xs
xsm
sm
md
lg

ไม่แก้ปมประชามติ เจตนาคว่ำ-ใช้ ม.44 กระชับอำนาจก่อน “ประยุทธ์” ลงหลังเสือ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

อาจจะเรียกว่าเป็นความสงสัยแบบภาคต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้หลังคำพูดของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่แย้มออกมาให้เห็นชัดแล้วว่าจะไม่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ที่บังคับใช้ในเวลานี้ในประเด็น “การทำประชามติ” เพื่อรองรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามโรดแมปที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า

โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกใบ้เอาไว้ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านการลงประชามติก็อาจจะนำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่กำลังใช้อยู่ในเวลานี้มาบังคับใช้ต่อไป อย่างไรก็ดี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และหนึ่งในทีมงานคนสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่วชาติ (คสช.) จะออกมาพูดแบบทีเล่นทีจริงในเวลาต่อมาในทำนองว่า นายมีชัยพูดประชดประชันพร้อมทั้งอธิบายองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวว่า “ยังไม่ครบถ้วน” เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง หากนำมาใช้จริงก็ต้องมีการบรรจุมาตราเพิ่มอีกนับร้อยมาตรา ซึ่งรวมแล้วก็ไม่น่าจะน้อยกว่าร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่กำลังยกร่างกันอยู่จำนวน 261 มาตรา (ก่อนร่างแรกวันที่ 29 มกราคม)

ขณะเดียวกัน ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ออกมาสำทับว่าไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะผ่านการลงประชามติหรือไม่ก็ตาม การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นตามกำหนดเดิม คือภายในเดือนกรกฎาคม 2560 แน่นอน ...นั่นหมายความว่า เส้นทางตามโรดแมปยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้น นาทีนี้สิ่งที่สรุปได้ก็คือกำหนดการเลือกตั้งจะเดินต่อ รวมทั้งต่อเนื่องไปถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าเป้าหมายจะชัดแต่ในรายละเอียดตามรายทางก่อนที่จะเดินไปถึงตรงนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะในที่สุดมันก็มีผลต่อการชี้อนาคตอย่างยิ่งยวดไม่แพ้กัน

วกมาที่ข้อสงสัยเรื่องที่ส่าหากไม่เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในประเด็นการทำประชามติแล้วจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยกร่างโดยทีมงานภายใต้การนำของ มีชัย ฤชุพันธุ์ เสี่ยงต่อการไม่ผ่านก็เป็นไปได้สูงทีเดียว

เพราะที่ผ่านมามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกเสียงที่กำหนดเอาไว้ว่า “เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิ” เป็น “เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ” หรือไม่ เพราะความหมายของเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิกับ “เสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ” ย่อมต่างกันอย่างสิ้นเชิง และหากพิจารณาตามสถิติการลงประชามติหลายครั้งที่ผ่านมาโดยเฉพาะหากเปรียบเทียบกับการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่อำนวยการยกร่างโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ถูกฉีกไปแล้วก็กำหนดให้การลงประชามติต้อง “มีเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ”

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากความหมายมันก็อดคิดไม่ได้ว่า นี่คือ “เจตนาแอบแฝง” ที่ไม่ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการลงประชามติก็เป็นได้ ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเมื่อได้เห็นความเคลื่อนไหวของพวกพรรคการเมืองทั้งหลายที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโดยเฉพาะพวกพรรคเพื่อไทยที่อ้างว่าเป็นร่างไม่เป็นเป็นประชาธิปไตยไม่ยึดโยงกับประชาชน สารพัดที่ยกเหตุผลมาอ้าง แม้ว่าสาเหตุแท้จริงแล้วเป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีการกำหนดบทลงโทษและควบคุมนักการเมืองอย่างเข้มงวด มีทั้งโทษติดคุกและห้ามลงสนามตลอดชีวิต เรียกว่าถ้านำมาใช้ได้พวกเขาจะอ้วก

เมื่อไม่แก้ไขเรื่องการลงประชามติ ประกอบกับพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เริ่มก่อหวอดเคลื่อนไหวคว่ำร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ไก่โห่แบบนี้ มองกันแบบ “จับผิด” ว่านี่คือแผนที่ซ่อนมาแบบลึกซึ้งเพื่อเป้าหมายให้ “ตกไป” มันก็มองแบบนั้นได้ และถือว่า “เนียน” ที่สุด เพราะหากจะโทษก็ต้องโทษพวกพรรคการเมืองพวกพรรคเพื่อไทยที่มีเจตนาสร้างความปั่นป่วน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่เกี่ยว

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณากันแบบต่อเนื่องหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ และ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศแล้วว่าการเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นตามกำหนดเดิม คือ เดือนกรกฎาคม 2560 ก็จริงอยู่ แต่ตามกฎหมายที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 กำหนดให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถใช้มาตรา 44 ปัดฝุ่นนำรัฐธรรมนูญฉบับใด หรือนำมาปรับปรุงแก้ไขใหม่แล้วประกาศใช้ได้เลย ซึ่งหากเป็นเช่นจริงก็ถือว่า “มีความชอบธรรม” เนื่องจากอ้างได้ว่าไม่มีทางเลี่ยง

แต่อีกด้านหนึ่งมันก็มองได้เหมือนกันว่านี่คือ “แผนลงจากหลังเสือ” ได้อย่างปลอดภัยและยังสร้างหลักประกันในอนาคตได้อย่างมั่นคงทีเดียว เพราะการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการปรับปรุงรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้นั้นมันทำได้ครอบจักรวาล โดยเฉพาะการกำหนดเอาไว้ใน “บทเฉพาะกาล” และแม้ว่าในประเด็น “นิรโทษกรรมให้ตัวเอง” ที่เป็นธรรมเนียมของการรัฐประหารนั้น มีชัย ฤชุพันธุ์ กุนซือได้ตอบคำถามดักคอเสียงป่วนของพวกพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ที่ท้าทายว่าแน่จริงก็อย่านิรโทษกรรมให้ตัวเองว่า “ไม่มีความจำเป็นแล้ว” เพราะได้กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว ซึ่งเมื่อกลับไปเปิดดูเนื้อหาก็พบว่าเป็นจริงในมาตรา 47-48 ที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจน

ดังนั้น หากทุกอย่างเดินไปตามเส้นทางซับซ้อนซ่อนเงื่อนแบบนี้จริงมันก็ทำให้ปลายปีหน้าการ “ลงจากหลังเสือ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้อย่างปลอดภัย และยังสามารถสร้างหลักประกันจากรัฐบาลใหม่ได้ดังใจมากขึ้น อย่างไรก็ดี นาทีต้องพิจารณากันที่ตอนก่อน นั่นคือต้องรอดูว่าจะมีการแก้ไข “ปมประชามติ” ก่อนหรือไม่ หากไม่แก้มันก็เข้าเค้า!!
กำลังโหลดความคิดเห็น