xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนไปดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับตายทั้งกลม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“บุตร 3 ประเภทคือ 1. บุตรที่ยังไม่เกิด 2. บุตรที่เกิดมาแล้วตาย และ 3. บุตรที่เกิดมาแล้วยังมีชีวิตอยู่ แต่เป็นคนโง่ ใน 3 ประเภทนี้ท่านควรเลือกประเภทที่ 1 และ 1 เนื่องจากให้ทุกข์แก่ท่านครั้งเดียว แต่ประเภทที่ 3 ให้ทุกข์แก่ท่านตลอดไป” นี่คือส่วนหนึ่งของเนื้อหาจากหนังสือที่ชื่อว่าหิโตปเทศ

โดยนัยแห่งข้อความจากหนังสือดังกล่าวข้างต้น ค่อนข้างจะมีความชัดเจนว่า ลูกที่เกิดมาแล้วและยังมีชีวิตอยู่ แต่เป็นคนโง่เป็นเหตุให้พ่อแม่เป็นทุกข์ตลอดไปตราบเท่าที่พ่อแม่และลูกยังมีชีวิตอยู่

ส่วนลูกที่ยังไม่เกิดและเกิดมาแล้วตายจะเป็นเหตุให้พ่อแม่ทุกข์เพียงครั้งเดียวคือ ทุกข์เพราะอยากมีลูก และอยากเห็นลูกเกิดมา และทุกข์เพราะลูกเกิดมาแล้วตาย

อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเล่มนี้ยังมิได้กล่าวถึงลูกที่ตายพร้อมแม่ในขณะที่ยังอยู่ในท้อง ส่วนว่าจะตายด้วยเหตุที่แม่ตายและเป็นเหตุให้ลูกตาย หรือว่าลูกตายในท้องและเป็นเหตุให้แม่ตายในลักษณะนี้เรียกว่า “ตายทั้งกลม”

ผู้เขียนได้นำข้อความเกี่ยวกับบุตร 3 ประเภทจากหนังสือหิโตปเทศมาเขียนเป็นบทนำเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีอันต้องตายไปเนื่องจากไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช.และในขณะเดียวกัน คณะกรรมการยกร่าง ต้องพักจากหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน ในทำนองเดียวกันกับแม่ที่ตายพร้อมลูก เป็นเหตุให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มวลชนของ กปปส.ซึ่งได้ต่อสู้และมีการเรียกร้องการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำประเทศไปสู่การปฏิรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปการเมือง และการปกครอง หลังจากที่กฎหมายแม่บทฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้ ทั้งยังหวังเป็นอย่างมากว่าประชาชนโดยรวมของประเทศจะได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา

ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอันต้องตกไป จึงทำให้เกิดความรู้สึกเสียดาย และเสียดายยิ่งขึ้นเมื่อคณะกรรมการยกร่าง มีอันต้องพ้นหน้าที่ไปด้วย ในทำนองเดียวกันกับญาติและเพื่อนบ้านของแม่ที่ตายไปพร้อมกับลูก ซึ่งรอการเกิดมาของเด็กด้วยหวังว่าจะมีร่างกายแข็งแรง รูปร่างหน้าตาดี และโตขึ้นจะทำประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมโดยรวมในฐานะลูกที่ดีของพ่อแม่ ญาติที่ดีของพี่น้อง และพลเมืองที่ดีของประเทศ

ดังนั้น เมื่อเด็กตายไปก็เสียใจ และเสียใจยิ่งขึ้นเมื่อแม่ของเด็กตายด้วย

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งรอคอยการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยหวังว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้แล้วจะช่วยแก้ไข และป้องกันปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองอันเป็นเหตุให้ประเทศไทยวุ่นวาย ไร้ความสงบ และพบกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากการทุจริต คอร์รัปชันของนักการเมือง และประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่นักการเมืองโกง ดังจะเห็นได้ชัดเจนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นที่คาดหวังของประชาชนผู้อยากเห็นการเมืองไทยในอนาคตมีความโปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วมในการสอบพฤติกรรมของข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองได้มากยิ่งขึ้น

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นที่ถูกใจของนักการเมือง และนักวิชาการผู้ยึดติดรูปแบบประชาธิปไตยตามแนวทางของโลกตะวันตก จะเห็นได้จากเสียงคัดค้านที่ปรากฏทางสื่อแขนงต่างๆ ก่อนที่ สปช.จะลงมติไม่เห็นชอบเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา

จากการที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช.ได้มีการวิเคราะห์วิจารณ์ถึงสาเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านต่างๆ นานาซึ่งพอจะสรุปเป็นประเด็นดังนี้

1. กลัวว่าจะไม่ผ่านการทำประชามติ และเป็นเหตุให้รัฐสูญเสียงบประมาณ 3-4 พันล้านบาทไม่คุ้มค่าแก่การเสี่ยง ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีนักการเมืองจากพรรคใหญ่คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงนักวิชาการบางส่วนซึ่งยึดติดรูปแบบประชาธิปไตยจากโลกตะวันตกแสดงความคิดเห็นคัดค้านในเนื้อหาบางส่วนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น เปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกฯ และการจัดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป และการปรองดองแห่งชาติ เป็นต้น

2. ต้องการให้รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำงานเพื่อแก้ปัญหาอันเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้ง เช่น ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน และปัญหาการก่อความไม่สงบอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง รวมไปถึงการปฏิรูปประเทศก่อนแล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง เป็นต้น

ไม่ว่า สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลใด การเลือกตั้งก็จะต้องยืดออกไป และการร่างรัฐธรรมนูญก็จะต้องดำเนินการใหม่เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ประชาชนคาดหวังว่าจะทำให้การเมืองการปกครองประเทศไทยดีขึ้น

ร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปมีข้อดี และข้อเสียอย่างไร ถ้ามองในแง่ของประชาชน

เพื่อจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนได้อ่านและทำความเข้าใจแง่รัฐธรรมนูญฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแล้วพอจะอนุมานได้ว่า เนื้อหาของร่างทั้งฉบับมีส่วนที่ประชาชนโดยทั่วไปได้รับประโยชน์มากกว่าฉบับก่อนๆ และที่สำคัญคือการปฏิรูปได้กำหนดเป็นรูปแบบ เพื่อสนองความต้องการของประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ

ส่วนข้อเสียก็คือ มีเนื้อหาบางประเด็นขัดต่อหลักการแห่งประชาธิปไตย เมื่อเทียบกับโลกตะวันตก เช่น ให้ผู้ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งเป็นนายกฯ ได้ และการจัดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูป และการปรองดองมาทำหน้าที่ควบคู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นต้น

แต่ถ้ามองเมืองไทยในสายตาของคนไทยที่ผ่านการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่า ปัญหาที่นักการเมืองไม่เห็นด้วยทั้งสองประเด็นดังกล่าวข้างต้นก็คือ มาตรการแก้ไขและป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงถือได้ว่าร่างฯ ฉบับนี้คือร่างฯ ที่มุ่งแก้ปัญหาการเมืองในอดีต แต่เป็นการป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น