“หลวงปู่พุทธะอิสระ” ชี้นักการเมืองขี้ฉ้อต้นตอปัญหาชาติ แนะ “ประยุทธ์” แก้ตรงจุด ควรตั้งสถาบันการเมืองไว้ควบคุมพฤติกรรม อบรมสั่งสอนนักการเมืองให้อยู่ในกรอบทำนองคลองธรรม ซื่อตรง ไม่โกงแผ่นดิน มีมโนธรรมในใจก่อนเข้าอาสารับใช้ประชาชน ทำผิดฟันโทษรวดเร็วเพื่อหยุดยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 พ.ย.) หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara) เสนอแนวคิดคืนความสงบสุขร่มเย็นให้ประเทศ ด้วยการตั้งสถาบันการเมือง ไว้คอยตรวจสอบ อบรมคนที่จะเข้าเป็นนักการเมืองให้มีจิตสำนึก มีคุณธรรมในหัวใจก่อนเข้ามาอาสารับใช้ประชาชน ตามข้อความดังนี้
“ข้าราชการตำรวจยังมีฝ่ายตรวจสอบพฤติกรรมและระเบียบวินัย เรียกว่าจเรตำรวจ ข้าราชการทหารยังมีจเรทหาร ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ข้าราชการพลเรือนยังมีระบบตรวจสอบที่เรียกว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
แล้วพวกข้าราชการการเมืองล่ะใครตรวจสอบ ใครควบคุม หรือแค่ผ่านการเลือกตั้งก็บริสุทธิ์สำเร็จดุจดังอรหันต์กระนั้นหรือ พอได้แล้ว อย่ามาอ้างคะแนนนิยมแล้วมาคดโกงทำชั่วได้
เพื่อยุติปัญหานักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ขาดจริยธรรม จึงควรจะถึงเวลาได้แล้วที่จะมีการตั้งสถาบันการเมืองเพื่อทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรม อบรมสั่งสอนให้นักการเมืองทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้ที่จะลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. จนถึง ส.ว. ส.จ. ส.ส. ให้มีคุณธรรมความรับผิดชอบ ซื่อตรง ไม่โกงแผ่นดิน มีหลักคิดทำพูดให้อยู่ในทำนองคลองธรรม เป็นต้นแบบที่ดีของสังคมได้ เรียกว่า แผ่นดินนี้มีเสนาบดีผู้มีธรรม สถาบันการเมืองแห่งชาติหรือองค์กรการเมืองแห่งชาติ จะต้องเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแล อบรม ควบคุมพฤติกรรมของบรรดานักการเมืองทั้งหลาย
องค์ประกอบของสถาบันการเมืองหรือองค์กรการเมืองควรประกอบด้วย นักการศาสนาหรือผู้เชี่ยวชาญเรื่องศาสนาและศีลธรรม นักกฎหมายแผนกการเมืองการปกครอง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิมนุษยชน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ชำนาญการสืบสวนสอบสวน ผู้ชำนาญการทางศิลปวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก ผู้ชำนาญการเรื่องสังคมและประวัติศาสตร์ชาติพรรณ ตะวันออก ตะวันตก
อำนาจหน้าที่
- ให้มีหน้าที่อบรมให้ความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองในทุกเรื่อง ซึ่งผู้จะลงสมัครรับเลือกตั้งทุกตำแหน่งจะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรของนักการเมือง ที่สถาบันการเมืองได้กำหนดขึ้นว่านักการเมืองแต่ละตำแหน่งควรจะเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อการทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ซื่อตรง และมีความรับผิดชอบ
- สถาบันการเมืองจะต้องร่างหลักสูตรการอบรมนักการเมืองแต่ละลำดับ โดยแต่ละหลักสูตรมีเวลาอบรมไม่น้อยกว่า 15 วันถึง 1 เดือนขึ้นไป
- นักการเมืองแต่ละลำดับชั้นจะต้องสอบผ่านการอบรมในแต่ละหลักสูตรที่ตนจะลงรับเลือกตั้ง จึงจะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้
