ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามผู้สมัคร ส.ส.เบื้องต้น 17 ข้อ พบใครถูกศาลสั่งลงโทษคดีร่ำรวยผิดปกติ ทุจริต ประพฤติมิชอบ โกงเลือกตั้ง ถูกศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาพ้นจากตำแหน่ง หมดสิทธิลงเลือกตั้ง ส่วนใครเคยถูกมติพรรคขับออก ให้ลาออกแล้วไปหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วัน เปิดทาง “ยิ่งลักษณ์” ให้ กกต.วินิจฉัย ถ้าไม่ผ่านไปต่อศาลฎีกาได้
วันนี้ (30 พ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 15.00 น. นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญว่า ในการประชุม กรธ.เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้พิจารณาในส่วนของการกำหนดลักษณะและคุณสมบัติต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งเบื้องต้นมีรายละเอียด 17 ข้อ ได้แก่ 1. ติดยาเสพติดให้โทษ 2. เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 3. เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามมาตรา ... 4. ถูกหรือเคยถูกสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5. ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล 6. เคยได้รับโทษจำคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ 7. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติชอบในวงราชการ 8. ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ 9. ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือกระทำความผิด ฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 10. ต้องหรือเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม
11. ต้องหรือเคยต้องคำวินิจฉัยหรือคำพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา หรือศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้พ้นจากตำแหน่ง 12. เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง 13. เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 14. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดแล้วไม่เกิน 2 ปี 15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 16. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 17. อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ส่วนของการพ้นจากตำแหน่งของ ส.ส. ในกรณีที่พรรคการเมืองมีมติ 3 ใน 4 ให้พ้นจากสมาชิพรรค สามารถให้ ส.ส. คนดังกล่าวลาออกจากพรรค แล้วไปสมัครหาพรรคสังกัดใหม่ ภายใน 30 วัน นอกจากนี้ในส่วนกรณีนักการเมืองที่ถูกสภานิติบัญญัติอแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอน โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไม่มีกระบวนการเรื่อง “การถอดถอน” แต่จะใช้คำว่า “พ้นจากตำแหน่ง” แทน ดังนั้นนักการเมืองที่เคยถูก สนช.ถอดถอน หากจะไปสมัคร ส.ส. ต้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติ หาก กกต.วินิจฉัยว่าไม่ผ่านคุณสมบัติ ก็มีสิทธิส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดให้มีผลเป็นที่สิ้นสุด
โฆษก กรธ.กล่าวต่อว่า สำหรับการไปยกร่างรัฐธรรมนูญนอกสถานที่ของ กรธ. ในระหว่างวันที่ 11-17 ม.ค. 59 ได้ข้อสรุปแล้วคือที่ โรงแรมอิมพีเรียล เลควิว แอนด์ กอล์ฟคลับ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ถูกที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอน กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ด้วยคะแนนเสียง 190 ต่อ 18 เสียง เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา หากเป็นไปตามที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนด สามารถใช้ช่องทาง กกต. ตรวจสอบคุณสมบัติ และให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติได้