xs
xsm
sm
md
lg

ทุจริตในภาครัฐ : ปัญหาเรื้อรังที่แก้ยาก

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หน่วยงานในภาครัฐระดับที่รับนโยบายโดยตรงจากรัฐบาล และนำไปวางแผนเพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานในระดับปฏิบัติการแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

1. ส่วนราชการในระดับกระทรวง และทบวง ซึ่งมีส่วนราชการระดับรองลงมาคือ กรม-กอง-แผนก

2. รัฐวิสาหกิจและองค์กรของรัฐในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยกฎหมายพิเศษ

ในหน่วยงานของรัฐ 2 ประเภทนี้ ส่วนราชการดำเนินงานใช้งบประมาณซึ่งได้มาจากการจัดเก็บภาษีจากประชาชน ซึ่ง ครม.อนุมัติในแต่ละปีทั้งงบลงทุน และงบทำการ

ส่วนรัฐวิสาหกิจและองค์กรของรัฐ ดำเนินงานโดยใช้เงินรายได้จากการประกอบการ และงบอุดหนุนของรัฐโดยผ่านการอนุมัติจาก ครม.เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังใช้เงินกู้เพื่อการลงทุนโดยรัฐค้ำประกันด้วย

เนื่องจากหน่วยงานในภาครัฐดำเนินการโดยอาศัยงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.นี้เอง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงการดำเนินงานของข้าราชการประจำ และพนักงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีวงเงินทุนมากโดยอาศัยตำแหน่งที่มีหน้าที่ และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลหน่วยงานในความรับผิดชอบ และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ หรือที่เรียกว่าการโกงกินนั่นเอง

การทุจริต คอร์รัปชัน เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีบุคลากรประเภทเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งจะป้องกันได้อย่างไร?

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นจุดเริ่มต้น และเส้นทางของการทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐได้ชัดเจนขึ้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านมองดูเส้นทางเดินของคำสั่งซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะคือ

1. จากบนลงล่าง (Top Down) ซึ่งเริ่มจาก ครม.-กระทรวงหรือทบวง-กรม-กอง-หน่วยงานระดับแผนหรือเทียบเท่า

2. จากล่างขึ้นบน (Bottom up) ซึ่งเริ่มจากหน่วยงานระดับแผนก-กอง-กรม-กระทรวงหรือทบวง

ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจและองค์กรของรัฐ ก็ทำนองเดียวกันกับส่วนราชการเพียงแต่แทนที่จะผ่านผู้บริหารสูงสุดขององค์กร จะผ่านบอร์ดและลงไปสู่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรอีกทอดหนึ่ง

ดังนั้น คำสั่งจาก ครม.ไปถึงหน่วยงานของรัฐมีลักษณะดังนี้คือ

1. จากบนลงล่างเป็นคำสั่งเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย

2. จากล่างขึ้นบนเป็นคำเสนอเพื่อขออนุมัติดำเนินการ หรือเป็นคำขอให้พิจารณาสั่งการตามทางเลือกที่นำเสนอเพื่อดำเนินการ

คำสั่งการในสองลักษณะนี้ ผู้สั่งการมีส่วนรับผิดชอบผลของการดำเนินการ อันเกิดจากคำสั่งการหรือเกิด
จากการอนุมัติให้ดำเนินการ ซึ่งมีความเสียหายเกิดขึ้นนอกเหนือจากการรับเสียงสรรเสริญจากความสำเร็จจากการกระทำนั้น

ส่วนจะรับผิดชอบในระดับใดนั้น ขึ้นอยู่กับความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะดังนี้คือ

1. ความผิดในทางสังคม ซึ่งบุคลากรในภาครัฐจะได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการการเมืองจะได้รับมีตั้งแต่การออกมาขอโทษประชาชนไปจนถึงการลาออกจากตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานที่ตนเองทำให้เกิดความเสียหาย

2. ความผิดทางกฎหมายทั้งข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมือง ควรจะได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนประเด็นว่าบุคลากรที่ก่อให้เกิดความเสียหายในภาครัฐจากการกระทำทุจริตนั้น เท่าที่อนุมานได้อดีตที่ผ่านมา แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ

1. ข้าราชการการเมือง ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบในการสั่งการให้กระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายนั้น

2. ข้าราชการประจำ ซึ่งสังกัดหรือมิได้สังกัดในหน่วยงานภายใต้ความรับผิดชอบ และได้รับคำสั่งไปดำเนินการจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายขึ้น

3. นักธุรกิจ ผู้ประกอบการกิจการ และทำธุรกรรมกับรัฐในฐานะผู้ขาย หรือผู้รับจ้างทำของโดยเป็นคู่สัญญากับรัฐ

บุคคล 3 ประเภทนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาทุจริตในภาครัฐได้อย่างไร และจะป้องกันได้อย่างไร

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ถ้าท่านผู้อ่านติดตามข่าวทุจริต คอร์รัปชันในภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโครงการขนาดใหญ่ก็จะพบว่า บุคคล 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้น เข้าไปเกี่ยวข้องทุกครั้งเพียงแต่ว่าในบางกรณีหาหลักฐานเชื่อมโยงไปไม่ถึงทั้ง 3 ประเภทเท่านั้น

ส่วนประเด็นว่าบุคคล 3 ประเภทนี้เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรนั้น ตอบได้ว่าอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 3 ประเภทนี้ เริ่มตั้งแต่นักการเมือง อาศัยทุนเงินจากนักธุรกิจเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ข้าราชการประจำอาศัยนักการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสร่วมมือกันแสวงหาประโยชน์ก็ลงมือทำกันเป็นทีม เริ่มจากนักการเมืองมีโครงการในความรับผิดชอบเรียกพ่อค้าทำ และสั่งการให้ข้าราชการประจำเกื้อหนุนช่วยเหลือเกื้อกูล โดยอาศัยช่องโหว่ของระเบียบจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ก็ทุจริตกันแบบดื้อๆ ด้านๆ ด้วยคิดแบบคะนองอำนาจว่ามีผู้คุ้มกัน ผิดอย่างไรก็รอดได้ หรืออีกประการหนึ่ง พ่อค้าสมคบกับข้าราชการประจำ นำเสนอนักการเมืองเพื่ออนุมัติโครงการโดยเฉพาะผลตอบแทนให้

การทุจริตในลักษณะ 3 ประสานนี้ ผู้ที่เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางมากที่สุดก็คือ ข้าราชการประจำเพราะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนนักการเมืองส่วนใหญ่จะสอบไปไม่ค่อยถึง เว้นไว้แต่ว่าข้าราชการประจำจะจำนนต่อหลักฐาน และซัดทอดไปถึง

ส่วนพ่อค้ามีโอกาสหลุดรอดมากกว่าใครอื่น เนื่องจากอยู่นอกระบบเว้นไว้แต่ว่าจะทิ้งหลักฐานเป็นร่องรอยให้สืบค้นได้ หรือไม่ก็ถูกข้าราชการประจำซัดทอดในลักษณะดึงเข้ามาติดร่างแหด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม การทุจริตในลักษณะ 3 ประสานนี้ ในระยะหลังนี้เริ่มจะหนีรอดจากกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น เนื่องจากการโกงกินแนบเนียนขึ้น และซับซ้อนขึ้นยากต่อการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ จะเห็นได้ชัดเจนในกรณีคอร์รัปชันเชิงนโยบายเป็นตัวอย่าง อีกทั้งความเสียหายอันเกิดจากการทุจริตในแต่ละครั้งเพิ่มขึ้นด้วย ดังจะเห็นในกรณีของโครงการรับจำนำข้าวที่มีความเสียหายหลายแสนล้าน และจนบัดนี้ยังไม่รู้ว่าจะนำคนผิดมาลงโทษได้ครบทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีตัวเลขความเสียหายให้เห็น แต่กระบวนการยุติธรรมก็คืบคลานไปอย่างเชื่องช้า ยิ่งถ้าเปรียบกับคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ด้วยแล้ว บอกได้คำเดียวว่าช้ามาก และไม่อยากเชื่อว่าจะจบลงก่อนการเลือกครั้งใหม่นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น