- หลังจากเลือกตั้งแล้ว สถาบันการเมืองมีหน้าที่กำกับดูแลพฤติกรรมของนักการเมืองแต่ละระดับชั้นให้ประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ อุดมการณ์ของสถาบันการเมืองที่ได้อบรมสั่งสอนไป หากนักการเมืองผู้ใดทำผิดวินัย ละเมิดต่ออุดมการณ์ ผิดหลักจริยธรรมของนักการเมือง ให้พักการปฏิบัติหน้าที่ในทุกตำแหน่ง หรือให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ที่ในทุกตำแหน่งไปเลย ทั้งนี้ควรต้องมีการสอบสวนหาพยานหลักฐานชี้มูลความผิดให้เป็นที่ประจักษ์ แล้วจึงสั่งลงโทษ หรือถ้าสงสัยก็ควรส่งหนังสือตักเตือน หากหนังสือตักเตือนมีถึง 3 ฉบับ ก็ให้ถือว่านักการเมืองผู้นั้นขาดคุณสมบัติในการเป็นนักการเมืองต่อไป ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่งหรือลงรับสมัครเลือกตั้งอีกต่อไป
- สถาบันการเมืองมีอำนาจลงโทษหรือสั่งลงโทษนักการเมืองได้ในทุกตำแหน่ง หากมีพยานหลักฐานที่ชี้มูลความผิดของนักการเมืองนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน
- นักการเมืองเมื่อได้ถูกลงโทษจากสถาบันการเมืองแล้ว หากเห็นว่าไม่เป็นธรรม มีสิทธิจะยื่นอุทธรณ์แก่ศาลปกครองกลางได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับการสั่งลงโทษ
สถาบันการเมืองให้มีสถานะเป็นหน่วยงานอิสระที่กฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับอำนาจหน้าที่ มีงบประมาณใช้จ่ายอย่างเพียงพอและเหมาะสม ซึ่งรัฐจะต้องเป็นผู้จัดงบประมาณสนับสนุนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทุกปี โดยไม่ขัดสน
คณะกรรมการสถาบันการเมืองต้องได้รับการคัดเลือกมาครึ่งหนึ่งและเลือกตั้งมาครึ่งหนึ่ง กำหนดให้ผู้ชำนาญการในแต่ละสาขาต้องมีไม่เกิน 2 ท่าน
บทกำหนดโทษ
คณะกรรมการสถาบันการเมืองแห่งชาติต้องร่างบทกำหนดโทษแก่ข้าราชการการเมืองให้ชัดเจน และมีผลบังคับใช้ได้จริง เป็นที่มุ่งหวังได้ของประชาชน เมื่อมีนักการเมืองทำผิด จะต้องเป็นหน้าที่รับผิดชอบของสถาบันการเมืองแห่งชาติ ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงภายในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อหยุดยั้งความเสียหายแก่บ้านเมือง
หากการปฏิรูปครั้งนี้ไม่จัดการกับต้นตอของปัญหา ก็อย่าหวังเลยว่าบ้านเมืองจะสงบสุขได้ในอนาคต และเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนคนทั้งชาติทั้งในอดีตและปัจจุบัน ล้วนแล้วเกิดมาจากการกระทำของนักการเมืองและข้าราชการการเมืองขี้ฉ้อทั้งนั้น
เหตุนี้แหละ หากคุณประยุทธ์ สภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติปรารถนาจะเห็นบ้านเมืองสงบสุขร่มเย็น ก็สมควรจัดการกับต้นตอของปัญหา คือนักการเมือง ข้าราชการการเมือง และพวกข้าราชการที่ฝักใฝ่การเมือง ให้อยู่ในกรอบของทำนองคลองธรรม ควรฝึกฝนให้มีมโนธรรมในใจแล้วจึงจะมาอาสารับใช้ประชาชน ไม่ใช่เอาพวกสกปรกมาโกงกินบ้านเมือง ทำร้ายประชาชนอย่างที่ผ่านมา
สำหรับฉันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทพหรือมาร หากเป็นนักการเมืองแล้วล่ะก็ ต้องมีการต่อรองผลประโยชน์ ตนและพวกพ้องต้องได้ประโยชน์ หากไม่มีผลประโยชน์คงจะไม่เข้ามาเป็นนักการเมืองแน่
ส่วนจะเป็นประโยชน์ตนหรือประโยชน์ประชาชน นั่นก็ขึ้นอยู่กับมโนธรรมจิตสำนึกรู้ชั่วดี มีสติปัญญาแยกแยะ ซึ่งคุณธรรมดังกล่าวมานี้มันต้องฝึกฝนอบรมมิใช่เกิดขึ้นเอง หากนักการเมืองปฏิเสธการฝึกฝนอบรมให้เกิดมโนธรรม สำนึกรับผิดชอบชั่วดี มีสติปัญญาที่จะแยกแยะแล้วล่ะก็ คงเป็นฝันร้ายของคนทั้งชาติที่ไปเลือกโจรมาปกครองบ้านเมือง
คุณประยุทธ์ต้องไม่ลืมว่า ผีหลอกคนได้เฉพาะตอนกลางคืน แต่นักการเมืองหลอกชาวบ้านได้ทั้งวันทั้งคืน แถมใช้เวลาหลอกนานถึง 4 ปีเชียวนา กว่าชาวบ้านจะรู้ว่าโดนหลอกก็โง่ จน เจ็บ อาการสาหัสกันทั้งบ้านทั้งเมือง พอได้แล้ว หยุดได้แล้ว ไม่เอาอีกแล้ว พวกนักการเมืองเลวๆ ฉันเหนื่อยที่จะขับไล่แล้ว”