xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทำไม? ต้องห้ามตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีมากเกินไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดแรก อย่างเป็นทางการ ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เห็นชอบ เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ที่เสนอโดย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 67 คน โดยกระทรวงที่แต่งตั้งทีมงานมากที่สุดเห็นจะเป็น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม กระทรวงฯละ 4-5 คน ส่วนกระทรวงอื่น ๆ แต่งตั้ง 1-2 คนเท่านั้น

จำนวนทีมงานมากขณะนี้ทำเอา นายกรัฐมนตรี ถึงกลับประกาศว่า “ห้ามตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีมากเกินไป”

ท่านนายกรัฐมนตรี คงดูจาก"บัญชีอัตราตำแหน่งและเงินเดือนข้าราชการการเมือง (ฉบับล่าสุดของกระทรวงการคลัง)" ที่ได้แสดงไว้ อย่าง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีเงินเดือน 60,390 บาท เงินประจำตำแหน่ง18,500 บาท , รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง 53,440 บาท/14,500 บาท , ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 54,910 บาท/15,000 บาท , ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 45,000บาท/ 10,000 บาท ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 24,200 บาท/2,850 บาท , เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เเละเลขานุการรมว. 42,200 บาท/4,900 บาท , ผู้ช่วยเลขานุการรมว. 37,810 บาท/4,400 บาท

เอาแค่ 67 คน ใน 20 กระทรวงที่เพิ่งตั้งเข้ามา เฉลี่ยก็อาจจะต้องใช้งบประมาณเดือนละ 2 ล้านบาท ถ้าตั้งมากกว่านี้ก็อาจจะต้องใช้งบประมาณเดือนละมากกว่านั้น ท่านนายกฯ จึงมีประกาศิตไว้ก่อนว่า “ห้ามตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีมากเกินไป”

ส่วนคณะกรรมการต่าง ๆ ที่คณะรัฐมนตรีชุดเดิม มีมติแต่งตั้งไว้ กว่า 100 คณะ ไม่รวมถึงคณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบหรือตามกฎหมายหนึ่งกฎหมายใด หรือคณะกรรมการที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไว้ และคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 และภายหลังจากนั้นให้คณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งทุกคณะเป็นอันสิ้นสุดลง

แต่หากกระทรวง หรือกรม เห็นว่า คณะกรรมการชุดใดมีความสำคัญและจำเป็นต้องมีอยู่ ให้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นใหม่ โดยให้ตรวจสอบองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยด่วน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2557

ทั้งนี้ คณะกรรมการใดที่กระทรวง กรม จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแต่งตั้งดังกล่าว หากสามารถกำหนดระยะเวลาการดำเนินงานและภารกิจสิ้นสุดที่ชัดเจนได้ ให้ระบุวันสิ้นสุดของคณะกรรมการนั้น ๆ ไว้ด้วย

แต่ที่ถือเป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย กลับเป็นเรื่องว่าด้วย “ค่าตอบแทน ของผู้ช่วยรัฐมนตรี”

มติที่ประชุมครม. ออกมาว่า ให้ “กระทรวงการคลัง” ไปปรับลดค่าตอบแทนจาก ตำแหน่งละ 63,800 บาท ให้เหลือ ตำแหน่งละ 50,000 เนื่องจากเห็นว่าเป็นค่าตอบแทนที่สูงเกินความจะเป็น ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนได้กว่า 400,000 บาท

ถือว่า เป็นคณะบุคคลกลุ่มแรกที่ถูกหั่นค่าตอบแทนหรือเงินเดือนเลยก็ว่าได้

ไปสืบค้นดู “ค่าตอบแทน ของผู้ช่วยรัฐมนตรี” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546

ในข้อ 9 ว่าด้วยเรื่อง “ค่าตอบแทน”เขียนเอาไว้ว่า “ให้คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีและเลขานุการตาม ข้อ 6 (ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง และไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ)

จะ ได้รับ “เบี้ยประชุม” เป็นรายครั้งตามอัตราที่กำหนดในกฎหมาย ว่าด้วยเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนที่ปรึกษาซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง ให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ตามที่กระทรวงการคลังกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

ตามมาดูค่าตอบแทนที่ข้าราชการการเมือง โดยเฉพาะผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ จะได้รับ ตาม "บัญชีอัตราตำแหน่งและเงินเดือนข้าราชการการเมือง (ฉบับล่าสุดของกระทรวงการคลัง)"

กำหนดอัตราเงินเดือนผู้ช่วยรัฐมนตรี 63,800 บาท ทั้งนี้ ไม่รวมค่ารถประจำตำเเหน่ง งบค่าอาหาร งบค่าน้ำมัน งบค่าเดินทาง ฯลฯ โดยตำแหน่งนี้ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง

มีคำถามว่า ทำไมถึงแค่ลดเงินเดือน ไม่ยกเลิกไปเลย!!! เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่อยากจะให้มีการแต่งตั้งทีมงานที่ปรึกษาจนมากเกินไปแล้ว

ย้อนกลับมาดู ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี พ.ศ. 2546 อีกครั้ง ตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งแต่งตั้ง เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี กำหนดหน้าที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันในฐานะคณะกรรมการ หรือแยกกันในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรีกับกระทรวงนั้นๆ และปฏิบัติงานแทนหรือช่วยเหลือรัฐมนตรีในการดำเนินการบางอย่าง

“อันมิได้มีกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งกำหนดว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีสามารถมอบอำนาจได้เป็นการเฉพาะ” ในกระทรวงหนึ่ง จะมีผู้ช่วยรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ไปประจำหลายคนก็ได้ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง แต่นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีผู้ใดพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระก็ได้

มีคุณสมบัติมากมายที่เกี่ยวข้องกับด้านราชการ เอกชน การศึกษาฯลฯ เชื่อว่า ในการประชุม ครม.ครั้งหน้าจะมีการเสนอชื่อ “คณะผู้ช่วยรัฐมนตรี”โดยมีระเบียบว่า ต้องเปิดเผยประวัติของผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีต่อสาธารณชน

มีอำนาจหน้าที่ในมิติด้านต่างๆ ด้านการเมือง ด้านประชาชน ด้านกระทรวง ด้านต่างประเทศ ด้านข้าราชการ ด้านสังคมส่วนใหญ่ เป็นการเข้าประชุมแทนหรือเข้าประชุมร่วมกับรัฐมนตรีในการประชุมกับต่างประเทศหรือระหว่างประเทศ ประสานงานกับข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองในกระทรวง ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีในงานพิธีการของทางราชการหรือเอกชน หรืองานสังคม

แวดวงการเมือง เข้าใจตรงกันว่า ตำแหน่งนี้ในภาวะปกติตั้งขึ้นมาเพื่อ เกลี่ยตำแหน่งให้กับบุคคลในโควตาพรรคการเมืองซีกรัฐบาลที่อกหัก ไม่ได้ตำแหน่งสำคัญๆทางการเมือง หรือตำแหน่งข้าราชการการเมือง ที่ปรึกษา เลขานุการ จำนวนกว่า 20-30คน อย่างในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงษ์สวัสด์ ก็ตั้งขึ้นมาเต็มโควต้า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตั้งเต็มโควต้า

หรืออย่าง สมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ตั้งมา ถึงกับล้นโควต้า ต่ออายุกัน ชุดล่าสุดมีชื่อ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีดังนี้ พล.อ.วัฒนา สรรพานิช , นายวิมล จันทร์จิราวุฒิกุล , นายภาคิน สมมิตร นายสฤษฎ์ อึ้งอภินันท์ , นายสุเทพ สายทอง , พล.ท.มะ โพธิ์งาม , นายประภัสร์ จงสงวน , นายพิทยา พุกกะมาน , พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ , น.ส.มาลินี อินทร์ฉัตร นายเหรียญชัย ลิขิตพฤกษ์ , พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ , นายสุรชัย เบ้าจรรยา , นายปรีชา ธนานันท์ , นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ , นายวิสา คัญทัพ , นางฉวีวรรณ คลังแสง , นายวิบูลย์ แช่มชื่น , นายมานิตย์ ภาวสุทธิ์ , นายธวัชชัย สุทธิบงกช

ตำแหน่งนี้เมื่อพ้นรัฐบาล ก็ต้องไปตามรัฐบาลเหมือนข้าราชการการเมืองอื่น ๆ

อีกตำแหน่งหนึ่ง ที่เชื่อว่าจะมีการนำเข้ามาหารือในคณะรัฐมนตรี ในครั้งต่อๆไป ก็คือ ตำแหน่ง “ผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์)” ตำแหน่งนี้ อัตราเงินเดือนประธานผู้แทนการค้าไทย จะเทียบเท่ารองนายกฯ คือ 70,870 บาท และผู้แทนการค้าไทยเทียบเท่า รัฐมนตรีว่าการฯคือ 69,750 บาท ตำแหน่งนี้ไม่มีเงินประจำตำแหน่งแต่ยังไม่รวมค่ารถประจำตำเเหน่ง งบค่าอาหาร งบค่าน้ำมัน งบค่าเดินทาง ค่าเบี้ยประชุม ฯลฯ บางรัฐบาลตั้ง 3 คน บางรัฐบาลตั้ง 5 คนเต็มโควตา ตำแหน่งนี้บางคนถูกมองว่า มาทำงานลับให้กับรัฐบาลบ้าง ให้กับพรรคบ้าง

ที่เชื่อว่าจะมีการนำมาหารือ เพราะในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (รัฐบาลจากการรัฐประหาร 2549) เคยยุบเลิกหน่วยงานนี้ และยกเลิกผู้แทนการค้าไทย โดยนายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขณะนั้น เห็นว่า ทำงานซ้ำซ้อนกับกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องการเจรจา แถมบางเรื่องก็ตรวจสอบได้ยาก

แต่ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กลับมีการแต่งตั้งและฟื้นหน่วยงานนี้ขึ้นมาใหม่ มี”นายเกียรติ สิทธีอมร” เป็นประธานทีทีอาร์ โดยให้เหตุผลว่าเปลี่ยนแนวคิดการทำงานใหม่ และต่อเนื่องมาจนสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการแต่งตั้งนายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นประธาน แถม “ผู้แทนการค้าไทย” ยังตั้ง “ทีมผู้ช่วยเจรจา 14 คณะ” คณะละ 4-5 มีอัตราเงินเดือนเทียบเท่า ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จำนวน 54,910 บาท

หน่วยงานนี้ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระหองระแหง จนมีข่าวว่าจะยุบบ้าง ยกเลิกบ้าง แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่สำนักงานฯอาจถูกยุบ เพราะที่ผ่านมางานส่วนใหญ่มักซ้ำซ้อนกับกระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ งานของทีทีอาร์หลายงานไม่สามารถดำเนินการได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ในส่วนของผลงาน ที่ส่วนใหญ่ได้รวบรวมไว้ที่นายโอฬาร ในฐานะประธานทีทีอาร์มากกว่า

เชื่อว่า “ผู้ช่วยรัฐมนตรี”จะยังคงไว้ในรัฐบาลชุดนี้ แต่“ผู้แทนการค้าไทย”จะถูกยุบเลิกอีกครั้ง เป็นแน่!!



กำลังโหลดความคิดเห็น