รอง หน.ปชป.ดักคอ รมว.ยธ.คิดดึงตุลาการนั่งที่ปรึกษา รมต. ทั้งที่เจอเสียงค้าน แนะตั้งหลักให้ดี หวั่นทำลายกระบวนการยุติธรรม ชี้ทหารไม่ทราบต้นตอขัดแย้ง ปชช.ไม่ไว้ใจฝ่ายการเมือง ส่อซ้ำรอยยุคตุลาการภิวัฒน์ ที่สอบการเมืองเข้ม จนไม่ยอมไปตั้งมวลชนโจมตีตุลาการสองมาตรฐาน พร้อมเตือนอย่าดึงศาลเอี่ยวร่างรธน. เหตุเกิดวิกฤตศาลพังทั้งระบบ
วันนี้ (30ต.ค.) นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม มีแนวคิดขอคนในระบบตุลาการ หรือศาลมาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ทั้งที่นายสราวุฒิ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แถลงย้ำถึงจริยธรรมศาล ผู้พิพากษาว่าไม่ควรไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองว่า ตนขอให้รัฐบาลและรัฐมนตรีทุกกระทรวงตั้งหลักให้ดีในการจะขอบุคคลจากศาลหรือผู้พิพากษามาเป็นที่ปรึกษาหรือคณะทำงาน ว่าที่สุดแล้วจะเป็นการทำลายระบบศาลและกระบวนการยุติธรรมไทยซ้ำเติมลงไปอีก
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า เพราะทหารหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ทราบถึงต้นตอความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ต้นตั้งแต่ปี 49 ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติจึงมีการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายตุลาการซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจหลักในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยเข้ามาช่วยพยุงอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยให้ฝ่ายศาลเข้ามาคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระเพื่อตรวจสอบฝ่ายการเมืองจึงเห็นว่ายุคนั้นตุลาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการแต่งตั้งคัดเลือกคนสำคัญทางการเมืองจนเรียกว่ายุคตุลาการภิวัฒน์ ที่มีการตรวจสอบฝ่ายการเมืองอย่างเข้มข้นจนฝ่ายการเมืองไม่ยอมและไปสร้างมวลชน สร้างวาทะกรรมโจมตีฝ่ายตุลาการว่า 2 มาตรฐานที่สุดระบบการปกครองของไทยจึงพังระเนระนาดทั้งระบบ จนเปิดช่องว่างให้ คสช.เข้ามายึดอำนาจ
"วันนี้รัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากคสช.ยังพยายามดึงเอาบุคลากรจากฝ่ายตุลาการเข้ามาในวังวนของการเมือง ทั้งที่ฝ่ายตุลาการได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง ขอเตือนไปยังคสช.ที่ยังไม่รู้ต้นเหตุความขัดแย้ง ว่าหากจะยังพยายามดึงบุคลากรจากฝ่ายตุลาการเข้ามาอีกที่สุดจะเป็นการทำปิดซ้ำซ้อนและสร้างวิกฤติตุลาการรอบใหม่ขึ้น แม้กระทั่งนายพรเพชร (วิชิตชลชัย) ที่เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คสช.และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันนี้ผมยังรู้สึกไม่สบายใจ และขอเตือนถึง สปช.หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกแบบเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าต้องเอาศาลหรือบุคลากรฝ่ายตุลาการออกจากกระบวนการทางการเมืองทั้งหมด ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดวิกฤตใดขึ้นศาลก็จะพังลงทั้งระบบ เพราะอำนาจหลักทั้ง 3 ควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกัน"