xs
xsm
sm
md
lg

ติงไพบูลย์ดึงศาลนั่งที่ปรึกษา หวั่นทำกระบวนยุติธรรมพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"นิพิฏฐ์"เตือน"ไพบูลย์" ดึงคนในศาลมาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี อาจทำกระบวนการยุติธรรมไทยพังทั้งระบบ แนะ กมธ.ยกร่างฯ ดึงตุลาการออกจากการเมือง เพื่อถ่วงดุลอำนาจ

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม มีแนวคิดขอคนในระบบตุลาการ หรือศาล มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ทั้งที่ นายสราวุฒิ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมได้แถลงย้ำถึงจริยธรรมศาล ผู้พิพากษา ว่า ไม่ควรไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองว่า ขอให้รัฐบาล และรัฐมนตรีทุกกระทรวงตั้งหลักให้ดี ในการจะขอบุคคลจากศาล หรือผู้พิพากษามาเป็นที่ปรึกษา หรือคณะทำงาน ว่าที่สุดแล้วจะเป็นการทำลายระบบศาล และกระบวนการยุติธรรมไทยซ้ำเติมลงไปอีก เพราะทหาร หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ทราบถึงต้นตอความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ต้น ตั้งแต่ปี 49 ประชาชนไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ จึงมีการออกแบบรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายตุลาการ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจหลัก ในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยเข้ามาช่วยพยุงอำนาจของฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ โดยให้ฝ่ายศาลเข้ามาคัดกรองบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรอิสระ เพื่อตรวจสอบฝ่ายการเมือง จึงเห็นว่ายุคนั้นตุลาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการแต่งตั้ง คัดเลือกคนสำคัญทางการเมืองจนเรียกว่า ยุคตุลาการภิวัฒน์ ที่มีการตรวจสอบฝ่ายการเมืองอย่างเข้มข้น จนฝ่ายการเมืองไม่ยอม และไปสร้างมวลชน สร้างวาทะกรรมโจมตีฝ่ายตุลาการว่า 2 มาตรฐาน ที่สุดระบบการปกครองของไทยจึงพังระเนระนาด ทั้งระบบ จนเปิดช่องว่างให้ คสช.เข้ามายึดอำนาจ

" วันนี้รัฐมนตรีในรัฐบาลที่มาจากคสช. ยังพยายามดึงเอาบุคลากรจากฝ่ายตุลาการ เข้ามาในวังวนของการเมือง ทั้งที่ฝ่ายตุลาการได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้อง ขอเตือนไปยัง คสช. ที่ยังไม่รู้ต้นเหตุความขัดแย้งว่า หากจะยังพยายามดึงบุคลากรจากฝ่ายตุลาการเข้ามาอีก ที่สุดจะเป็นการทำผิดซ้ำซ้อน และสร้างวิกฤติตุลาการรอบใหม่ขึ้น แม้กระทั่ง นายพรเพชร (วิชิตชลชัย )ที่เป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่มาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคสช. และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันนี้ ผมยังรู้สึกไม่สบายใจ และขอเตือนถึง สปช. หรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกแบบเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ต้องเอาศาลหรือบุคลากรฝ่ายตุลาการ ออกจากกระบวนการทางการเมืองทั้งหมด ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดวิกฤตใดขึ้น ศาลก็จะพังลงทั้งระบบ เพราะอำนาจหลักทั้ง 3 ควรจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลกัน" นายนิพิฏฐ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น