xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) : เรื่อง การปฏิรูปการเมืองของไทย ตอน (2.5) บุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ พรรคการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

โดย...วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตแก้ไขชื่อเรื่อง การปฏิรูปการเมืองไทย ตอน การตรวจสอบและทดสอบบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ มาเป็น การปฏิรูปการเมือง ตอน การคัดกรองบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ เพื่อให้สั้นและมีใจความครอบคลุมในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนและตรวจสอบบุคคลที่มีความต้องการที่จะปฏิบัติงานตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานของรัฐก่อนที่จะเข้าสู่ระบบการเลือกตั้ง หรือระบบการสรรหาและการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ต่อไป

เรื่องต่อมาผู้เขียนต้องขออภัยที่ห่างหายไปหลายวัน เนื่องจากมีภารกิจรับเชิญไปบรรยายที่ต่างจังหวัดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (ธ.ค. 2557) แต่ก็ได้ฝากบทความ “แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (12.1)” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนามสกุลมาให้ท่านได้อ่านเพราะมีผู้อ่านบางท่านได้ตั้งข้อสงสัยมา อย่างไรก็ดีในช่วงก่อนไปบรรยายที่ต่างจังหวัดคือ ประมาณวันที่ 20 พ.ย. 2557 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองของไทยต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่อาคารรัฐสภา 3 ซึ่งผู้เขียนจะขอนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโดยสรุปมาให้ผู้อ่าน นิสิตนักศึกษา และท่านที่สนใจ ได้รับทราบในบทความนี้

2. เรื่อง การเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุป

ได้มีผู้อ่านหลายท่านถามมาว่า ไทยควรจะมีระบบพรรคการเมืองเป็นเช่นไร สภาฯ และรัฐบาลควรมีรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะกับประเทศไทย บางท่านไม่ได้ถามมาแต่ได้ให้ความเห็นมาว่า ประเทศไทยไม่ควรอนุญาตให้มีพรรคการเมืองเข้ามาแสวงหาอำนาจทางการเมือง แต่ควรให้มีเฉพาะสภาและรัฐบาลก็เพียงพอต่อการบริหารประเทศแล้ว (ก็เป็นความคิดเห็นที่แปลกดี-ผู้เขียน)

การที่ผู้เขียนนำความคิดเห็นของผู้อ่านบางท่านมาเป็นตัวอย่างก็เพื่อจะชี้ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้ทราบว่า ความคิดเห็นของคนเป็นเรื่องที่ไม่มีขอบเขตจำกัด เพราะฉะนั้นจึงควรเปิดกว้างให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น (ที่ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น) กันอย่างเต็มที่ แม้อาจมีบางความคิดเห็นที่ออกนอกแนวทางที่เคยปฏิบัติมาในอดีตหรืออาจออกนอกกรอบไปมากกว่าที่เคยคิดกันมา เราก็ควรรับฟังและไตร่ตรองให้ละเอียดรอบคอบเสียก่อนที่จะกล่าวหาโจมตีกัน เพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าคิดกล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนอื่นๆ หรือแตกต่างจากความคิดความเชื่อเดิมๆ ที่เคยมีมาในอดีต

การที่มนุษย์ได้คิดค้นสร้างเครื่องบินหรือส่งยานอวกาศไปลงที่ดวงจันทร์หรือแม้กระทั่งคิดค้นวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ จนเป็นผลสำเร็จ ก็เพราะว่า มนุษย์ไม่เพียงไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ นานาเท่านั้น แต่มนุษย์ยังมีความต้องการที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เหล่านั้นอีกด้วย และความต้องการที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ของมนุษย์นี้เองที่ทำให้มนุษย์ได้ใช้สมอง และความรู้ที่มีอยู่เดิมผสมรวมกับความรู้ใหม่คิดหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ให้ได้นั่นเอง และความคิดใหม่ๆ หรือความคิดที่ออกนอกกรอบหรือแตกต่างจากแนวความคิดเดิมนี้เองที่ทำให้โลกของเรามีการพัฒนาจนเจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมเราจึงไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิมหรือแตกต่างจากคนส่วนใหญ่บ้างเล่า ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นด้วยกับ อ.สมบัติ แต่การรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายจะทำให้เรามีทางเลือกมากมาย เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้วก็จะสามารถเลือกแนวทางที่มีความเป็นไปได้และมีความเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยของเรา เพราะการผูกขาดความคิดเห็นของผู้บริหารอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยถดถอยลงในทุกด้านจนเกือบจะรั้งท้ายของอาเซียนอยู่แล้ว(ดูดัชนีชี้วัดการพัฒนามนุษย์ในภาพที่ 1 (ตารางที่ 2): ไทยอยู่ในอันดับที่ 89 ของโลก และอันดับที่ 4 ของอาเซียน ซึ่งได้บ่งชี้ว่า การพัฒนามนุษย์ของไทยยังอยู่ในอันดับที่ต่ำมาก - จากบทความ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) ตอน การตรวจสอบและทดสอบผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ)

