โฆษกรัฐบาลเผย “ประยุทธ์” สั่ง “วิษณุ” ตามคดีฟ้องรัฐที่มีวงเงินสูง เหตุเกี่ยวพันงบหลวง ย้ำหน่วยราชการตามเรื่อง ย้ำไม่มีทางเลือกต้องใช้อำนาจปกครองฟ้อง “ปู” ครม.เห็นชอบระเบียบป้องกัน ขรก.เอี่ยวค้ามนุษย์ ลั่นต้องพัฒนาให้เป็นสากล ปรับเพิ่มค่าช่วยเหลือประมงที่ออกหาปลาไม่ได้ ให้สอดคล้องความจริง
วันนี้ (13 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ติดตามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับฟ้องร้องคดีความระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัททั้งในและต่างประเทศ กับข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ทั้งที่เป็นโจทก์และจำเลย ที่มีวงเงินฟ้องร้องสูงเป็นหลักพันล้านหมื่นล้าน เพราะเกี่ยวพันกับงบประมาณหลวงทั้งสิ้น ที่สำคัญคือคดีความเกิดขึ้นก่อน 22 พ.ค. 2557 การติดตามคดีไม่ว่าจะเป็นผลกรรม อานิสงส์จะตกอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องติดตามความคืบหน้าคดี
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า สิ่งสำคัญนายกฯ ยังสั่งการทุกหน่วยราชการที่เป็นเจ้าของเรื่องจะต้องติดตามเรื่องของตัวเอง รวมถึงคดีจำนำข้าวที่มีปัญหาเรื่องทำจดหมายเปิดผนึก นายวิษณุได้ชี้แจงให้ ครม.รับทราบอีกครั้งหนึ่งว่าคดีนี้ไม่มีใครกล่าวหาว่าทุจริต แต่อดีตนายกฯ ถูกกล่าวหาว่าละเลยไม่ตรวจสอบแก้ไขการทุจริตเมื่อมีการแจ้งมาถ้าจงใจให้เกิดขึ้นก็ต้องใช้อำนาจทางการปกครองเรียกค่าเสียหายภายในอายุความ 2 ปี หากเลยอายุความจะใช้อำนาจทางบริหารสั่งชดเชยไม่ได้ จึงมีวิธีเดียว ถ้าไม่ทำจะเสียโอกาสปกป้องผลประโยชน์ชาติ และละเลยการปฏิบัติหน้าที่ นายกฯเน้นย้ำว่าทุกเป็นตามขั้นตอนกฎหมาย ไม่ได้ลุแก่อำนาจ หรือใช้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัด
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ครม.เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ มีสาระสำคัญคือกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานของรัฐต้องรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ของตัวเองได้รับทราบว่าลักษณะใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และมีความผิดและโทษทางอาญาอย่างไร มีมาตรการที่จะดำเนินการทางทรัพย์สินอย่างไร และมีมาตรการดำเนินการวินัยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไร 2. กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 1 คณะ ในการป้องกันเจ้าหน้ารัฐไม่ให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ มีหน้าที่เสนอแนะต่อนายกฯที่จะออกประกาศ กำหนดแนวทางปฏิบัติ พิจารณา วินิจฉัย ชี้ขาดปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องต่างๆ สอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้น 3.การกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ใดก็ตามที่มีส่วนในการสนับสนุน ช่วยเหลือ จัดหา ให้ทรัพย์สิน หรือเป็นธุระให้ถือว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ สืบเนื่องจากเรามีแผนดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมาตลอด ไม่ได้กังวลต่อการตรวจทริปรีพอร์ตอย่างเดียว แต่ต้องการพัฒนาให้เป็นสากล ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาว่ามีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในเรื่องค้ามนุษย์อยู่บ่อยครั้ง และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงมติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 กรณีมาตราการช่วยเหลือระยะสั้น ชาวประมงที่ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ โดยคำนวณจากค่าแรงคนงาน ค่าที่จอดเรือ ค่าครองชีพ และค่าเสียโอกาส เป็นต้น เนื่องจากทบทวนแล้วบางกรณีไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จากเดิมมีค่าแรงคนงานเฉลี่ย 300 บาทต่อวันต่อคน ค่าอาหารลูกเรือ 70 บาทต่อคนต่อวัน ค่าเช่าที่จอดเรือและค่าไฟ 200 บาทต่อลำต่อวัน ค่าครองชีพและค่าเสียโอกาส 500 บาทต่อคนต่อวัน โดยคำสั่งใหม่นั้นมีการตัดค่าลูกเรือวันละ 70 บาทต่อคนออกไป
ทั้งนี้ ชาวประมงที่ไม่สามารถออกเรือหาปลา แบ่งเป็น กลุ่มที่มีเอกสารไม่ครบตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 10/58 ลงวันที่ 29 เม.ย. 58 จำนวน 4,012 ลำ โดยช่วยเหลือไม่เกิน 20 วัน ใช้ค่าใช้จ่าย 180,593,500 บาท กลุ่มที่เอกสารครบ แต่ไม่สามารถทำประมงได้ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/58 ลงวันที่ 5 ส.ค. 58 โดยกลุ่มนี้แบ่งเป็น กลุ่มที่อาชญาบัตรถูกต้องจำนวน 330 ลำ โพงพาง 4 ราย ระยะเวลาช่วยเหลือ 53 วัน เป็นเงิน 47,922,600 บาท และ สุดท้ายกลุ่มที่มีเอกสารไม่ครบและไม่ถูกต้อง โดยจะช่วยเหลือถึงวันที่ 30 ก.ย. 58 จำนวน 2,658 ลำ