xs
xsm
sm
md
lg

“หมอรัชตะ” เลือกนั่ง รมว.สธ.ที่เดียว เสียใจชาวมหิดลวิจารณ์แรง นำน้ำขุ่นไว้นอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอรัชตะ” ยังหลบสื่อไม่ขอตอบคำถาม แต่ส่งสารจากอธิการฯถึงชาวมหิดลให้คำตอบแทน ชัดเจนแล้วเลือกตำแหน่ง รมว.สธ. เพียงตำแหน่งเดียว ส่วนการบริหารมหาวิทยาลัยจะจะนำเข้าปรึกษาสภาฯ ยอมรับเสียใจชาวมหิดลวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกออนไลน์รุนแรง ทั้งที่ควรหารือภายในแบบปัญญาชน ไม่ประโคมข่าวออกสังคมภายนอก วอนอย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาัลยมหิดล และ รมว.สาธารณสุข (แฟ้มภาพ)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สภามหาวิทยาลัยมหิดลมีมติให้ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตัดสินใจเลือกดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในวันที่ 8 ต.ค. ซึ่งที่ผ่านมา ศ.นพ.รัชตะ ได้หลีกเลี่ยงการตอบคำถามในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ทำให้วันนี้ (8 ต.ค.) ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีการประชุมสภาคณบดีมหาวิทยาลัย ซึ่ง ศ.นพ.รัชตะ เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น มีสื่อมวลชนจำนวนมากมารอฟังคำตอบจาก ศ.นพ.รัชตะ ว่าจะเลือกดำรงตำแหน่งใด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้แจ้งแก่ผู้สื่อข่าวว่า ศ.นพ.รัชตะ ไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำเอกสารของ ศ.นพ.รัชตะ ซึ่งเป็นสารจากอธิการบดีถึงชาวมหิดล มีเนื้อหาใจความโดยสรุปว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 41 ระบุ ให้ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองควบคู่กันไปได้ กับการปฏิบัติงานประจํา แต่ที่ผ่านมามีชาวมหิดลบางกลุ่มทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยที่จะให้ดํารงทั้ง 2 ตําแหน่ง โดยระบุว่าเสียใจที่มีชาวมหิดลบางกลุ่มออกมาวิพากษ์วิจาณ์อย่างรุนแรง ผ่านทางสังคมออนไลน์ ใช้ถ้อยคำรุนแรง ทั้งที่ควรจะปรึกษาหารือกันได้อย่างปัญญาชนของแผ่นดิน ทำให้ภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยเสื่อมเสีย ซึ่งมิประสงค์จะตอบโต้ เพราะไม่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสีย

จึงนำมาซึ่งการตัดสินใจ โดยขอปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่ง รมว.สาธารณสุขเพียงตำแหน่งเดียว เพื่อรับใช้ประเทศชาติ และเพื่อความเป็นเอกภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล สําหรับการบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลในระยะเปลี่ยนผ่านว่าจะดําเนินการอย่างไร จะนําเข้าปรึกษาหารือในสภามหาวิทยาลัยมหิดลในการประชุมสภาฯวันที่ 15 ต.ค. 2557 โดยวิงวอนต่อชาวมหิดลว่าไม่ควรเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ขอให้ชาวมหิดลปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักธรรมาภิบาลบริหารความคิดความเห็นที่แตกต่างโดยสันติด้วยสติและปัญญา ปัญหาภายในมหาวิทยาลัยควรแก้ไขกันเอง โดยไม่ต้องประโคมข่าวสู่สังคมภายนอก ที่ไม่เข้าใจความเป็นมาของแต่ละปัญหาอย่างลึกซึ้ง ไม่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมของมหิดล

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการประชุมไม่มีใครซักถามว่า ศ.นพ.รัชตะ จะเลือกดำรงตำแหน่งใด ซึ่งเป็นการประชุมไปตามวาระปกติ โดยตนนั่งร่วมประชุมอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง เห็นว่าไม่มีอะไรสำคัญจึงเดินออกจากห้องประชุมเมื่อเวลา 11.15 น. และจากนั้นไม่นานก็ทราบว่า ศ.นพ.รัชตะ มีแถลงการณ์ดังกล่าวถึงประชาคม มม. ซึ่งถือเป็นดี เท่ากับว่า ศ.นพ.รัชตะ รักษากติกาและตัดสินใจเลือกดำรงตำแหน่งใดเพียงตำแหน่งเดียวตามที่ขอเวลาไว้กับสภา มม. ทำให้เรื่องทุกอย่างจบลงด้วยดี เป็นแบบอย่างให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ นำไปใช้เวลามีปัญหา เพราะการยอมรับกติกาจะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

ด้าน นพ.วิรุณ บุญนุช ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บรรยากาศในการประชุมสภาคณบดี มม.เป็นไปด้วยดี โดย ศ.นพ.รัชตะ ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาคณบดีว่า ขอเลือกตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข เพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งทันทีที่กล่าวจบทุกคนในที่ประชุมก็ยืนขึ้นปรบมือแสดงความชื่นชมในการตัดสินใจครั้งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นสุภาพบุรุษ รักษาสัญญา พูดคำไหนคำนั้น เป็นสิ่งที่น่าดีใจที่เรามีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่พูดและทำตามสัญญา ทั้งนี้ ส่วนที่จดหมายเปิดผนึกของ ศ.นพ.รัชตะ ระบุข้อหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ให้ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองควบคู่กันไปได้นั้น แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญ แต่มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีข้อบังคับการสรรหาอธิการบดี ข้อ 5 (2) ที่ระบุว่าอธิการบดีต้องทำงานเต็มเวลา ซึ่ง ศ.นพ.รัชตะ ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ นพ.รัชตะ ลาออกจากอธิการบดีแล้ว ก็ยังคงรักษาการในตำแหน่งอธิการบดีจนกว่าจะมีการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน180วัน แต่เชื่อว่าการประชุมสภามหาวิทยาลัยวันที่ 15 ต.ค. นี้ ที่ประชุมคงต้องเร่งสรรหาอธิการบดีคนใหม่โดยเร็ว

“เดิมทีส่วนตัวผมคิดว่า ศ.นพ.รัชตะ จะแจ้งผลการต่อที่ประชุมสภา มม. ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ซึ่งมีอำนาจสูงสุด แต่ท่านก็ได้ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ครั้งนี้ในฐานะที่ท่านเป็นอธิการบดี เป็นผู้บังคับบัญชาก็ได้มาแจ้งกับคณบดีทุกคนซึ่งเปรียบเสมือนลูกน้องให้ได้ทราบการตัดสินใจของท่านด้วยก็ต้องชื่นชมว่าเป็นนักบริหารที่ดี ส่วนที่มีคนสงสัยว่าผมจะสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี มม.คนใหม่นั้น ยืนยันว่าผมไม่สมัครแน่นอน เพราะผมเรียนจบทางด้านแพทย์ผ่าตัดก็ตั้งใจจะทำงานทุ่มเทเวลาให้กับงานทางวิชาชีพที่เราตั้งใจให้เต็มที่” นพ.วิรุณ กล่าว

อ่านฉบับเต็ม
สารจากอธิการบดีถึง “ชาวมหิดล” มีใจความดังต่อไปนี้

8 ตุลาคม 2557

เรียน ชาวมหิดลที่รักทุกท่าน

ตามที่ผมได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 นั้น ผมได้มีสารถึงชาวมหิดล เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 เรียนว่างานบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลจะไม่สะดุด และผมขอเวลาศึกษางานสักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจะเรียนให้ชาวมหิดลได้ทราบทิศทางของการดําเนินงานของมหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข บัดนี้เวลาได้ผ่านมาพอสมควรแล้วจึงขอเรียนให้ชาวมหิดลทราบ ดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 41 ระบุ ให้ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองควบคู่กันไปด้วยได้เจตนารมณ์คือ ขอตัวมาช่วยปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 ปีซึ่งเป็นอายุของรัฐบาลนี้และเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่สําคัญของประเทศ โดยยังสามารถปฏิบัติงานประจําควบคู่กันไปได้ด้วย ซึ่งในภาวะปกติสถานการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะเปิดโอกาสให้แต่ผมได้เรียนกับชาวมหิดลว่าจะขอเวลาประเมินสถานการณ์ก่อนสักระยะแนวทางประกอบการตัดสินใจมีดังนี้