                   ภาพที่ 1 Human Development Index(2014)

*Adapted by W. Nathasiri (จาก United Nations Development Programme,Table 1: Human Development Index and its components, 2014. จาก แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย 2 ตอน การตรวจสอบและทดสอบผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ ใน ASTVผู้จัดการ)

3. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการคัดกรองบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ

                     ภาพที่ 2 คุณลักษณะของบุคคลที่ต้องการ

3.1 รื่องการตรวจสอบและคัดกรองบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ

ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้นำเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยเปรียบเทียบกับกรณีการตกปลาให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ คือ ถ้าต้องการตกปลาให้ได้ขนาดที่ต้องการทุกครั้ง เราก็ควรคัดเลือกปลาให้ได้ขนาดที่ใกล้เคียงกัน แล้วนำไปรวมกันอยู่ในบ่อใดบ่อหนึ่งเป็นการเฉพาะ ฉะนั้นเมื่อเราตกปลาครั้งใด เราก็จะได้ปลาในขนาดที่ใกล้เคียงตรงตามที่ต้องการทุกครั้ง เช่นเดียวกันกับการคัดกรองบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ ถ้าเรานำหลักความรู้ความสามารถและหลักความดีมีคุณธรรมมาใช้ในการคัดกรองบุคคลดังแสดงในภาพที่ 2 ก็จะทำให้สามารถคัดกรองบุคคลออกได้เป็น 9 กลุ่ม ดังนี้

(1) แถวที่ 1 มี 3 กลุ่ม (ตามแนวนอน จากซ้ายไปขวา)คือ

- ผู้ที่มีคุณธรรมความดีอยู่ในระดับสูง แต่มีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับต่ำ

- ผู้ที่มีคุณธรรมความดีอยู่ในระดับสูง มีความรู้ความสามารถในระดับปานกลาง (II)

- ผู้ที่มีคุณธรรมความดี และความรู้ความสามารถอยู่ในระดับสูง(I)

(2) แถวที่ 2 มี 3 กลุ่ม คือ

- ผู้ที่มีคุณธรรมความดีอยู่ในระดับปานกลาง แต่มีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับต่ำ

- ผู้ที่มีคุณธรรมความดี และความรู้ความสามารถอยู่ในระดับปานกลาง (IV)

- ผู้ที่มีคุณธรรมความดีในระดับปานกลาง แต่มีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับสูง(III)

(3) แถวที่ 1 มี 3 กลุ่ม คือ

- ผู้ที่มีคุณธรรมความดี และมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับต่ำ

- ผู้ที่มีคุณธรรมความดีอยู่ในระดับต่ำ แต่มีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับปานกลาง

- ผู้ที่มีคุณธรรมความดีอยู่ในระดับต่ำ แต่ความรู้ความสามารถอยู่ในระดับสูง

จากภาพที่ 2 กลุ่มบุคคลที่ควรได้รับการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเพื่อปฏิบัติงานให้รัฐต่อไป ควรเป็นบุคคลที่อยู่ในกลุ่มที่ I - IV ซึ่งมีคุณธรรมความดี และมีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับปานกลางขึ้นไป และเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาปฏิบัติงานให้รัฐ ผู้เขียนจึงได้เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบประวัติและจริยธรรมของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงขึ้นมา (แสดงในภาพที่ 3) เพื่อให้มีหน้าที่ในการตรวจสอบ และเก็บรักษาประวัติและผลงานของนักการเมืองทุกคน ซึ่งควรรวมทั้งเครือญาติและบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

                  ภาพที่ 3 ขั้นตอนการคัดกรองบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ

หลังจากมีการตรวจสอบประวัติต่างๆ ของบุคคลที่ลงทะเบียนสมัครเป็นผู้ปฏิบัติงานให้รัฐแล้ว ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบต่อไป และเมื่อผ่านการทดสอบในระดับต่างๆ แล้ว ผู้ผ่านการทดสอบก็จะได้รับวุฒิบัตรหรือใบรับรองคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ เพื่อแสดงให้สาธารณชนได้รับรู้ว่า บุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด จากนั้นจึงจะสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือดำรงตำแหน่งต่างๆในทางการเมืองและในระบบราชการได้ ดูภาพที่ 3 ประกอบ

3.2 เรื่องการพัฒนาบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ

ในเรื่องนี้ ผู้เขียนได้เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักฝึกอบรมขึ้น และให้จัดหลักสูตรฝึกอบรมต่างๆ ให้แก่บุคคลที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว เพื่อให้บุคคลที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ให้แก่รัฐ ได้มีความรู้ในด้านต่างๆ ที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อการปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และสังคมวิทยา เศรษฐกิจ กฎหมาย การบริหารและการปกครอง และภาษาต่างประเทศ เป็นต้น

หลังจากผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้รัฐแล้ว ก็จะต้องมีการทดสอบบุคคลต่างๆ ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรต่างๆ ดังกล่าว บุคคลใดที่ผ่านการทดสอบต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานแล้วจะได้รับใบประกอบวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ (เช่นเดียวกับใบประกอบโรคศิลป์ของแพทย์ หรือใบรับรองการประกอบวิชาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นต้น) หลังจากนั้นจึงจะลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือรับการสรรหา หรือดำรงตำแหน่งในระดับสูงทางการเมือง และในระบบราชการได้

4. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ พรรคการเมือง

4.1 ปัญหาที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองไทยที่ผ่านมาโดยสรุป

ขอทบทวนความคิดเห็นบางตอนที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองจากบทความ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) เรื่องการปฏิรูปการเมืองไทย(ตอนแรกหรือ 2.1 และตอนต่อมาหรือ 2.2) ดังนี้

ระบบการเมืองไทยได้พัฒนาจนกลายเป็นระบบตลาดสินค้าการเมือง (Politics Market) ที่มีการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญ คือ อำนาจทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีผลประโยชน์เป็นส่วนประกอบที่ติดมากับอำนาจ ถ้าบุคคลใดได้กรรมสิทธิ์ครอบครองอำนาจทางการเมือง ก็จะได้ผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจนั้นมาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้นักการเมืองของไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2545 - 2557) จึงได้พัฒนาตนจนกลายเป็นนักธุรกิจการเมืองที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการวิ่งเต้นและหาผลประโยชน์โดยวิธีการต่างๆ (คือ เรียนรู้วิธีการวิ่งเต้นและหาผลประโยชน์โดยอาศัยความสนิทสนมใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ หรืออาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเท่าที่จะทำได้ เป็นต้น)

ส่วนพรรคการเมืองซึ่งเปรียบเสมือนผู้ซื้อ (คะแนนเสียงเลือกตั้ง) รายใหญ่ในตลาดสินค้าการเมืองไทยก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นรูปลักษณะต่างๆ เช่น พรรคครอบครัว (ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกพรรคตามที่ผู้มีอำนาจในครอบครัวเห็นสมควร), พรรคส่วนตัว (มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของกิจการและเป็นผู้ตกลงใจ), พรรคสำรอง (เป็นพรรคสำรองของพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งสำรองเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน) และพรรคเฉพาะกิจหรือพรรคหากิน (ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อนำไปขายหรือเซ้งให้กับบุคคลที่ต้องการในอนาคต หรือจัดตั้งขึ้นเพื่อเลี้ยงชีพตนเองและพรรคพวกเพราะหวังได้รับเงินสนับสนุนจาก ก.ก.ต.และจากผู้ที่ต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้ง) เป็นต้น

