xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ประเมินกำลังใน สนช. วัดใจ “สีเขียว” หนุนรอดโกงข้าว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพื่อไทยเดินเกมเช็กเสียง สนช. ทั้งคดีนิคม-สมศักดิ์ ได้เสียงก้ำกึ่ง แต่กรณี “ยิ่งลักษณ์” คะแนนยังห่าง หลังรู้ผลเดินเกมยิ่งลักษณ์ขอเดินทางไปต่างประเทศก่อนวันเปิดคดี โดยเฉพาะสายทหารที่มีเกินครึ่ง หวั่นใจก่อนหน้านี้ไม่เห็นด้วยกับการถอดถอน วัดใจคนใน สนช.ถอดถอนหรือไม่ มติ 3 ใน 5 ต้องได้เสียง 132 กลางกุมภาพันธ์รู้ผล

การทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นที่จับตาของคนในสังคมเป็นอย่างมาก หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติจัดตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นทั้ง ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ที่ถือว่าเป็นสภาเดียวที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการแก้ปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองกำลังเดินเข้าสู่โหมดของการถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของขั้วอำนาจเก่าจากพรรคเพื่อไทย ปฏิบัติการตรวจสอบฐานเสียงภายใน สนช. เพื่อตอกย้ำความมั่นใจจากฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทยจึงเริ่มต้นขึ้น

ผลของการลงมติในบางเรื่องจากกรณีถอดถอน หากได้มากย่อมเป็นเรื่องดี แต่ถ้าได้น้อยก็เป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญที่จะใช้วางแผนเดินหมากการเมืองต่อไปว่าจะถอยหรือรุกด้วยแนวทางใด

เริ่มต้นที่การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาวาระการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในวันรุ่งขึ้น สนช.พิจารณาวาระเรื่องด่วน การถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ประกอบมาตรา 64 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

ทั้ง 2 กรณีมาในรูปแบบที่เหมือนกัน นั่นคือ การเสนอเอกสารเพิ่มเติมในการแก้ข้อกล่าวหาเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา หลังจากที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวโทษ และส่งเรื่องให้วุฒิสภาดำเนินการถอดถอน ตั้งแต่ก่อนจะมีการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากวุฒิสภามาเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่องการถอดถอนนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.แทน แม้ในช่วงแรกแนวคิดของ สนช.จำนวนไม่น้อยที่จะไม่รับเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา ท่ามกลางความกังขาของคนในประเทศ แต่สุดท้ายก็รับเรื่องการถอดถอนเข้าสู่การพิจารณาในสนช.

หยั่งเสียงคนใน สนช.

ปฏิบัติการทดสอบเสียงของ สนช. จึงเริ่มต้นขึ้นที่กรณีของนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร จากกรณีการขอยื่นหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้ สนช.พิจารณา

บททดสอบแรกคือการที่นายนิคมมีหนังสือถึงประธาน สนช.เพื่อขอคัดค้านการทำหน้าที่ของ สนช. 16 คน ไม่ให้เข้าร่วมกระบวนการถอดถอนครั้งนี้ เนื่องจากเคยเป็นผู้เข้าชื่อร้องถอดถอนนายนิคมออกจากตำแหน่งต่อ ป.ป.ช. และยังมีส่วนร่วมในการพิจารณารัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว. ซึ่งเป็นมูลเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถือว่ามีฐานะเป็นคู่กรณี มีส่วนได้เสีย และมีผลประโยชน์ขัดกันต่อเรื่องที่จะพิจารณา ตกอยู่ในสภาพร้ายแรง อาจจะไม่เป็นกลาง ขัดกับหลักกฎหมายมหาชน และหลักนิติธรรม จึงขอให้ สนช.16 คน งดการเข้าร่วมการพิจารณาถอดถอนในทุกขั้นตอน

บททดสอบนี้ของนายนิคมไม่ผ่าน เนื่องจากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. วินิจฉัยให้ สนช.ทั้ง 16 คน ทำหน้าที่ต่อไปได้

บททดสอบต่อมาในครั้งนี้นายนิคมจะยื่นเพิ่มเติมหลักฐานสำคัญเป็นแผ่นซีดี 2 แผ่น ที่ย่อการประชุม 120 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง เพื่ออธิบายเหตุการณ์ทั้งหมด จะได้รับทราบบรรยากาศการประชุมทั้งหมดและทราบว่าสิ่งที่ร้องกล่าวหาตนนั้นไม่ถูกต้อง

ที่ประชุม สนช.มีมติไม่ให้รับหลักฐานดังกล่าว ด้วยคะแนน 96 ต่อ 82 งดออกเสียง 14 เสียง และได้เห็นชอบให้กำหนดวันแถลงเปิดสำนวนของทั้งสองฝ่ายในวันที่ 8 มกราคม 2558 เวลา 10.00 น.