1. พิจารณาว่าการดํารงตําแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลควบคู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะสามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่ประเทศได้อย่างไร ในหลักการ คือ การเชื่อมโยงอุดมศึกษาเข้ากับระบบสุขภาพของประเทศ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุข ดังนั้น การได้ปฏิบัติหน้าที่ ที่กระทรวงสาธารณสุขด้วยจะทําให้ทราบปัญหาความต้องการของประเทศด้านการสาธารณสุขได้เป็นอย่างดีสามารถนําประสบการณ์ไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศร่วมกับระบบอุดมศึกษาและในการปรับปรุงการผลิตบุคลากรสาธารณสุขของประเทศได้อย่างเหมาะสมและโอกาสที่ได้อยู่ในคณะรัฐมนตรียังจะช่วยประสานงานด้านอื่นๆกับอุดมศึกษา เช่น การปฏิรูปสังคม และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงเวลานี้มิใช่เวลาปกติของประเทศเป็นโอกาสที่ชาวไทยทุกคนจะต้องรวมพลังช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อจะขับเคลื่อนประเทศ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง และยั่งยืน จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่ชาวมหิดล จะช่วยกันร่วมแรงร่วมใจ ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลให้ดําเนินไปได้ด้วยดีในขณะที่ผมรับตําแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขด้วย

2. เมื่อผมรับตําแหน่งรัฐมนตรีผมยังมีความรับผิดชอบต่อมหาวิทยาลัยมหิดลในการที่จะวางแผนการบริหารงานในช่วงนี้มิให้มีการติดขัดซึ่งต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งในการวางแผน เตรียมการ มิใช่จะสามารถจะปลดภาระหน้าที่ของอธิการบดีได้โดยทันที

3. ประเมินภาระงานที่กระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นอย่างไร จะสามารถทํางานควบคู่กับตําแหน่งอธิการบดีได้หรือไม่ เนื่องจากวันที่ผมเขียนสารถึงชาวมหิดลนั้น เป็นวันที่ 1 กันยายน 2557 กว่าที่ผมจะเข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นวันที่ 13 กันยายน 2557 เนื่องจากต้องผ่านการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน และรอให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อน

4. เนื่องจากมีรัฐมนตรีอีกหลายท่านในรัฐบาลชุดนี้ซึ่งอยู่ในสถานะเดียวกับผม คือ ควบตําแหน่งรัฐมนตรีและงานประจําด้วย เนื่องจากในขณะนี้เป็นภาวะวิกฤตของประเทศ มีความจําเป็นต้องใช้บุคลากร ที่มีความรู้และประสบการณ์ในสายงานต่างๆ เพื่อช่วยกันแก้ไขวิกฤตของประเทศ ผมจึงต้องศึกษาแนวทางจากรัฐบาลในประเด็นนี้ประกอบด้วย

ผมขอเรียนว่าในแนวทางประกอบการตัดสินใจข้อแรกเป็นแนวทางที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ผมทราบว่าชาวมหิดลบางกลุ่มมีความประสงค์จะให้ผมดํารงอยู่ทั้ง2 ตําแหน่ง แต่บางกลุ่มไม่เห็นด้วย ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างนี้เกิดขึ้นอยู่เป็นปกติไม่ว่าในสังคมใดก็ตาม ผมได้เตรียมการที่จะให้มีการปรึกษาหารือ ในเรื่องนี้ระหว่างฝ่ายที่เห็นแตกต่าง ด้วยสันติด้วยสุนทรียสนทนา เป็นการภายในมหาวิทยาลัยของเรา

