ป.ป.ช.แจงรายละเอียด 7 คดี ข้อกล่าวหาร้องเรียนนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี-ข้าราชการ-พนักงานรัฐวิสาหกิจ เดือน พ.ค.-มิ.ย. ยกคดี “ยิ่งลักษณ์” ถูกกล่าวหาเพิกเฉย ตั้งปลัด กห.ไม่มีมูลให้ตกไป ส่วน “พล.อ.อ.สุกำพล” ไม่ผิดอาญา แต่ส่งประธาน สนช.เข้ากระบวนการถอดถอน พร้อมชี้มูลผิดอาญาคดี “ประชา ประสพดี” ใช้อำนาจหน้าที่ รมช.มหาดไทย แทรกแซงบอร์ดองค์การตลาดคดีทุจริต “อดีต ผอ.” พร้อมชี้มูลอดีต ผอ.นวัตกรรมแห่งชาติ ผิดอาญา ลอกผลงานวิจัยเป็นวิทยานิพนธ์ของตัวเอง - ฟัน “5 ขรก.สวทช.-เอกชน” ฮั้ว! ขายพัสดุสำนักงานเข้ากระเป๋าตัวเอง แถมนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้สำนักงานฯ เช่า อีกคดีฟันวินัย-อาญา ผจก.ออมสิน-ฝ่ายสินเชื่อ สาขาปากคลองตลาดใช้หลักฐานปลอมกู้เท็จ สุดท้ายฟันอาญา “ขรก.สวนรุกขชาติเพ-สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ” เบิกค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวเป็นเท็จ
วันนี้ (23 มิ.ย.) มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันปละปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ ความคืบหน้าเรื่องกล่าวหาร้องเรียนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ในรอบเดือน พ.ค.- มิ.ย. 2559 พบว่า มีเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด หรือให้ข้อกล่าวหาตกไป และสำนักงาน ป.ป.ช.ได้รายงานให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบว่าได้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัย และหรือไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาแล้ว รวม 7 คดีดังนี้
คดีที่ 1 ร้องเรียนกล่าวหา (1) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าเพิกเฉยไม่ดำเนินการไต่สวนกรณีมีหนังสือร้องทุกข์ของปลัดกระทรวงกลาโหมและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ทั้งที่ทราบดีว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงกลาโหม (2) พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล และออกคำสั่งให้นายทหารชั้นนายพลไปช่วยปฏิบัติราชการโดยมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า
“1.1 กรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำการตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
1.2 กรณี พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
(1) ประเด็นก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมโดยมิชอบ ฟังได้ว่าพฤติการณ์ของ พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต ที่ได้เสนอชื่อบุคคลที่ตนเองเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหมพิจารณา เป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและการบรรจุแต่งตั้ง โยกย้าย โอนเลื่อนตำแหน่งและเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองของกระทรวงกลาโหม เพื่อประโยชน์ของตนเองของผู้อื่นหรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมซึ่งขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) และ (2) และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมืองพ.ศ.2551 ข้อ 15 การกระทำดังกล่าวจึงมีมูลเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่เป็นเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 58 และมาตรา 64 จึงให้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับในส่วนของความผิดทางอาญายังฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบหรือโดยทุจริต หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ ข้อกล่าวหาทางอาญาจึงไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
(2) ประเด็นออกคำสั่งให้นายทหารชั้นนายพลไปช่วยปฏิบัติราชการโดยมิชอบ ยังฟังไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป
มีรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ตามข้อบังคับเมื่อประธานสภา ได้รับรายงานจาก ป.ป.ช.ว่ามีมติชี้มูลกล่าวหาผู้ใดต้อง นัดประชุมนัดแรก ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานจาก ป.ป.ช. ซึ่งป.ป.ช.ได้ส่งรายงานและความเห็นถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. จะครบ 30 วัน ในวันที่ 12 ก.ค. ดังนั้นจึงกำหนดประชุมนัดแรก เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีของป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหา และการขอเพิ่มพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 7 ก.ค.นี้”