“มติดังกล่าวในการไม่รับหลักฐานเพิ่มเติมกรณีของนายนิคมนั้นนับว่าเป็นไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์กับนายนิคม เพราะนี่คือการเช็กคะแนนเสียงของ สนช.เป็นครั้งแรก ต่อกรณีการดำเนินการเอาผิดกับขั้วการเมืองของฝั่งพรรคเพื่อไทย” ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองตั้งข้อสังเกต

แม้จะมี 16 เสียงที่มาจากกลุ่ม 40 ส.ว.เดิม อยู่ใน สนช. แต่เมื่อมติไม่รับออกมาที่ 96 เสียง รับ 82 เสียงบวกด้วยงดออกเสียง 14 เสียง ย่อมตีความในทางบวกได้ในระดับหนึ่งว่าเสียงออกมาก้ำกึ่ง เนื่องจากนี่เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ยังมีขั้นตอนต่างๆ อีกทั้งการเข้ามาชี้แจงในวันที่ 8 มกราคม 2558 จนถึงวันลงมติตรงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดตัวแปรต่างๆ ได้
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช
แต้มยิ่งลักษณ์ยังเป็นรอง

เช่นเดียวกับกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ที่ต่อสู้ทั้งในเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับเก่ากับรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใหม่ ที่ สนช.ไม่มีอำนาจถอดถอน แต่เรื่องนี้ก็ตกไปหลังจาก สนช.ยืนยันว่ามีอำนาจถอดถอน โดยทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้ สนช.พิจารณา 72 รายการ

ผลการลงมติของ สนช. แยกได้เป็น 28 รายการแรก ไม่อนุญาตด้วยคะแนน 165-15 เสียง งดออกเสียง 10 ส่วนอีก 44 รายการ รายการที่ 26-30 เรื่องคำสั่งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลรับจำนำข้าว และคำสั่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว ที่ประชุมลงมติไม่อนุญาตด้วยคะแนน 112 ต่อ 63 เอกสารรายการที่ 32-39 และรายการที่ 41-71 ที่ประชุมลงมติไม่อนุญาตด้วยคะแนน 148 ต่อ 31 เสียง

เอกสารที่ยื่นต่อ สนช. 72 รายการแม้จะไม่ได้รับอนุญาต แต่ทีมกฎหมายของนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ได้เห็นทิศทางและเสียงที่เกิดขึ้นใน สนช.ว่าเป็นไปในทิศทางใด

มติของ สนช.ของกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์แม้เสียงจะออกมาค่อนข้างห่าง ไม่เหมือนกรณีของนายนิคม แต่ทุกอย่างต้องไปวัดกันอีกในรอบต่อไป หลังจากที่มีมติเปิดคดีในวันที่ 9 มกราคม 2558

รับเพื่อไทยเดินเกม

“ไม่ว่าทีมทนายความของพรรคเพื่อไทยจะเสมือนมาหยั่งเสียงของ สนช. แล้วจะไปปรับยุทธศาสตร์ในทางคดีอย่างไร แต่สุดท้ายคงต้องรอในวันลงมติว่าจะมีการถอดถอนหรือไม่ หากนับจากวันเปิดคดีคาดว่าน่าจะไม่เกินกลางเดือนกุมภาพันธ์น่าจะมีการลงมติ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรนั้นต้องวัดใจกัน” แหล่งข่าวจาก สนช.กล่าว

เชื่อว่าเสียงในการลงมติไม่รับเอกสารของผู้ถูกกล่าวหานั้น ไม่มีผลผูกพันกับการลงมติในเรื่องการถอดถอน เป็นเรื่องของเทคนิคด้านทนาย แต่คนที่ผ่านกฎหมายมาในระดับนี้มองก็รู้ว่าที่ผ่านมาทนายของพรรคเพื่อไทยต้องการอะไร

ส่วนเรื่องการเปิดคดีของทั้งนายนิคม นายสมศักดิ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น ทาง สนช.เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าการให้ทนายมาชี้แจง แต่ถ้าไม่มาก็ถือเป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละราย เราก็ทำหน้าที่ของเราไปตามกรอบอำนาจที่มี

นอกจากนี้ต้องดูเกมของพรรคเพื่อไทยด้วยว่าจะดำเนินการร้องเพื่อตัดเสียง 16 สนช.ที่เคยยื่นเรื่องถอดถอนในการลงมติในวันนั้นหรือไม่ หากที่ประชุม สนช.เห็นชอบ 16 เสียงนี้ก็จะหายไปหรืออาจจะเป็นการงดออกเสียง ก็เท่ากับต้องไปวัดกันในส่วนที่เหลือว่าจะมีมติออกมาอย่างไร

แต่มติในการถอดถอนนั้นจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ซึ่งจะต้องใช้เสียงใน สนช. 132 เสียงจากสมาชิก 220 ท่าน ตอนนี้ตอบไม่ได้ว่าสัดส่วนจะออกมาอย่างไรคงต้องรอจนถึงวันนั้น
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
วัดใจ “ยิ่งลักษณ์” ไปแล้วกลับ?

