์ของผู้ก่อการร้าย ดูจะไม่แตกต่างกัน ใช่หรือไม่ เพราะเหตุการณ์การก่อการร้ายที่ฝรั่งเศสได้ชี้ว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายได้ปฏิบัติการแบบยอมตายเพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองและความเชื่อทางศาสนาของตน เช่นเดียวกับทหารญี่ปุ่นที่ผู้เขียนยกมาเป็นตัวอย่าง

ในเรื่องนี้จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือผู้ก่อการร้าย ต่างก็ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ตนเชื่อถือ และต้องการทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามอุดมการณ์ที่ตนเองเชื่อถือนั่นเอง เพียงแต่ว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุในฝรั่งเศสมีความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเสริมเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่เพียงกล้าที่จะปฏิบัติการเสี่ยงตาย แต่ยังเชื่ออย่างสนิทใจว่า แม้ตัวเองจะต้องตายจากการก่อการร้าย แต่ก็จะได้ไปอยู่กับพระเจ้า ดังนั้น จึงพร้อมที่จะกระทำการอย่างเหี้ยมโหดเกินกว่าที่คาดคิดในทุกพื้นที่โดยไม่ได้คำนึงถึงว่า เหยื่อจะเป็นเด็ก สตรี คนชรา แต่อย่างใด ขอเพียงได้ทำลายเป้าหมาย (เหยื่อ) ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายที่อ่อนแอหรือไม่ก็ตาม สำหรับเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสผู้เขียนกำลังติดตามข้อมูลอยู่ และคงจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง กรุณารอด้วยครับ

ผู้เขียนเชื่อว่า ประเทศไทยคงยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เพราะอย่างน้อยยังมีนิสิตจุฬาฯ ท่านหนึ่งได้อ่านบทความนี้ (ล่าสุดมีผู้อ่านจำนวน 1,069 คน) แต่ที่สำคัญก็คือ เมื่อได้อ่านแล้ว มีความเข้าใจ จึงได้ถามมาตรงประเด็นทีเดียว ผู้เขียนต้องขอชื่นชมจากใจและหวังว่า คงมีนิสิตจุฬาฯ อีกหลายท่านที่มีความคิดความเข้าใจดังเช่นนิสิตจุฬาฯ ท่านนี้ ขอบคุณครับ – วีระศักดิ์ นาทะสิริ
กำลังโหลดความคิดเห็น