คดีที่ 2 ร้องเรียนกล่าวหา นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรี ก้าวก่ายแทรกแซงการดำเนินงานของคณะกรรมการองค์การตลาด (อต.) ที่พิจารณาเรื่องการทุจริตของอดีตผู้อำนวยการองค์การตลาด เพื่อช่วยเหลืออดีตผู้อำนวยการองค์การตลาด ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า นายประชามีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 (1)
มีรางานว่า คดีนี้นายประชา ประสพดี อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการดำเนินงานของคณะกรรมการองค์การตลาดที่กำลังพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตของนายธีธัช สุขสะอาด อดีตผู้อำนวยการองค์การตลาด โดย ป.ป.ช.ได้ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการถอดถอน ส่วนความผิดในคดีอาญา ได้ส่งไปให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาเพื่อส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คดีที่ 3 ร้องเรียนกล่าวหา นายศุภชัย หล่อโลหการ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ว่านำผลงานวิจัยของบุคคลอื่นไปพิมพ์จำหน่ายในนามของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต และใช้งบประมาณของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจัดจ้างผู้รับจ้างทำการวิจัย เพื่อนำไปคัดลอกเป็นวิทยานิพนธ์ของตน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า นายศุภชัยมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 (2) มาตรา 9 (3) และมาตรา 11 (4) มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
สำหรับคดีนี้ มีรายงานว่า นายวิลเลียม วิน แอลลิส ได้ร้องเรียนสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ป.ป.ช. ถึงพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของนายศุภชัย มีการร้องเรียนและสอบสวนกันมายาวนานเกือบ 5 ปี กรณีการลอกเลียนผลงานในการทำวิทยานิพนธ์ ต่อมามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีการเพิกถอนปริญญาบัตรนายศุภชัย
ขณะที่ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ข้อยุติ 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การตั้งงบประมาณเพื่อโครงการนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหัวข้อเดียวกันกับดุษฎีนิพนธ์ของนายศุภชัย ซึ่งเป็นงบของ สนช. คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าการที่นายศุภชัยนำผลงานที่เกิดจากเงินอุดหนุนของ สนช. ไปใช้ประโยชน์ในการทำดุษฎีนิพนธ์ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนตนอาจเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม
2. การให้รางวัลเมธีนวัตกรรม 3 ปีซ้อนแก่อาจารย์ที่ปรึกษา คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า สนช.มีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือก และมีผู้เชี่ยวชาญอื่นอีกหลายรายที่ได้รับรางวัล 3 ปีซ้อน จึงเห็นว่าเรื่องนี้นายศุภชัยไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่อาจารย์ที่ปรึกษาของตนโดยมิชอบ
3. การไม่ได้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก โดยไม่ได้ขออนุญาตอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการ สนช. หรือปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะผู้อำนวยการ สนช. ในขณะนั้น ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริหารระดับสูง ย่อมถือเป็นการกระทำอันไม่เหมาะสม
4. การปลอมแปลงเอกสารสัญญาว่าจ้างนายวิลเลียม วิน แอลลิส เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินคดี คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรรอฟังผลการพิจารณาคดีที่นายวิลเลียมได้ฟ้องนายศุภชัยและศาลแขวงพระนครใต้ (คำพิพากษาเมื่อ 8 สิงหาคม 2555) และคณะกรรมการสอบสวนฯระบุว่าในคดีนี้นายศุภชัยให้การว่าได้ทำลายสัญญาว่าจ้าง 6 ฉบับที่คู่สัญญาและพยานได้ลงนามและทำสัญญาขึ้นใหม่ ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เหมาะสม