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าในปี 2559 มีการเลือกตั้งใหญ่ และตนยังคงมีคุณสมบัติที่จะลงสมัครได้ ตนก็ตั้งใจจะลงเลือกตั้ง” และตามมาด้วยคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยที่ออกมาแจ้งหมายเดินทางไปต่างประเทศของนางสาวยิ่งลักษณ์และเด็กชายศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย ว่ามีกำหนดการเดินทางไปพักผ่อนยังต่างประเทศ หลังวันที่ 8 มกราคม 2558 แน่นอน โดยขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดว่าจะไปประเทศใดบ้าง หลังจากที่ สนช.มีมติเปิดคดีในวันที่ 9 มกราคม 2558

ตรงนี้คงเป็นเรื่องของเจตนาของคุณยิ่งลักษณ์ว่าจะมาแถลงเปิดคดีหรือไม่ เพราะกำหนดวันเดินทางนั้นไม่ระบุชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติแล้วกว่าจะมีการลงมติถอดถอนหรือไม่ ต้องเป็นราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ และหากมีมติถอดถอนแล้ว ผู้นั้นจะถูกเพิกถอนสิทธิในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีมติถอดถอน

ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอำนาจพิจารณาพิพากษา

ดังนั้นคงต้องรอดูกันว่าผลของมติในการถอดถอนในครั้งนี้จะออกมาอย่างไร เพราะเกินกว่าครึ่งใน สนช.มาจากทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะเป็นตัวชี้ชะตาต่อเส้นทางเดินในทางการเมืองของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
มติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นตัวชี้ชะตาทางการเมืองของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สายทหารบางส่วนไม่หนุนถอดถอน

ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าภาพของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงเริ่มต้น มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าจะมีแนวทางในการทำงานอย่างไร สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมไทยหรือเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือไม่

งานแรกคือการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เมื่อ 19 สิงหาคม 2557 ที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนร่วมรับฟังและไม่มีการถ่ายทอดการประชุม ด้วยการอ้างเหตุผลความรวดเร็วในการพิจารณา ด้านหนึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่า สนช.ชุดนี้มีการแต่งตั้งทหารเข้ามามากกว่าครึ่ง ดังนั้นการแก้ปัญหาของประเทศด้านงบประมาณเป็นเรื่องสำคัญและต้องการความรวดเร็ว อีกทั้งยังมีเรื่องของกฎอัยการศึกค้ำอยู่หลายฝ่ายจึงไม่ติดใจนัก

แต่ที่น่าจับตาคือ การร้องขอความคุ้มครองจากศาลปกครองของพลเอกนพดล อินทปัญญา กับพวกรวม 28 คน ต่อกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน โดยระบุว่าตนไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ศาลปกครองได้อ่านคำสั่งให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังเคยมีมติตั้งแต่ปี 2549 ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย

นั่นคือข้อสงสัยจากผู้คนทั่วไปว่าเมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกยึดอำนาจและเข้ามาบริหารประเทศแทนแล้ว บุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ สนช.กลับไม่พร้อมที่จะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้สาธารณชนรับทราบ

นอกจากนี้ สนช.สายทหารจำนวนหนึ่งแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการรับเอาคดีถอดถอนนักการเมืองเข้ามาพิจารณาใน สนช. โดยการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2557 มีวาระพิจารณารายงานและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหานายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับที่มา ส.ว. ว่าเป็นการกระทำที่ส่อจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่

ปรากฏว่าในวันดังกล่าวมี สนช. 43 คน ส่วนใหญ่เป็นสายทหาร ไม่เดินทางมาร่วมประชุมโดยไปร่วมพิธีทอดกฐินที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้มติในการรับเรื่องถอดถอนออกมาที่ 87:75 งดออกเสียง 15 เสียง

เมื่อท่าทีของ สนช.สายทหารบางกลุ่มที่ออกมาในแนวทางนี้ จึงทำให้ สนช.จำนวนหนึ่งเริ่มกังวลว่าในวันที่ต้องมีการลงมติถอดถอนทั้งคดีของนายนิคม ไวยรัชพานิช นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องได้ 3 ใน 5 ของสมาชิก สนช.จึงจะถอดถอนได้นั้น ตัวเลขที่ 132 เสียงจะถึงหรือไม่ หาก สนช.บางส่วนจะลงมติไม่ถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ก็จะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น