xs
xsm
sm
md
lg

สตง.บุรีรัมย์เร่งสอบโกงจัดซื้อโซลาร์เซลล์ พร้อมเรียกเงินคืน-ดำเนินคดีตาม กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือเสาไฟโซล่าเซลล์ฉาวโกง  ที่ติดตั้งตามหมู่บ้าน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ จังหวัดบุรีรัมย์
บุรีรัมย์ - สตง.บุรีรัมย์เร่งตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟโซลาร์เซลล์ฉาวโกงของ อปท.บุรีรัมย์ทั้ง 22 แห่ง เบื้องต้นพบ 4 แห่งจัดซื้อแพงเกินจริง พร้อมชี้หากมีข้อมูลหลักฐานเชื่อได้ว่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐโดยมิชอบจะถูกเรียกเงินคืนและส่งเรื่องดำเนินคดีตามกฎหมาย

วันนี้ (17 พ.ย.) นางทัศศิณา ประไพพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบโครงการจัดซื้อระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือเสาไฟโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งตามหมู่บ้าน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้งบอุดหนุนเฉพาะกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้รับการจัดสรรงบ 31 โครงการ 7 อำเภอ รวม 22 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลค่ากว่า 57 ล้านบาท

ล่าสุด ขณะนี้ทาง สตง.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่แล้ว 4 แห่ง ในเขต อ.โนนสุวรรณ 2 แห่ง ปะคำ 1 แห่ง และ อ.ชำนิ 1 แห่ง ส่วนที่เหลืออีก 18 แห่งคาดว่าจะลงตรวจสอบในเดือนหน้า เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีน้อย ประกอบกับต้องทำการตรวจสอบอย่างละเอียด ทั้งเอกสารและวัสดุอุปกรณ์ที่จัดซื้อ

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ตรวจสอบทั้ง 4 แห่ง พบว่าไม่มีตรวจสอบราคากลาง ทั้งจัดซื้อในราคาที่สูงเกินความเป็นจริงเฉลี่ยชุดละกว่า 100,000-114,000 บาท โดยแต่ละแห่งจัดซื้อทั้งหมด 17 ชุด ซึ่งขณะนี้ได้ให้ทั้ง 4 แห่งทำเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับการจัดซื้อภายใน 60 วัน แต่หากทาง สตง.ตรวจสอบแล้วไม่มีเหตุมีผลก็จะทำหนังสือยืนยันข้อทักท้วงเดิมไปให้ทางท้องถิ่นดำเนินการตามข้อเสนอแนะ อย่างเช่นให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง และหากผลการตรวจสอบพบมีข้อมูลหลักฐานอันเชื่อได้ว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐโดยมิชอบก็จะดำเนินการเรียกเงินคืน

พร้อมจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งความดำเนินคดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ตามกฎหมายด้วย

นางทัศศิณากล่าวอีกว่า ขอฝากถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ว่า การบริหารงานหรือการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแม้จะเป็นอิสระ แต่ต้องอยู่ภายในระเบียบกฎหมาย ซึ่งหลายแห่งบอกว่าไม่ได้นำไปใช้ส่วนตัวทำเพื่อท้องถิ่น แต่ต้องดูด้วยว่ากฎหมายกำหนดให้ใช้งบประมาณได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่ผ่านมาเท่าที่ตรวจสอบพบส่วนใหญ่จะมีการใช้จ่ายงบประมาณเกินความจำเป็น ฟุ่มเฟือย และที่สำคัญประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์กลับเป็นแค่บุคคลบางกลุ่มเท่านั้น

“ดังนั้น จึงอยากให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าใจถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ของตัวเอง และใคร่ครวญไตร่ตรองในการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนส่วนรวมด้วย” นางทัศศิณากล่าวในตอนท้าย

นางทัศศิณา ประไพพันธ์ ผอ.สตง. จ.บุรีรัมย์

กำลังโหลดความคิดเห็น