5. กรณีที่มีข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับผลการสอบข้อเท็จจริงของจุฬาฯ ที่เพิกถอนปริญญาเอกของนายศุภชัย หากมีการเพิกถอนแล้ว สมควรดำเนินการทางวินัยแก่นายศุภชัยตามระเบียบ สนช. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เห็นชอบตามความเห็นคณะกรรมการฯ และมอบให้คณะกรรมการ สนช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย แต่คณะกรรมการ สนช.มีข้อสรุป (5 สิงหาคม 2554) ว่าเรื่องร้องเรียนของนายวิลเลียมเกิดขึ้นก่อนที่คณะกรรมการ สนช.ชุดปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งจึงไม่อาจก้าวล่วงในเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนได้ และเห็นควรให้ข้อร้องเรียนเป็นไปตามกระบวนการพิจารณาของศาล
คดีที่ 4 “ร้องเรียนกล่าวหา (1) นายพอพนธ์ สิชฌนุกฤษฏ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (2) นางสาวเจียมจิต ชัยสิทธิ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ไฮเทคโปร อีควิปเมนท์ จำกัด (3) นางสาวธัญพร ไม้พุ่ม เจ้าหน้าที่พัสดุ ๑ สังกัดสถาบันเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(4) นางถนอมใจ พฤกษ์เสถียร ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ธนรุ่งเรืองกิจ ซัพพลาย จำกัด ว่าเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไฮเทคโปร อีควิปเมนท์ จำกัด ในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง, ขายเศษ Sputtering target ชนิด Silver ซึ่งเป็นพัสดุของสำนักงาน เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ และนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้สำนักงานฯ เช่า
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า (1) นายพอพนธ์ฯ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 (5) และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และมาตรา 91
(2) นางสาวเจียมจิตฯ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนนายพอพนธ์ฯ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 (6)
(3) นางสาวธัญพรฯ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้นและฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 9 และมาตรา 11
(4) นางถนอมใจฯ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนนางสาวธัญพรฯ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 9 และมาตรา 11ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86”
คดีที่ 5 ร้องเรียนกล่าวหา (1) นายสุรศักดิ์ ธีระเมธี ผู้จัดการสาขา ธนาคารออมสิน สาขาปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร (2) นายนิวัตร์ เทียนอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการสาขา ธนาคารออมสิน ในฐานะคณะกรรมการสินเชื่อสาขา (3) นายจิตรภาณุ หรือทศพร วงศ์สรรพ์ ตำแหน่งสินเชื่อในฐานะคณะกรรมการสินเชื่อสาขา (4) นายวสิษฐ์พล กาญจนนุกูลศิริ พนักงานสินเชื่อในฐานะคณะกรรมการสินเชื่อสาขา ว่าอนุมัติสินเชื่อให้ผู้กู้ที่ขาดคุณสมบัติ โดยใช้หลักฐานปลอมและทำหลักฐานประกอบคำขอกู้เป็นเท็จ
“คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า (1) นายสุรศักดิ์ฯ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
(2) นายนิวัตร์ เทียนอุดม (3) นายจิตรภาณุฯ และ (4) นายวสิษฐ์พลฯ มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง”
คดีที่ 6 “ร้องเรียนกล่าวหา (1) นายเทียนชัย จันทร์แปลง หัวหน้าสวนรุกขชาติเพ จ.ระยอง (2) นายบุญยืน ชื่นชมกลิ่น ผู้ช่วยหัวหน้าสวนรุกขชาติเพ จ.ระยอง (3) นายราชันต์ พริบไหว เจ้าพนักงานป่าไม้ ๕ หัวหน้า สวนป่าห้วยมะหาด-เขานั่งยอง จ.ระยอง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ว่าเบิกจ่ายเงินค่าจ้าง ของลูกจ้างชั่วคราวรายวันเป็นเท็จ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า (1) นายเทียนชัยฯ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (7) มาตรา 157(8) มาตรา 161 (9) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 (2) นายบุญยืนฯ และ (3) นายราชันต์ฯ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิด ทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157”
คดีที่ 7 “ร้องเรียนกล่าวหา (1) นายเสงี่ยม แจ่มจำรูญ นักวิชาการเกษตร ๕ สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ จ.ตาก (2) นายไพโรจน์ ตันยา เจ้าพนักงานการเกษตร ๖ สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ จ.ตาก ว่าจัดทำเอกสารเบิกเงินค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวันเป็นเท็จ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า (1) นายเสงี่ยมฯ และ (2) นายไพโรจน์ฯ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147”