เพื่อให้ได้มีข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่เราใช้กันมาโดยตลอดภายในมหาวิทยาลัยของเราแต่เป็นที่น่าเสียใจที่ชาวมหิดลบางกลุ่มมิได้เลือกใช้วิธีที่จะบริหารความเห็นที่แตกต่างโดยสันติแต่ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงตั้งแต่ก่อนที่ผมจะได้เข้าไปเริ่มทํางานในกระทรวงสาธารณสุขนําประเด็นที่ควรจะปรึกษาหารือตกลงกันได้อย่าง“ปัญญาชนของแผ่นดิน”ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศทางสื่อมวลชน และมีการแพร่ข่าวผ่านทาง social media ต่างๆ ซึ่งเป็นข้อมูลด้านเดียวที่ให้แก่สังคม โดยใช้ถ้อยคําที่รุนแรง และทําให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเสื่อมเสีย ผมมิประสงค์จะตอบโต้เนื่องจากไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเสื่อมเสียไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ตามที่ผมได้สัญญากับชาวมหิดลไว้ว่าจะขอเวลาสักระยะโดยอาศัยแนวทางประกอบการตัดสินใจ 4 องค์ประกอบ ตามที่เรียนให้ทราบแล้วข้างต้น

ผมจึงได้ตัดสินใจว่าจะขอปฏิบัติหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพียงตําแหน่งเดียว ทั้งนี้เพื่อจะได้รับใช้ประเทศชาติและเพื่อความเป็นเอกภาพของมหาวิทยาลัยมหิดล

สําหรับการบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลในระยะเปลี่ยนผ่านว่าจะดําเนินการอย่างไรนั้นผมจะนําเข้าปรึกษาหารือในสภามหาวิทยาลัยมหิดลในการประชุมสภาฯวันที่15 ตุลาคม 2557

ผมขอวิงวอนต่อชาวมหิดลว่าเหตุการณ์เช่นนี้มิควรเกิดขึ้นอีกในมหาวิทยาลัยที่เป็นที่รักของเรามหาวิทยาลัยต้องเป็นแบบอย่างด้านจริยธรรมของสังคมขอให้ชาวมหิดลทุกคนปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักธรรมาภิบาลบริหารความคิดความเห็นที่แตกต่างโดยสันติด้วยสติและปัญญา ปัญหาภายในมหาวิทยาลัยของเราควรแก้ไขกันเอง โดยไม่ต้องประโคมข่าวสู่สังคมภายนอก ที่จะไม่เข้าใจความเป็นมาของแต่ละปัญหาอย่างลึกซึ้ง ไม่เข้าใจบริบทและวัฒนธรรมของมหิดล เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวแก่สังคม และทําให้ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเสื่อมเสีย

ผมขอให้ชาวมหิดลทุกคนตระหนักอีกครั้งว่าขณะนี้มิใช่เวลาที่ประเทศเป็นปกติแต่ชาติของเรากําลังอยู่ในช่วงของการปฏิรูปซึ่งชาวไทยทุกคนรวมทั้งชาวมหิดลด้วย จะต้องรวมพลังร่วมแรงร่วมใจ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ชาติของเราก้าวหน้า และมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ผมจะนัดหมายเพื่อสรุปงานที่ผมได้ดําเนินการในฐานะอธิการบดีและเพื่อขอบคุณทุกท่านตาม

กําหนดการที่จะแจ้งให้ทราบต่อไปในขณะนี้ดัชนีชี้วัดทุกตัวระบุว่ามหาวิทยาลัยของเรามีความก้าวหน้าในทุกทางโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคและมีโครงการจํานวนมากที่ลงดําเนินการในชุมชนที่ประชาชนไทยในชุมชนจะได้รับการพัฒนาให้มีชีวิตที่ดีขึ้นสุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณท่านรองอธิการบดีคณบดีผู้อํานวยการผู้อํานวยการกอง และชาวมหิดลทุกท่านที่เสียสละทุ่มเททํางานเพื่อมหาวิทยาลัยมหิดล และสังคมไทย และขอบคุณสําหรับกําลังใจที่ท่านได้มอบให้กับผมมาโดยตลอด

ขอบคุณครับ

ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น