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศไทยจะมีพรรคการเมืองมากที่สุดในโลก โดยมีจำนวนมากถึง 64 พรรค (จาก www.oknation.net- ธันวาคม 2556 ซึ่งอ้างข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ณ วันที่ 19 ก.ย. 2556) และในปี 2557 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 73 พรรค (จาก Wikipedia, December 2014)

นอกจากนี้ยังมีการนำแนวความคิดหรือหลักการต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศอื่นมาใช้กับประเทศไทย ซึ่งควรได้รับการพิจารณาและกลั่นกรองอย่างรอบคอบ เพราะหลักการบางอย่างอาจใช้ได้ในบางประเทศ แต่อาจไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับประเทศไทยของเรา ตัวอย่างเช่น สมาชิกสภาฯ ที่มาจากการเลือกตั้งมีสถานะเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆ และระบบการสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกที่อาจมีความรู้สึกชอบพอกันเป็นส่วนตัว หรือเคยศึกษาในสถาบันเดียวกันมา หรือเกี่ยวพันเป็นเครือญาติเข้ามามีอิทธิพลในการสรรหา จนทำให้เกิดความลำเอียงไม่ยุติธรรม เป็นต้น

ดังนั้น แม้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยจะมีอายุยืนยาวมาถึง 82 ปี แต่ก็ยังมีช่องโหว่ต่างๆ จนไม่สามารถนำมาซึ่งความยุติธรรม ความโปร่งใส และความมีประสิทธิภาพทางการเมืองได้อย่างที่มุ่งหวัง (ซึ่งมักจะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ) ประกอบกับพรรคการเมืองของไทยส่วนใหญ่ยังมีรูปลักษณะเป็นพรรคส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้นหรือของกลุ่มคนไม่กี่คน หรือเป็นพรรคของครอบครัวมากกว่าที่จะมีลักษณะเป็นพรรคของมหาชน จึงมีผลทำให้ ระบบการเมืองของไทยไม่เพียงได้กลายเป็นเครื่องมือให้กลุ่มธุรกิจการเมืองได้เข้ามากอบโกยแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการและงบประมาณของรัฐเท่านั้น แต่ยังได้กลายเป็นปัจจัยที่สร้างความแตกแยกระหว่างประชาชน ซึ่งได้บั่นทอนทั้งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศไปพร้อมๆ กันอีกด้วย ดังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2545 จนถึงก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557)

4.1 ข้อเสนอแนะเรื่อง พรรคการเมือง ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

จากปัญหาต่างๆ ที่กล่าวในข้อ 4.1 ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็น 3 แนวทาง คือ

(1) แนวทางแรกเสนอให้มีการจัดตั้งพรรคการตามรูปแบบเดิมเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต (เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน (ม.ค. 2558)

(2) แนวทางที่สองคือ กำหนดให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองแบบผสม คือ เปิดเสรีให้เอกชนร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างที่เคยเป็นมา และในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้รัฐจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจเปรียบได้กับการจัดตั้งโรงเรียนราษฎร์กับการจัดตั้งโรงเรียนของรัฐนั่นเอง โดยจะต้องมีการออกกฎหมายมารองรับการจัดตั้งพรรคการเมืองของรัฐด้วย

(3) แนวทางที่สามคือ ห้ามไม่ให้เอกชนคนใดหรือประชาชนกลุ่มใดๆ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเองในประเทศไทย ให้เป็นหน้าที่เฉพาะรัฐเท่านั้นที่จะสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นได้ในประเทศไทย โดยมีเหตุหลสำคัญคือ ไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของพรรคหรือผูกขาดอำนาจในพรรคไว้แต่เพียงผู้เดียวหรือกลุ่มเดียว และให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ไม่เกิน 5 พรรคเท่านั้น โดยจะต้องออกกฎหมายจัดตั้งพรรคการเมืองดังกล่าวพร้อมๆ กับการออกกฎหมายระเบียบข้าราชการการเมืองไปในคราวเดียวกัน

ความคิดเห็นของผู้เขียนในเรื่อง พรรคการเมือง

ในความคิดเห็นส่วนตัว ผู้เขียนเห็นด้วยกับแนวทางที่ 3 ที่กำหนดให้การจัดตั้งพรรคการเมืองกระทำได้โดยรัฐเท่านั้น ห้ามเอกชนหรือองค์กรใดๆ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเองในประเทศไทย เพราะมิฉะนั้นอาจมีคนต่างด้าวที่ได้สัญชาติไทยร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง แล้วทุ่มซื้อเสียงจนได้เสียงข้างมากสามารถจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศไทยได้ (เท่ากับซื้อประเทศไทยได้นั่นเอง) และควรกำหนดให้มีพรรคการเมืองจำนวนไม่เกิน 5 พรรคเท่านั้น

แนวความคิดนี้มาจากความมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของพรรคการเมืองที่เอกชนจัดตั้งขึ้น (เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 - ปัจจุบัน ปัญหาการใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ต่างๆ หรือการใช้อำนาจเพื่อเข้ายึดครองที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของประเทศชาติ และปัญหาการแสวงหาอำนาจเพื่อคอร์รัปชัน เป็นต้น) และเพื่อขจัดความเป็นเจ้าของพรรคหรือนายทุนพรรคการเมืองให้หมดสิ้นไปให้ได้ เนื่องจากพรรคการเมืองและระบบการเมืองของไทยในอดีตและในปัจจุบันยังคงได้รับอิทธิพลจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและเสรีนิยม (ที่นำเข้ามาจากหลายประเทศในยุโรปและจากประเทศสหรัฐอเมริกา Imported from European countries and USA.) ซึ่งได้ทำให้ระบบการเมืองและพรรคการเมืองของไทยพัฒนาไปสู่ระบบตลาดสินค้าการเมือง และพรรคการเมืองได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของเจ้าของพรรคและนายทุนของพรรค ดังเช่น พรรคสุพรรณบุรี พรรคชลบุรี และพรรคจันทร์ส่อง เป็นต้น

ด้วยอิทธิพลของระบบทุนนิยมและเสรีนิยมดังกล่าว ได้ทำให้การจัดตั้งพรรคการเมืองของไทยเปรียบเสมือนการจัดตั้งบริษัทจำกัดเพื่อดำเนินธุรกิจการเมืองให้เป็นไปตามความต้องการหรือความมุ่งหมายของเจ้าของหรือของผู้จัดตั้งหรือของนายทุนพรรคการเมืองเท่านั้น เพราะเมื่อมีการลงทุนจัดตั้งพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้นมา ผู้ลงทุนหรือกลุ่มผู้ลงทุนจัดตั้งพรรคก็ต้องหวังสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการตอบแทนให้คุ้มกับที่ได้ลงทุนไปแล้ว ดังนั้นพรรคการเมืองส่วนใหญ่ของไทยในอดีตจนถึงในปัจจุบันจึงมีลักษณะคล้ายกับบริษัทการเมืองจำกัด ที่อยู่ในตลาดสินค้าการเมือง (ตลาดที่มีการซื้อขายสินค้าชนิดเดียวเท่านั้น คือ สินค้าการเมือง) โดยมีเจ้าของเพียงคนเดียวหรือครอบครัวเดียวหรือกลุ่มเดียวที่ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทการเมืองต่างๆ เหล่านี้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่พบว่า ไม่เพียงพรรคการเมืองเหล่านี้ไม่ได้เป็นพรรคของมวลชนหรือมาจากมวลชนเท่านั้น แต่ยังเป็นพรรคที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนกลุ่มต่างๆ อีกด้วย เพราะจะมุ่งสะท้อนความต้องการของกลุ่มผู้นำพรรคหรือเจ้าของหรือนายทุนของพรรคเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมีความคิดเห็นว่า ควรยุบพรรคการเมืองที่มีอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด แล้วให้รัฐจัดตั้งพรรคการเมืองของรัฐขึ้นมาใหม่ไม่เกิน 5 พรรค และเปิดโอกาสให้ประชาชนสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคต่างๆ แล้วเลือกผู้บริหารต่างๆ ของพรรคขึ้นมาจะเหมาะสมกว่า (ในปัจจุบัน ณ วันที่ 22 ม.ค. 2558 พรรคการเมืองต่างๆ ยังคงอยู่ในสถานภาพเดิม และไม่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เพราะ ก.ก.ต.ได้ขอให้พรรคการเมืองต่างๆ หยุดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไว้ก่อน)

5. ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร

5.1 ที่มาของฝ่ายนิติบัญญัติ

ผู้เขียนได้เสนอแนวความคิดว่า ฝ่ายนิติบัญญัติควรประกอบด้วย 2 สภาฯ คือ สภาประชาชน (เสนอให้เปลี่ยนชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรเดิม เพื่อให้สำนึกว่ายังเป็นประชาชนเช่นคนอื่นๆ หมือนกัน) และวุฒิสภา โดยได้เสนอแนวทางการเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาทั้งสองโดยสรุป ดังนี้

(1) ให้สมาชิกสภาประชาชน (เปลี่ยนชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรเดิม) มาจากการเลือกตั้งเขตพื้นที่ย่อยภายในจังหวัด โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ได้ ส่วนสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งจากเขตพื้นที่จังหวัด และกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ

(2) ผู้สมัครทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสอบและทดสอบของสำนักทะเบียนประวัติและจริยธรรมฯ จนได้รับใบประกอบวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานให้รัฐจึงจะสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และให้ยกเลิกวิธีการสรรหาบุคคลเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกเช่นที่เคยปฏิบัติมาในอดีตทั้งหมด ดังแสดงในภาพที่ 4

                     ภาพที่ 4 ที่มาของฝ่ายนิติบัญญัติ : สภาประชาชนและวุฒิสภา

5.2 ที่มาของนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร

ผู้เขียนได้เสนอแนวความคิดเรื่องที่มาของหัวหน้าฝ่ายบริหารหรือนายกรัฐมนตรี ดังนี้

(1) ให้นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารมาจากผู้สมัครที่พรรคการเมืองเสนอชื่อ หรือผู้สมัครอิสระที่เสนอชื่อได้ด้วยตนเอง (ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง) โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาประชาชน และสมาชิกวุฒิสภา แต่ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี (หัวหน้าฝ่ายบริหาร) จะต้องผ่านการตรวจสอบและทดสอบต่างๆจากสำนักทะเบียนประวัติและจริยธรรมฯ จนได้รับใบประกอบวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานให้รัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ และจะต้องได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภาประชาชนและวุฒิสภา ดังแสดงในภาพที่ 5

ภาพที่ 5 ที่มาของนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร แนวทางที่ 1

(2) ให้นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารมาจากผู้สมัครที่พรรคการเมืองเสนอชื่อ หรือผู้สมัครอิสระที่เสนอชื่อได้ด้วยตนเอง (ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง) โดยจะต้องผ่านการตรวจสอบและทดสอบต่างๆ จากสำนักทะเบียนประวัติและจริยธรรมฯ จนได้รับใบประกอบวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานให้รัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผ่านการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาประชาชน และสมาชิกวุฒิสภาจึงจะมีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ดังแสดงในภาพที่ 6

                ภาพที่ 6 ที่มาของนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร แนวทางที่ 2

(3) การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรก ให้สภาประชาชนและวุฒิสภาพิจารณาและตรวจสอบคุณสมบัติที่สำคัญต่างๆ ของผู้สมัคร เมื่อผู้สมัครผ่านการพิจารณาในด้านคุณสมบัติแล้ว ให้ผู้สมัครทุกคนแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมร่วมของทั้งสองสภา หลังจากนั้นให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี

การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีรอบสอง เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนในรอบแรกแล้วให้หยุดพักนาน 5 วัน จากนั้นในวันที่ 6 ให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนมากเป็นอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 มาแข่งขันกัน โดยให้แสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมร่วมของทั้งสองสภาฯ และมีการถ่ายทอดโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ จากนั้นให้หยุดพักในวันที่ 7 อีกหนึ่งวัน และให้สมาชิกสภาฯ ทั้งสองสภาฯ มาประชุมร่วมกันและลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีรอบสุดท้ายในวันที่ 8 ผู้สมัครแข่งขันที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในรอบที่สองจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ความคิดเห็นของผู้เขียนในเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้าฝ่ายบริหาร ในความคิดเห็นส่วนตัว ผู้เขียนมีความเห็นว่า การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีในแนวทางตามข้อ 5.2 (1) มีความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมากกว่าแนวทางตามข้อ 5.2(2) เพราะเป็นแนวทางที่เปิดกว้างให้บุคคลทั้งที่สังกัดพรรคการเมืองและไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง (อิสระ) ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมในการแข่งขันเพื่อรับคัดเลือกมากขึ้น และจะทำให้สมาชิกสภาทั้งสองได้มีโอกาสในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่ดีมีความรู้ความสามารถได้เหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ถ้าจะกล่าวเป็นภาษาพูดก็คือ มีตัวเลือกเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

6. บทสรุป

(1) ผู้เขียนขอแก้ไขอายุขั้นต่ำของสมาชิกสภาประชาชนจากเดิม 30 ปี เป็น 27 ปี และขอแก้ไขอายุขั้นต่ำของสมาชิกวุฒิสภาจากเดิม 40 ปี เป็น 35 ปี (จากที่เคยนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557)

(2) ความคิดเห็นต่างๆ ที่นำเสนอคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นเพียงหลักการกว้างๆ เพื่อให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้นำไปพิจารณาปรับแก้และลงรายละเอียดต่อไป

(3) มีคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ท่านหนึ่งถามผู้เขียนว่า ถ้าใช้รูปแบบสภาฯ และการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีตามที่ผู้เขียนเสนอแล้ว จะทำอย่างไรในกรณีที่นายกรัฐมนตรีกระทำความผิด ผู้เขียนก็ตอบไปว่า อาจนำกระบวนการพิจารณาลงโทษ (Impeachment) ของสหรัฐอเมริกามาปรับใช้ก็ได้ นั่นหมายความว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีได้รับการคัดเลือกจากทั้งสองสภาฯ แล้ว ก็น่าจะเป็นการสมควรที่จะให้สภาฯ ทั้งสองได้พิจารณา สอบสวน และลงโทษนายกรัฐมนตรีได้ นั่นก็คือ เมื่อมีอำนาจคัดเลือกเข้ามาก็ควรให้มีอำนาจในการถอดถอนด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องการเสนอกฎหมายใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้เป็นการเสนอโดยรัฐบาล เมื่อผ่านการพิจารณาของสภาฯ แล้วก็ควรนำเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและควรให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายนั้นก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าได้ด้วย

(4) สำหรับเรื่องระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบสัดส่วน ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าลักษณะและที่มาของพรรคการเมืองยังเป็นเช่นที่กล่าวมาในข้อ 4 การเลือกตั้งสมาชิกสภาโดยใช้ระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบสัดส่วนแบบใดก็ตาม อาจเปิดช่องว่างให้หัวหน้าพรรคหรือกลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคการเมือง (ผู้จัดตั้งพรรค) ใช้โอกาสนี้แสวงหาประโยชน์จากผู้ที่ต้องการสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบสัดส่วน ตรงกันข้าม ถ้าพรรคการเมืองมาจากการจัดตั้งโดยรัฐและไม่มีบุคคลใดเป็นเจ้าของแล้ว การนำระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบสัดส่วนมาใช้ก็อาจให้ผลลัพธ์ได้เช่นเดียวกับประเทศเยอรมนีที่ใช้ระบบนี้ โดยสรุปก็คือ ถ้าองค์ประกอบและที่มาของพรรคการเมืองของไทยยังเป็นเช่นที่กล่าวในข้อ 4 เราก็ไม่ควรนำระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบสัดส่วนมาใช้นั่นเอง

ท้ายบทความ

ผู้เขียนยังมีข้อคิดเห็นในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองอีกบางประการซึ่งจะขอนำเสนอในโอกาสต่อไป และสำหรับบทความนี้จะถูกส่งไปให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับทราบและพิจารณาด้วย จึงหวังว่า ผู้อ่านและผู้ที่สนใจทุกท่านคงมีคำถาม หรือความคิดเห็นต่างๆ ต่อบทความนี้ดังเช่นที่เคยเป็นมา ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น