xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก กรธ.ห่วงวุฒิสภาเลือกตั้งจะไม่ได้คนสุจริต 100% - “วันชัย” ย้ำจัดสภาผสมเลือกนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับยังไม่ได้ข้อสรุปจำนวน ส.ว. 200 คนหรือไม่ ชี้ มีทางเลือกหลากหลาย แต่เลือกตั้งโดยตรงห่วงจะไม่ได้คนสุจริต 100% ระบุต้องศึกษาให้ถี่ถ้วนถ้าให้ถอดถอนได้จะมีปัญหาหรือไม่ กำลังดูให้องค์กรอิสระฟันแทน พร้อมคิดให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองดีหรือไม่ ด้านโฆษก กมธ. ปฏิรูปการเมือง ไม่ติดใจ กรธ. บอกถ้าเลือกตั้งสุจริตมันจะดีเอง ย้ำข้อเสนอ ส.ส. 300 ผนวก 200 ส.ว. รวมเป็นรัฐสภาเลือกนายกฯ ประคองชาติ 4 ปี

วันนี้ (22 พ.ย.) นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ. ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องจำนวนของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.จะมีจำนวน 200 คนหรือไม่ โดยมีทางเลือกในหลายรูปแบบ อาทิ ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม หรือทางตรง พร้อมทั้งมองว่าหากจะให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงแล้วก็ห่วงว่าจะไม่ได้คนที่สุจริตและเที่ยงธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน กรธ. ได้มองถึงประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของ ส.ว. ว่า เดิมที ส.ว. เป็นสภาพี่เลี้ยง ไม่ได้มีหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้ กรธ. ต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วนว่าหากให้ ส.ว. ทำหน้าที่ถอดถอนนักการเมืองเช่นเดิมจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะหาก ส.ว. มาจากการเลือกตั้งก็อาจมาจากกลุ่มก้อนเดียวกับนักการเมืองได้ โดยกำลังทบทวนบทบาทของ ส.ว. ทำให้เบื้องต้น กรธ. จึงมองว่าหากให้องค์กรอิสระเข้ามาทำหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะมาชี้ขาดในเรื่องคุณสมบัติก็อาจต้องมีกฎหมายด้วย หรือให้องค์กรอิสระองค์กรใดมาทำหน้าที่ชี้ขาดการพ้นตำแหน่งทางการเมืองนั้น ๆ อีกทั้ง กรธ. ก็ได้หารือกันว่าจะดีหรือไม่หากให้ศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่การได้มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเข้มขึ้นกว่าเดิม แต่ถ้ามีผู้เสนอมาว่าจะให้องค์กรใดทำหน้าที่ถอดถอนนักการเมืองก็ให้เสนอเข้ามาที่ กรธ. ได้

นายอมร กล่าวว่า ส่วนความเห็นความห่วงใยของนักการเมืองที่เสนอข้อทักท้วงให้ กรธ. คิดให้รอบคอบในเรื่องอำนาจหน้าที่ถอดถอนของ ส.ว. นั้น ทาง กรธ. ก็พร้อมรับฟังและนำทุกประเด็นไปแก้ไข ให้สอดคล้องกับหลักการที่วางไว้ เพื่อให้ประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง

ด้าน นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า โดยส่วนตัวไม่ติดใจที่ กรธ. หรือข้อเสนอของคนอื่น ๆ ที่จะกำหนดให้ ส.ส. ส.ว. และที่มาของนายกฯจะมาอย่างไร ด้วยวิธีใดและจำนวนเท่าใด เพราะนั่นไม่ใช่ตัวชี้ขาดว่าการเมืองจะดีหรือไม่ จะมั่นคงหรือไม่ แต่หัวใจที่สำคัญมันอยู่ที่การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม ถ้าการเลือกตั้งมันดีเสียแล้วทั้ง ส.ส. ส.ว. และนายกฯ มันก็จะดีเอง รวมทั้งบ้านเมืองก็จะดีไปด้วย

ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ต้องร่างให้มีกลไก วิธีการและมาตรการต่าง ๆ ในการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมให้จงได้ ทั้งบทกำหนดโทษและการลงโทษต้องรวดเร็วทันใจเห็นผลที่ทุกคนรู้แล้วจะไม่กล้าทำอีกต่อไป รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายต้องได้ผลอย่างชะงัด กกต. และราชการทหาร ตำรวจ ต้องมีส่วนอย่างสำคัญในการร่วมกันจัดการเลือกตั้งให้สุจริตในครั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ให้เป็นแบบอย่างในครั้งต่อๆไปให้ได้

นอกจากนี้ นายวันชัย ยังกล่าวอีกว่า กรธ. จะร่างรัฐธรรมนูญแบบไหนอย่างไร หรือใครจะเสนอแนวทางอย่างไรก็แล้วแต่ ส่วนตัวผมเห็นว่าช่วงที่จะเปลี่ยนผ่านส่งมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ว่า กรธ. จะต้องคำนึงถึงประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสังคมไทยในระยะที่จะเปลี่ยนผ่าน คือ ต้องให้เกิดความสมดุล 3 ประการของความมั่นคง ระหว่างการเมือง ความสงบเรียบร้อย และความรักความสามัคคีของคนในชาติ

นายวันชัย กล่าวว่า บทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจึงมีความสำคัญมาก จะให้บ้านเมืองมีการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ก็มีแนวโน้มว่าจะกลับไปเป็นแบบเดิม จะเผด็จการแบบนี้ก็จะมีปัญหาทั้งภายในและภายนอก อันมีผลกระทบต่อความแตกแยกแตกสามัคคีของคนในชาติ ดังนั้น กรธ. ต้องออกแบบในระยะเลือกตั้งสี่ปีแรกให้เหมาะสม สมดุลทั้งการเมือง ความมั่นคง และการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างที่ผมเคยเสนอให้มี ส.ส. จากการเลือกตั้ง 300 คน ให้มีการสรรหา ส.ว. อย่างมีประสิทธิภาพจากกลุ่มสาขาอาชีพและพลังทางสังคม 200 คน ร่วมกันเป็นรัฐสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกันประคับประคองประชาธิปไตยให้บ้านเมืองผ่านไปด้วยความเรียบร้อยในระยะสี่ปีแรก ช่วยกันวางรากฐานให้กับการเมืองส่งต่อให้กับการเลือกตั้งในครั้งต่อ ๆ ไป นี่แหละก็จะเกิดความสมดุลทั้งภาคประชาชน และความมั่นคง


กำลังโหลดความคิดเห็น